ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    015514 เรื่องของครูกับอปท.ครูรอบนอก29 พฤศจิกายน 2548

    คำถาม
    เรื่องของครูกับอปท.

    เรียน ท่านมีชัย

              ขอรบกวนให้ท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการโอนสถานศึกษาไปอยู่ก้บท้องถิ่น ซึ่งบัดนี้มีครูถึง 3 กลุ่มที่อ้างตัวเป็นตัวแทนของครูออกมาแสดงความต้องการที่แตกต่างกันออกไป แต่ครูรอบนอกอย่างข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลถึงผลดีผลเสียของการโอนและยังขาดความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของอปท.ในการจัดการศึกษา  ซึ่งคำว่ามีส่วนร่วมนี้มีความหมายขนาดไหน  ต้องเข้ามาบริหารจัดการแทนกระทรวงศึกษาธิการที่ดำเนินการมาเป็น 100 ปีแล้วใช่ไหม  ครูรอบนอกอย่างข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเรื่องที่สำคัญกว่านี้คือการพัฒนาระบบการศึกษายังล้มเหลวอยู่เลย ตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาเมื่อ ปี 2542 การจัดหลักสูตรใหม่ ปี 2544 การประเมินภายนอกโดยสมศ. และอื่นๆอีกมากมายที่คิดงานมาให้ครูทำส่วนใหญ่เป็นแต่งานกระดาษทั้งสิ้น หากท่านผู้เป็นใหญ่ทั้งหลายได้มาสัมผัสความจริงจะรู้ว่าปัจจุบันนี้เด็กที่จบมา 3 บางคนอ่านหนังสือไม่แตกฉาน เขียนไม่เป็นตัว สะกดผิด ความรู้น้อยกว่าเด็ก ป.7ในอดีตมากมาย แย่งโรงเรียนกันแต่ไม่แย่งกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ข้าพเจ้าอยากได้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ของท่านมีชัยและช่วยเพิ่มเติมความรู้ในเรื่องนี้ให้กับครูรอบนอกที่ไม่รู้รายละเอียดด้วย

                                                                                               นับถืออย่างยิ่ง

                                                                                                 ครูรอบนอก

    คำตอบ

    เรียน ครูรอบนอก

          เรื่องการโอนการจัดการศึกษาไปให้ท้องถิ่นนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญปัจจุบัน  เพราะในเยอรมัน ฝรั่งเศส หรืออเมริกา ท้องถิ่นของเขาเจริญและจัดตั้งก้นมานาน เขาจึงสามารถจัดการศึกษาภายในท้องถิ่นของเขาเอง  แต่ท้องถิ่นของเขามิได้ถูกจัดตั้งมาเป็นโหล อย่างท้องถิ่นของเรา  หากแต่ขึ้นอยู่กับความเจริญและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่พร้อมที่จะเสียสละทั้งในแง่ของการเสียภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นโดยเฉพาะ และเมื่อใครมั่งมีพอที่จะเสียสละเวลาได้ก็เข้ามาสมัครเป็นผู้บริหารกิจการของท้องถิ่น  ในการจัดาการศึกษาบางประเทศอย่างอเมริกา เขาก็มีคณะผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อวางนโยบายในทางการศึกษา แต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหารจัดการกิจการภายในของโรงเรียนโดยตรง ผู้บริหารดังกล่าวที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ให้ เขาเข้ามาเพื่อที่จะดูแลระบบการศึกษาเพื่อประโยชน์ของลูกหลานของเขาจริง ๆ เพราะลูกหลานของเขาต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนท้องถิ่นนั้น ๆ    

             แต่ท้องถิ่นของไทยเรานั้น ถูกข่มขืนให้จัดตั้งขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความต้องการหรือความพร้อมของท้องถิ่น เมื่อแรกเริ่มจัดตั้งขึ้นหลายตำบลจึงมีคนเป็นสิบบ้างเป็นร้อยบ้าง ซึ่งมองเห็นได้แต่แรกว่าจะไม่มีกำลังเงินเพียงพอที่จะพัฒนาได้  แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญ รัฐก็ต้องจัดสรรเงินส่งลงไปให้อย่างทันทีทันใดเพื่อให้ทันกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ  และผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็คงรู้ว่าถ้าปล่อยให้พร้อมก็คงต้องใช้เวลานาน จึงบังคับไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเองให้รัฐต้องจัดการถ่ายโอนอำนาจทั้งปวงไปให้ท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งนี่ก็เลยเวลาที่กำหนดแล้ว แต่การถ่ายโอนอำนาจก็ยังไม่สามารถทำได้ครบถ้วน เพราะความไม่พร้อมในหลายด้าน และในหลายท้องถิ่น  เนื่องจากในเวลาที่กำหนดภารกิจของท้องถิ่นนั้น ผู้ร่างมองกรุงเทพมหานครเหมือน ๆ กับองค์การบริหารส่วนตำบล จึงกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้อย่างเดียวกันหรือเกือบจะเหมือนกัน

             เมื่อถึงคราวจะต้องถ่ายโอนอำนาจในการจัดการศึกษา ผู้ดำเนินการก็คิดอย่างเดียวกับเมื่อตอนตั้งท้องถิ่น  คือคิดว่า กทม. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง องค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นท้องถิ่นเหมือนกัน จึงต้องโอนการศึกษาไปให้พร้อม ๆ กัน  เรื่องจึงเกิดขึ้น เพราะแม้ว่าในหลายท้องถิ่นจะมีความพร้อม แต่อีกหลายท้องถิ่นซึ่งน่าจะเป็นส่วนข้างมาก ก็หามีความพร้อมไม่  นอกจากนั้นในเวลาที่คิดถึงเรื่องการถ่ายเทอำนาจ  ก็คิดด้านเดียว ไม่ได้คิดถึงอนาคตหรือหัวอกของครูที่จะต้องถูกโยนไปโยนมาอีกครั้งหนึ่ง

           การปฏิรูปการศึกษาที่ทำกันมานั้น เมื่อเริ่มต้นก็ทำท่าว่าจะดี เพราะดูเหมือนจะนึกถึงสาระของการศึกษาและสิ่งที่เด็กจะได้รับเป็นเกณฑ์  แต่พอเอาเข้าจริง การปฏิรูปนั้นกลับกลายเป็นการปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เสียมากกว่า เมื่อทุกคนได้ดีมีสุขแล้ว ก็โยนภาระทั้งหมดไปให้ครู ซึ่งยังไม่ได้รับการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางของระบบการศึกษาใหม่  บรรดาครูจึงถูกใครต่อใครที่มีความคิดที่นึกว่าน่าจะดี สั่งให้ทำอะไรต่อมิอะไรกันจนไม่มีวันว่าง

          แนวคิดของการให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดาการการศึกษานั้น ก็คงจะเนื่องจากเห็นว่าแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความต้องการพัฒนาความรู้ของเด็กในท้องถิ่นของตนไปตามวิวัฒนาการของท้องถิ่นนั้น ๆ  ถ้าได้ให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดการเสียเองแล้ว จึงน่าจะเกิดประโยชน์ ท้องถิ่นจะได้ทุ่มเททรัพยากรลงไปมากน้อยตามความต้องการได้ นั่นคือความฝันของนักท้องถิ่นนิยม แต่ใครที่อยู่ในท้องถิ่นก็คงจะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ในบางท้องถิ่นเท่านั้นแหละ  จึงได้แต่หวังว่าคุณครูจะอยู่ในท้องถิ่นที่มีลู่ทางจะเป็นไปอย่างที่เขาวาดฝันไว้

     

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    29 พฤศจิกายน 2548