ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    012391 ระบบการศึกษานงนุช (วัยรุ่นไม่เข้าใจ)10 พฤศจิกายน 2547

    คำถาม
    ระบบการศึกษา
    หนูงงมากๆกับคำตอบ 00568 เกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย และแนวนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยของรํฐ ขอแยกเป็นข้อๆดังนี้คะ 1. หนูเห็นด้วยที่ท่านบอกว่าสภามหาวิทยาลัยปัจจุบันประกอบไปด้วยผู้ทำงานในมหาวิทยา ลัยเป็นจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารตั้งแต่อธิการ, รองอธิการ, คณบดี, ผู้นวยการต่างๆนั่งอยู่มาก ก็จะกำกับการบริหารลำบาก ตรวจสอบลำบาก ส่วนใหญ่ก็จะชงเองกินเอง ตัดสินเองเป็นส่วนใหญ่ แล้วจะสามารถปฏิรูปให้ดีได้อย่างไรคะ ถ้าทำได้ดีจริง แล้วจะไปกลัวใครเขามาตรวจสอบ ทุกอย่างมีความโปร่งใส อธิบายได้ หนูเห็นว่าควรไล่ผู้ทำงานในมหาวิทยาลัยออกจากสภาให้หมด จะได้ตรวจสอบได้อย่างจริงจัง เลิกชงเองกินเอง ใช้จ่ายกันได้อย่างคล่องมือ อย่างที่ท่านกรุณาให้คำตอบมานั่นนะคะ 2. กฏหมายการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ที่เพิ่งออกมา มีความก้าวหน้ากว่าร่างกฏหมายของมหาวิทยาลัยเยอะอย่างไม่เห็นฝุ่น ร่างกฏหมายออกนอกระบบที่จริงหมดความหมาย เพราะอาศัยกฏหมายเดิมของมหาวิทยาลัย บวกกับ กฏหมายบริหารงานบุคคลของ กพอ. อันใหม่ มหาวิทยาลัยก็สามารถทำงานได้คล่องตัวแล้ว บวกกับความจำเป็นที่จะเรียนรู้หรือพึ่งต้นแบบจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็หมดไป ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่ถอนร่างกฏหมายที่ล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์นี้ทิ้งไปเสีย จะได้ไม่ต้องมีกฏหมายเยอะแยะไปหมด แล้วใช้ประโยฃน์อันใดไม่ได้คะ หนูงงมาก
    คำตอบ
    1. แล้วใครจะไปไล่ท่านออกได้เล่า ในเมื่อท่านมาตามที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ ในร่างกฎหมายใหม่ของแต่ละมหาวิทยาลัยที่กำลังจะออกนอกระบบ บางมหาวิทยาลัย ก็เข้าใจว่าสภามหาวิทยาลัยควรประกอบด้วยคนนอกมากกว่าคนใน หากจะมีคนใน ก็เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อผู้ทรงคุณวูฒิจากภายนอกจะได้อาศัยรู้ความเป็นไปภายในมหาวิทยาลัยได้ แต่บางมหาวิทยาลัยก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกฎหมายของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น กว่าจะสำเร็จออกมาได้ ต้องผ่านขั้นตอนมากมายหลายชั้น ที่สำคัญบรรดาคณาจารย์ทั้งหลายนั่นเองแหละเป็นผู้เข้ามามีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดโครงสร้างต่าง ๆ ร่างของแต่ละมหาวิทยาลัยจึงเกิดจากการผสมผสานระหว่างแนวคิดใหม่กับแนวคิดเก่า ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยต้องทำกันแล้วทำกันอีก ใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นร่างส่งให้รัฐบาลได้ ที่ต้องทำซ้ำไปซ้ำมา ก็เพราะเมื่อทำเสร็จแล้วปิดประกาศให้อ่าน หรือส่งให้อ่าน ก็มักจะไม่ค่อยอ่านกัน พอเวลาผ่านไป ก็จะก่อตัวแล้วก็ทักท้วงว่ายังไม่รู้เรื่องรายละเอียด ก็ต้องทำกันใหม่ ในที่สุดบางทีต้องใช้วิธีจัดพิมพ์เท่าจำนวนบุคคลากร ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือคนงาน ให้มาเซ็นชื่อรับไปให้หมด พร้อมทั้งให้เวลาพอสมควรว่าเมื่ออ่านแล้ว หากมีอะไรจะทักท้วงหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ให้บอกมา จะได้ปรับปรุงแก้ไขกันใหม่ เมื่อไม่มีใครว่าอะไรจึงจะเดินหน้าต่อไป แต่เมื่อทำถึงขั้นนี้แล้ว บางมหาวิทยาลัยยังมีคนออกมาบอกว่าไม่ได้เห็นด้วย มาเริ่มต้นสอบถามความเห็นกันใหม่ก็ยังมี ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาก็ยังพอทำเนา เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนิสิตนักศึกษาที่เคยรู้เรื่องก็ล้วนจบกันออกไปแล้ว เพราะได้เริ่มทำกันมาตั้ง 5 - 6 ปีแล้ว แต่ผู้เป็นอาจารย์นั้น ก็ยังเห็นหน้ากันอยู่แท้ ๆ ไหงมาเป็นอย่างนี้ได้ก็ไม่รู้เหมือนกัน 2. ที่ถามว่า ถ้าร่างไม่ทันสมัยแล้ว ทำไมไม่ถอนออกมา นั้น ถ้าคุณเป็นวัยรุ่นที่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ก็คงพอทำเนา แต่ถ้าเป็นอาจารย์ ก็เห็นจะลำบากหน่อย ตรงที่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ช่างน้อยเกินไป แล้วจะไปสอนนิสิตนักศึกษาได้อย่างไร การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อแรกเริ่มรัฐบาลท่านก็กำหนดมาตายตัวว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องออกนอกระบบภายในเวลา 2 - 3 ปี ซึ่งท่านก็ค่อนข้างจะใจดีไม่บีบบังคับเรื่องสาระของกฎหมาย ให้แต่ละมหาวิทยาลัยไปคิดอ่านออกกฎหมายของแต่ละมหาวิทยาลัยกันเอง ถ้ามหาวิทยาลัยขืนรีรอ ก็เกรงว่าเมื่อถึงเวลาท่านจะออกกฎหมายกลางมาฉบับหนึ่ง แล้วก็ยกเลิกกฎหมายเดิมของมหาวิทยาลัยเสีย ก็จะเดือดร้อนกันใหญ่ มหาวิทยาลัยทั้งหลายจึงรีบเร่งลงมือร่างกฎหมายของตนขึ้น ตามความถนัดและตามวิสัยทัศน์ของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้เร็วตามกำหนดเวลา ด้วยมีข้อจำกัดอย่างที่กล่าวมาในข้อ ๑ เมื่อทำร่างกันเสร็จเป็นที่พอใจกันในขณะนั้น (ซึ่งก็คงต้องยอมรับความจริงกันว่า สภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรอื่น ๆ ไม่มีใครพอใจเต็มร้อย เพราะมีความหวาดระแวงแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน แต่เมื่อผสมผสานแล้ว ก็อยู่ในขั้นที่พอยอมรับกันได้ จึงสามารถเดินหน้าต่อไปได้) ก็ต้องส่งไปให้ทบวงเพื่อดำเนินการต่อไป เมื่อทบวงได้รับเรื่องจึงต้องส่งไปให้รัฐบาลเพื่อรับหลักการ แล้วส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจพิจารณา ในระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาลก็มีนโยบายในบางเรื่องบางราวที่สั่งให้กฤษฎีกาแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว เสร็จแล้วรัฐบาลจึงส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร นับแต่วันที่รัฐบาลส่งร่างไปยังสภาผู้แทนราษฎร ร่างนั้นก็พ้นวิสัยของมหาวิทยาลัยที่จะทำอะไรได้อีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร เพราะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้เสนอ เป็นผู้ปกป้อง และดำเนินการต่อไป สภาจะรับหรือไม่รับหลักการก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ครั้นเมื่อสภารับหลักการแล้ว การแก้ไขในรายละเอียดก็กลายเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการของสภา การเสนอกฎหมายต่อสภานั้น ไม่ใช่เหมือนกับเด็ก ๆ ก่อเจดีย์ทราย ที่นึกจะก่อให้เป็นรูปร่างอย่างไรก็อยู่ที่คนก่อ ไม่พอใจจะทุบทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้ พอใจขึ้นมาจะก่อใหม่ก็ได้ แต่การตรากฎหมายเป็นเรื่องใหญ่ในระดับชาติ มีขั้นตอน และมีความรับผิดชอบขององค์กรต่าง ๆ เป็นขั้นตอนไป เมื่ออยู่ในองค์กรใด องค์กรอื่นก็จะไปเที่ยวได้ยุ่มยามไม่ได้ มหาวิทยาลัยบูรพาดูเหมือนจะโชคดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ตรงที่ ในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายของมหาวิทยาลัยบูรพานั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านได้แต่งตั้งอาจารย์บัญญัติ สุขสีงาม ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยบูรพา ให้เข้าไปเป็นกรรมาธิการร่วมด้วย มีสิทธิมีอำนาจเช่นเดียวกับกรรมาธิการอื่น ๆ ที่เป็น สส. คณะกรรมาธิการดังกล่าวมีศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งเป็น สส.พรรคฝ่ายค้าน เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เมื่อตอนที่ร่างกฎหมายนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัย บุคลากรทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารระดับมหาวิทยาลัย หรือระดับคณะ และคณาจารย์และบุคลากรอื่น ต่างมีส่วนรู้เห็นและร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วหน้ากัน มีความเคลื่อนไหวอย่างไรก็รู้กันได้ เพราะได้บอกเล่ากันมาโดยตลอด (ถ้าไม่รู้ก็เพราะไม่สนใจหรือไม่อยากรู้เอง) แต่เมื่อร่างกฎหมายนั้นไปอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะมีการแก้ไขกันอย่างไร เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร จะสมควรออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ ล้วนแต่อยู่ที่คณะกรรมาธิการ ซึ่งมีรองอธิการบดีและอาจารย์บัญญัติร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาในระหว่างที่ร่างกฎหมายนี้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร จึงอาจกล่าวได้ว่าสำหรับผู้คนในมหาวิทยาลัยบูรพานั้น มีแต่รองอธิการบดีท่านนั้นกับอาจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม สองคนเท่านั้นที่รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายดังกล่าว และถ้าเห็นว่ามหาวิทยาลัยบูรพาไม่ควรออกนอกระบบ ก็ต้องดำเนินการเพื่อให้สภาไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว (เพราะพ้นเวลาที่มหาวิทยาลัยจะสามารถถอนร่างนั้นได้เสียแล้ว) และคนที่จะแนะนำให้สภาทำเช่นนั้นได้ก็อยู่ที่คณะกรรมาธิการดังกล่าวเท่านั้น ถ้ามาถามผมตอนนี้ว่าทำไมไม่มีการถอนร่างดังกล่าวออกมาจากสภา ก็เห็นจะต้องไปถามอาจารย์บัญญัติ เพื่อให้ท่านเล่าให้ฟังถึงตื้นลึกหนาบางของการทำงานของคณะกรรมาธิการ ถ้าถามดี ๆ อาจจะได้ฟังอะไรดี ๆ จากท่านก็ได้ เพราะดูเหมือนการริ่เริ่มให้มหาวิทยาลัยบูรพาออกนอกระบบนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยที่ท่านอาจารย์บัญญัติท่านเป็นรองอธิการบดีอยู่ ท่านจะได้เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงต้องคิดให้มหาวิทยาลัยบูรพาออกนอกระบบ ขณะนี้การพิจารณาของกรรมาธิการได้ผ่านพ้นไปแล้ว และสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ผ่านร่างดังกล่าวและส่งไปยังวุฒิสภาแล้ว ดูเหมือนวุฒิสภาก็กำลังพิจารณาใกล้จะแล้วเสร็จ ถ้าไม่อยากให้กฎหมายนี้ออกมาใช้บังคับ ก็จะยากอะไร ให้อาจารย์บัญญัติกับประธานสภาคณาจารย์มีหนังสือไปยังวูฒิสภา ขอให้ท่านชะลอเรื่องไว้ เพราะปลายเดือนนี้สมัยประชุมของรัฐสภาก็จะสิ้นสุดลง ถ้าทำไม่เสร็จภายในก่อนสิ้นเดือน เมื่อหมดสมัยประชุมแล้ว กฎหมายนี้ก็จะตกไปตามรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ 10 พ.ย. 2547
    มีชัย ฤชุพันธุ์
    10 พฤศจิกายน 2547