ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    014001 ความชัดเจนของผู้ว่าฯสตง.ภมรศรี16 พฤษภาคม 2548

    คำถาม
    ความชัดเจนของผู้ว่าฯสตง.

    ถึงท่านมีชัย ดิฉันฟังข่าวแล้วรู้สึกแปลกใจถึงการดำเนินการของส.ว. ในเมื่อวุฒิมีมติเลือกผู้ว่าฯสตง.คนใหม่ พร้อมกับการเตรียมทูลเกล้า แล้วผู้ว่าฯสตง.คนเก่า ต้องหมดวาระหรือไม่ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชี้ชัด และถือว่าที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของผู้ว่าฯสตง.คนเก่าต้องโมฆะหรือไม่

    ขอบพระคุณอย่างสูงที่ทำให้เกิดความกระจ่าง

    คำตอบ

    ถึงคุณภมรศรี

         เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะสับสนและเข้าใจยากอยู่สักหน่อย และไม่ใช่เป็นปัญหาว่าผู้ว่าคนเดิมหมดวาระหรือไม่

          ในเบื้องต้นทีเดียวสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งทำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการสรรหาผู้ว่า สตง.เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญว่า กระบวนการสรรหาของวุฒิสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าผู้ว่า สตง.ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งไปแล้วเป็นเวลาเกือบสองปี นั้นไม่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง.มาเลย (แต่ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ได้ทำไปแล้วก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย)

         ปัญหาทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับกรณีของประธาน กกต.มาครั้งหนึ่งแล้ว  แต่ครั้งนั้นประธาน กกต.ท่านนั้นท่านตัดสินใจลาออก กระบวนการในการสรรหา กกต.คนใหม่จึงเดินหน้าและสามารถนำความกราบบังคมทูลได้โดยไม่เกิดปัญหา

         แต่มาคราวนี้ต่างกัน เพราะผู้ว่า สตง.ท่านไม่ลาออก  และก็ไม่ยอมสมัครเข้ารับการสรรหาด้วย ปัญหาจึงเกิดขึ้นให้เป็นที่หนักใจของวุฒิสภาว่า แล้วท่านพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือยัง  เมื่อเกิดเรื่องใหม่ ๆ มีคนถามปัญหาทำนองเดียวกันนี้ ผมเห็นแล้วว่าจะเกิดปัญหาได้ จึงตอบไปในทำนองให้ท่านผู้ว่า สตง.คนเดิมลงไปสมัครใหม่กับเขาด้วย ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นก็จะไม่เกิดปัญหากลืนไม่เข้าคลายไม่ออกอย่างที่เป็นอยู่

         ตามรัฐธรรมนูญนั้นกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา ๒๖๘ ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ  เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการในการเสนอชื่อของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็ดี กระบวนการในการพิจารณาเพื่อมีมติถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ของวุฒิสภา เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และถือว่าท่านผู้ว่า สตง.ไม่เคยดำรงตำแหน่งมาเลย  จึงผูกพันวุฒิสภา และทำให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินต้องดำเนินการสรรหาใหม่ และเสนอชื่อใหม่ไปยังวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาก็อยู่ในฐานะที่ต้องดำเนินการเพื่อมีมติถวายคำแนะนำต่อไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

          อันที่จริงมีข้อน่าสงสัยว่าผู้ว่า สตง.เดิมพ้นจากตำแหน่งแล้วหรือยัง เพราะการเข้าดำรงตำแหน่งนั้นเป็นไปตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ซึ่งแม้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องเป็นไปตามคำแนะนำของวุฒิสภา เมื่อวุฒิสภาได้ถวายคำแนะนำและพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งแล้ว ถึงคำแนะนำนั้นจะมีกระบวนการที่ไม่ชอบ ก็เป็นความรับผิดชอบในทางการเมืองของผู้ถวายคำแนะนำ แต่จะมีพ้นกระทบถึงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ซึ่งเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่   สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนเคยสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่ความสงสัยนั้นดูเหมือนจะพุ่งไปที่ศักดิ์ศรีของวุฒิสภา โดยไปมองกันว่าเมื่อวุฒิสภามีมติแล้วใครจะมาบอกว่ามตินั้นไม่ชอบได้อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่เถียงได้ยาก เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดแจ้งแล้วว่า คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญผูกพันรัฐสภา   จึงเป็นที่น่าเสียดายที่นึกถึงศักดิ์ศรีมากไปหน่อยจึงมิได้มีการตั้งประเด็นกันให้ถูกต้อง  ถ้าจะสังเกตกันให้ดีถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๘ ซึ่งเน้นแต่เฉพาะรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐเท่านั้น  ซึ่งเทียบไม่ได้กับกรณีการวินิจฉัยว่ากฎหมาย (ที่แม้จะได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว) เป็นโมฆะ เพราะนั่นเป็นเรื่องของเนื้อในของกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดแจ้ง ไม่มีกรณีใดที่จะเคลือบแคลงได้ แต่กรณีนี้เป็นกรณีของขั้นตอนการทำงานของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 

          แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงขั้นนี้ จนวุฒิสภามีมติคัดเลือกบุคคลเพื่อถวายคำแนะนำเพื่อทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว ถ้าจะถามว่าแล้วประธานวุฒิสภาจะทำอย่างไรได้บ้าง คำตอบก็คือทำอะไรไม่ได้ เพราะประธานมีหน้าที่ต้องทำตามมติของสภาเหมือนกัน เมื่อสภามีมติให้ถวายคำแนะนำเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคนใหม่แล้ว ประธานก็มีหน้าที่นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบต่อไปตามมตินั้น อย่างดีก็ได้แต่ตรวจสอบว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว เท่านั้น เพราะจะไปส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรอีก ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะดูเหมือนวุฒิสภามีมติไปเสียก่อนแล้วในการปฏิเสธไม่รับคำร้องขอของสมาชิกที่ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ  ส่วนเมื่อนำความกราบบังคมทูลแล้ว จะทรงมีพระบรมราชโองการอย่างไรก็ต้องถือว่าเป็นการยุติตามนั้น

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    16 พฤษภาคม 2548