กระผมมีเรื่องที่ขอคำปรึกษาความรู้เรื่องกฎหมายหน่อยครับ เพราะได้ดูคำถามเก่า ๆ แล้ว ไม่เข้าข่ายกรณีของกระผมเลย เหตุมีอยู่ว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 เวลาประมาณ 18.30 น. สภาพอากาศฝนตก ทัศนะวิสัยมองรถคันหน้าไม่ค่อยชัด ได้ขับรถมาบนถนนสี่เลนโดยปกติ โดยอยู่เลนขวาสุดก่อนถึงสี่แยกไฟแดง ประมาณ 60 เมตร มีรถป้ายแดง(คันที่ 1)จอดนิ่งอยู่ (ซึ่งข้างหน้าก็ไม่มีสิ่งกีดขวาง) ซึ่งกระผมไม่ทราบว่าเป็นรถที่จอดนิ่งอยู่ พอเห็นว่าจอดนิ่งอยู่แต่ระยะมันใกล้ ประกอบกับถนนลื่น เบรกไม่อยู่ รถกระผม(คันที่ 2)ได้ไถลไปชนคันที่ 1 และรถที่วิ่งตามหลังมา (คันที่ 3) ก็มาชนรถของกระผมซ้ำอีกครั้ง ผมลงมาจากรถเพื่อเจรจา แต่รถคันที่ 1 ปิดประตู อยู่ในรถ ไม่ยอมเจรจา และได้โทรศัพท์ให้บริษัทประกันมาเคลียร์ ตำรวจมาที่เกิดเหตุลงความเห็นว่ารถคันหลังเมื่อชนคันหน้าผิดแน่ ๆ เพราะต้องขับในระยะที่ปลอดภัย ถ้ามีการชนแสดงว่าระยะห่างยังไม่เพียงพอ ไม่ต้องไปต่อสู้คดี เพราะเสียเวลาเปล่า ๆ เมื่อไปที่โรงพัก รถคันหน้าเรียกค่าเสียหาย 25,000 บาท (ค่าเสียหายจริงน่าจะประมาณ 15,000 บาท)รถคันที่ 3 ที่ขับมาชนซ้ำเสนอค่าเสียหายให้กระผม 30,000 บาท (เสียหายจริง 50,000 บาท) กระผมจึงให้ตำรวจทำบันทึกเพื่อไม่เอาความกันระหว่างกระผมกับผู้ขับรถคันที่ 3 ทางตำรวจจึงปรับกระผมและคนขับรถคันที่ 3 คนละ 400 บาท ในฐานขับรถโดยประมาท ต่อมาบริษัทประกันภัยของรถคันที่ 1 มีหนังสือให้ข้าพเจ้าไปชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 51,154 บาท ซึ่งสูงกว่าที่เรียกเดิมถึง 2 เท่า
กระผมจึงอยากเรียนถามท่านว่าพอจะมีแนวทางต่อสู้อย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
1. ขับรถชนท้ายรถคันหน้าต้องผิดเสมอตามตำรวจกล่าวอ้างหรือเปล่า ต้องพิจารณาประเด็นอื่นประกอบอีกหรือเปล่าครับ
2. ค่าเสียหายที่เรียกสูงเกินจริง จะมีวิธีต่อสู้อย่างไรครับ
3. รถป้ายแดงที่ขับหลังเวลา 18.00 น. และเกิดเฉี่ยวชนกัน จะนำมาพิจารณาในเรื่องความประมาทหรือไม่ครับ
ขอบคุณมากครับ
สมบัติ
1. ถ้าคันหน้าเขาจอดอยู่ ไม่ว่าด้วยเหตุใด คันที่ไปชนท้ายเขาก็ย่อมผิดเสมอ ยกเว้นกรณีที่คันหลังก็นอดอยู่ในระยะห่างพอสมควร แล้วมีคันที่สามวิ่งมาชนจนรถคันที่สองไถลไปชนคันที่หนึ่ง กรณีนี้คันที่ ๒ อาจไม่ผิดได้แม้จะไปชนคันหน้า
2. ก็ต้องไปพิสูจน์ในศาลว่าเขาเสียหายไม่ถึงขนาดนั้น
3. ไม่เกี่ยวกัน ไม่ว่าจะเป็นป้ายแดงหรือป้ายดำ คนที่ประมาทไปชนเขาเข้า ก็ต้องเป็นฝ่ายรับผิดเสมอ