เรียน ท่านอ.มีชัย ที่เคารพ
ผมเป็นลูกบ้านอยู่ที่หมู่บ้านปาริชาต๓๔๕ ปทุมธานี มีประชากรประมาณ ๒,๐๐๐ ครัวเรือน มีพื้นที่หมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ไร่ หมู่บ้านมีนิติบุคคลฯ มาแล้วประมาณ ๘ ปี ตลอดว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการนิติฯ ทุกยุคทุกสมัย บริหารนิติบุคคลฯ ผิดพลาดใช้จ่ายเงินค่าส่วนกลางที่เก็บจากลูกบ้านแต่ละเดือน(ปี) ไม่ระมัดระวัง รั่วไหล จนทำให้ขณะนิติบุคคลฯ ประสพปัญหาขาดสภาพคล่อง
ผมจึงใคร่ขอเรียนถาม ท่านอ.มีชัย ว่า ถ้าหมู่บ้านจะให้เทศบาลเข้ามาให้บริการสาธารณูปโภค เช่น การเก็บขยะ , ซ่อมถนน , ซ่อมบ่อบำบัดน้ำเสีย ไฟแสงสว่างตามถนน เป็นต้น ไปให้เทศบาลช่วยดำเนินการ โดยหมู่บ้านไม่ต้องโอนทรัพย์สินส่วนกลางให้กับเทศบาล จะมีช่องทางหรือวิธีใดที่ทำได้บ้างครับ
อนึ่งจากการที่ผมได้ศึกษา เรื่องงบประมาณที่เทศบาลที่ขอจากจังหวัด จะใช้ฐานของประชากรที่อยู่ในพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงประชากรที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรด้วย แต่ทำไมเทศบาลกลับไม่ให้บริการด้านสาธารณูปโภค หรือให้บริการแบบไม่เต็มใจเสียไม่ได้ แก่ประชาชนที่อยู่ในหมู่จัดสรรที่มีนิติบุคคลฯ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นพื้นที่เอกชน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเงินทุนตามโครงการ ๆ ของส่วนกลางที่ให้แก่ประชาชนรากหญ้า เพื่อนำมาใช้พัฒนาอาชีพ หรือชุมชน ประชาชนในหมู่บ้านไม่เคยทราบเรื่องพวกนี้เลย และเงินก็ตกไปให้แก่ใครที่ไหนก็ไม่รู้
ขอแสดงความนับถือ
อันถนนหนทางนั้นถ้ิาไม่ยกให้กับเทศบาล ๆ ก็ย่อมเข้ามาดูแลเต็มที่ไม่ได้ เมื่อนิติบุคคลเก็บเงินจากผู้อยู่อาศัยแล้ว ก็ต้องไปดำเนินการตามหน้าที่ ถ้าคณะกรรมการใช้จ่ายเงินไปผิดประเภท ผู้อยุ่อาศัยก็ต้องรวมตัวกันติดตามทวงถาม หรือปลดออก แล้วตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เอาเงินไป สิทธินั้น นั่งเฉย ๆ ไม่มีใครมาทำให้หรอก เพราะสิทธิมาคู่กับหน้าที่ ถ้าสมาชิกหมู่บ้านเอาแต่นั่งเฉย ๆ คนที่เข้ามาบริหารก็อาจกอบโกยเอาไปได้ การบริหารจัดการในหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโด ในรูปนิติบุคคล ก็คือ การจำลองระบอบประชาธิปไตยของประเทศมาใช้ในหมู่บ้านนั่นเอง ในระบบของประเทศ ผู้คนอาจจะรู้สึกว่าโกงบ้างก็ไม่เป็นไรขอให้มีผลงาน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกเดือดร้อน (เนื่องจากความเดือดร้อนที่แท้จริงยังมาไม่ถึง) แต่ในระบบหมู่บ้านนั้น อยู่ใกล้ตัวมาก ความเดือดร้อนจึงเห็นได้เร็วขึ้น แต่ความเดือดร้อนที่คณคิดว่ามีอยู่นั่้น เป็นเพียงการเริ่มต้น เมื่อปล่อยไปอย่างนี้วันหนึ่งหมู่บ้านก็จะโทรมลงเพราะไม่มีเงินไปทำนุบำรุง การดำเนินชีวิตก็จะลำบากขึ้น เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ถ้าจะพัฒนา ก็จะต้องมาเก็บเงินเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปชำระหนี้และใช้จ่ายในการทำนุบำรุง ถึงตอนนั้นก็อาจจะต้องเดือดร้อนเป็นตัวเงินมากขึ้น ซึ่งทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ (แม้จะเถียงในใจว่าตัวไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดหนี้ แต่ความผิดก็อยู่ตรงที่คนส่วนใหญ่เป็นคนเลือกให้คณะกรรมการไปทำ โดยในเวลาเลือกคนส่วนมากไม่ได้ให้ความสนใจต่อการเลือกคนอย่างจริงจัง) ทุกคนมีความภูมิใจแต่เฉพาะว่าตนมีสิทธิเลือก แต่ถึงเวลาเลือกก็ไม่ไปเลือก หรือเลือกไปตามแกน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของคนที่จะเลือก ความรับผิดชอบจึงต้องเกิดร่วมกัน