ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    015510 แก้รัฐธรรมนูญ313แก้ปัญหาได้จริงไหมครับเอกรัฐ28 พฤศจิกายน 2548

    คำถาม
    แก้รัฐธรรมนูญ313แก้ปัญหาได้จริงไหมครับ

    เรียน อ.มีชัย ครับ

    ตอนนี้ มีนักวิชาการ มีคนที่เป็นต้นคิดเรื่องปฏิรูปการเมือง โดยแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม และอีกหลายฝ่าย ออกมาพูดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 313 เพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ใหม่ทั้งหมด เหมือน ๆ กับว่า รัฐธรรมนูญนี้ สร้างปัญหา โดยเฉพาะการที่มีคุณทักษิณ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมสงสัยว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 313 ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการพิเศษ 7 คน มาทำหน้าที่ยกร่าง จะแก้ไขปัญหาได้จริงหรือครับ อาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ

    ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า จะแก้ไขปัญหาได้จริง เหมือน ๆ กับว่า ยุคสมัยหนึ่ง เราไม่ต้องการนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราก็ไปแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่พอมาตอนนี้ เราไม่พอใจคุณทักษิณ ก็เลยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี มาจากช่องทางอื่นได้อีก เหมือนกับว่า เรากำลังเอาตัวคนตั้ง แล้วหาหลักการมาอธิบาย เพื่อกำจัดตัวคนที่ว่านั้นเลยครับ หรืออย่างเรื่องส.ส.สังกัดพรรค 90 วัน หรือเรื่องที่วุฒิสมาชิกต้องการเป็นได้ 2 สมัย หรือเรื่ององค์กรอิสระต่าง ๆ ก็เหมือนกัน มันจะยิ่งแก้ยิ่งวุ่นวายหรือเปล่าครับ แล้วยิ่งไปก้าวล่วงเบื้องสูง ต่างฝ่ายต่างก็อ้างถึงสถาบันสูงสุด มันจะกลายเป็นไปสร้างความแตกแยก แล้วก็ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทด้วยหรือเปล่าครับ

    เรียนถามความเห็นอาจารย์ครับ ตอนนี้ บ้านเมืองดูจะสับสนวุ่นวายจริง ๆ มีการสร้างกระแสเรื่องกรปฏิวัติ มีม็อบที่ถูกปลุกขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน แล้วหลาย ๆ กรณีก็เป็นการพูดความจริงไม่หมด แต่ทำให้สังคมหลงเชื่อก็มี ทางออกของบ้านเมืองที่น่าจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในความเห็นของอาจารย์ ควรจะเป็นอย่างไรครับ

    เรียนถามอาจารย์มีชัย ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ

     

     

    คำตอบ

    เรียน คุณเอกรัฐ

          มาตรา 313 เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้เฉพาะคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาเท่านั้นที่จะเสนอร่างแก้ไขได้ โดยจะแก้ไขบางเรื่องบางมาตรา หรือจะแก้ไขทั้งหมดก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่อาจเป็นได้ว่านักวิชาการเหล่านั้นเขาไม่ไว้ใจ เขาก็เลยอยากแก้ไขมาตรา 313 เพื่อให้คนอื่นสามารถเสนอแก้ไขได้ด้วย เหมื่อนอย่างเมื่อคราว สสร.นั่นไง ที่เขาขอให้แก่ไขบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อน แล้วก็บัญญัติไว้เสียในตอนนั้นว่าเมื่อสสร.แก้ไขแล้วใครจะแก้ไขแม้แต่คำเดียวให้ผิดไปจากร่างของเขาไม่ได้  โดยเหตุผลที่ว่าก่อนเขาจะร่างเขาจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่เอาเข้าจริงเขารับฟังแต่เฉพาะคนทั่วไป แต่เขาไม่รับฟังคนที่เป็นรัฐบาลหรือสภาในขณะนั้น และเมื่อร่างเสร็จแล้วเขาก็ชักชวนคนออกมาเดินขบวนเพื่อข่มขู่ให้สภาต้องรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น  เหตุการณ์ก็เพิ่งจะผ่านมา 8 ปี จำกันไม่ได้แล้วหรือ ใครต่อใครในแทบจะทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการของคนธรรมดาหรือวงการของคนมีความรู้ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าใครจะแตะต้องไม่ได้ เพราะทุกอย่างดีหมดแล้ว  ผมเคยเที่ยวได้ถามในแวดวงพวกนักวิชาการทั้งหลายอยู่หลายแห่งว่า ถามจริง ๆ เถอะที่ว่าดีหมดแล้วน่ะ เคยอ่านกันตั้งแต่ต้นจนจบแล้วหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่เคยอ่าน ส่วนใหญ่อ่านจากที่เป็นข่าวเท่านั้น

            มาบัดนี้ดูเหมือนจะเห็นคล้อยตามกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอยู่ไม่น้อย จะต้องร่างกันใหม่ ซึ่งถ้าจะทำกัน ก็ควรจะต้องตั้งสติกันให้ดี ๆ อย่าใช้อารมณ์อย่างคราวที่แล้ว เพราะกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองนั้นจะเอาเพียงมันอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนึกให้รอบคอบ และข้อสำคัญต้องยอมรับว่าคนไทยก็มีนิสัยเป็น ไทย ๆ  ไม่ใช่เยอรมันหรือฝรั่งเศส ของที่ว่าดีในประเทศหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องดีสำหรับประเทศไทยก็ได้ อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ทั้งนั้น จึงต้องคิดกันด้วยความรอบคอบ  อันที่จริงรัฐธรรมนูญนี้ก็มีส่วนดีอยู่ไม่น้อย ไม่ใช่จะเลวเสียหมด การจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขอย่างไร จึงควรศึกษากันอย่างรอบคอบว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาที่ตรงไหน และควรแก้ไขกันอย่างไร  จะเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่ไว้ใจใครเลย ก็เกิดปัญหาได้ แต่ถ้าจะไว้วางใจใครโดยสิ้นเชิง ก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นเดียวกัน  ในเวลาร่างจึงต้องนึกเสมอว่า พื้นฐานของค่าถัวเฉลี่ยของคนไทยเป็นอย่างไร เพื่อจะได้วางกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับค่าถัวเฉลี่ยนั้น  เมื่อค่าถัวเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น ก็ค่อยขยับตามไป บางทีอาจจะดีกว่าการตั้งเป้าไว้สูงสุดแล้วทำไม่ได้

          อันการเมืองนั้นเป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งยากนักที่จะลงรอยกันได้ทั้งหมด ในทุกเรื่องทุกราวย่อมมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือไม่สนใจ  สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นท่านทรงอยู่เหนือการเมือง ในเวลาที่มีความเห็นแตกต่างกัน หรือขัดแย้งกันไม่ว่าด้วยเรื่องใด จึงไม่บังควรอ้างอะไรให้เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  การนำพระราชดำริห์ก็ดี พระราชกระแสในเรื่องใดก็ดีมาอ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความคิดเห็นของตนในทางการเมืองหรือเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่คนที่มีความจงรักภักดีจะพึงกระทำ

          ธรรมชาติของประชาธิปไตยนั้น ก็คือ ความอิสระในความคิดเห็น และความคิดเห็นของคนเรานั้นบางทีก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและศรัทธา  ตราบใดที่ยังมีความเชื่อและศรัทธา จะทำอะไรก็ดูถูกต้อง แม้จะทำผิดก็ยังเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ  แต่ถ้าเมื่อไรหมดความเชื่อหรืศรัทธาจะทำหรือคิดอะไรก็ดูเป็นผิด หรือน่าระแวงไปเสียหมด จะเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีใด ๆ หรือจะเปลี่ยนใครมากี่คน ก็จะเป็นอย่างเดียวกัน  ยิ่งคนไทยเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว การคล้อยตามกันจึงเกิดขึ้นง่าย และบางทีอยู่ ๆ ไปนาน ๆ ก็เกิดเบื่อหรือหมั่นไส้ขึ้นมาเฉย ๆ  ก็มี  ถ้ายิ่งใครไปทำอะไรให้น่าระแวงมากขึ้น ก็จะยิ่งเฮโลไปกันใหญ่   ถ้ารู้ธรรมชาติของประชาธิปไตยและธรรมชาติของคนไทยเสียแล้ว บางทีเรื่องที่คิดว่าน่าจะสับสนหรือเป็นทุกข์ ก็อาจคลายคงได้บ้างกระมัง

             


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    28 พฤศจิกายน 2548