เรียน ท่านอาจารย์ ที่เคารพ
ผมมีข้อสงสัยเรื่องสัญชาติของบุคคลซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติใช้คำที่แตกต่างกันถึง ๓ คำ ได้แก่ (๑) ได้สัญชาติ เช่น บุคคลต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทย..ตามมาตรา ๗ (๒) มีสัญชาติ เช่น ผู้มีสัญชาติไทย..ตามมาตรา ๑๓ และ ๑๔ และ (๓) ถือสัญชาติ เช่น ผูนั้นอาจถือสัญชาติของบิดา..ตามมาตรา ๑๔ วรรคสอง จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติและการช่วยเหลือประชาชน ดังนี้ครับ
(๑) คำว่า "ได้สัญชาติ" "มีสัญชาติ" และ "ถือสัญชาติ" มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร โดยผมเข้าใจว่า ได้สัญชาติหมายถึง ที่มาของสัญชาติที่บุคคลแต่ละคนจะได้รับ เป็นเหมือนวิธีการ เช่นได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเพราะมีบิดามารดาเป็นไทย แต่การได้สัญชาตินั้นยังไม่ผ่านกระบวนการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของสัญชาติ ส่วนคำว่า มีสัญชาติหมายถึงได้รับการรับรองจากรัฐแล้ว เช่น ได้รับเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านระบุรายการสัญชาติว่าไทย ส่วนคำว่า ถือสัญชาติหมายถึงได้มีการใช้สิทธิในสัญชาติ เช่น ใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงอยากเรียนถามว่าความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
(๒) การที่นายทะเบียนรับแจ้งเกิดบุตรของชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นผู้ที่อพยพเข้ามาจากพม่า โดยระบุสัญชาติของเด็กในสูติบัตรว่า "พม่า" หรือการที่นายทะเบียนสำรวจจัดทำทะเบียนและออกบัตรประจำตัวให้แก่ชนกลุ่มน้อยโดยระบุว่าเป็นคนสัญชาติพม่า กรณีเช่นนี้จะถือว่าบุคคลดังกล่าวทั้งสองรายเป็นผู้ถือสัญชาติพม่าได้หรือไม่ครับ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ และขออำนาจคุณพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล ช่วยดลบันดาลให้ท่านอาจารย์มีความสุขกาย สุขใจ สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ตลอดไปครับ
1. ความหมายก็ไม่ต่างไปจากคำว่า (๑) "นาย ก.ได้เงินมา ด้วยวิธีไปรับจ้างทำงาน" (๒) นาย ก. มีเงิน จึงใช้เงินฟุ่มเฟือย (๓) นาย ก.ถือเงินมาเต็มกระเป๋า
2. เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นว่าเขามีสัญชาติพม่า แต่หลักฐานนี้ก็ทำให้ชีวิตเขาลำบากไปมาก ดังนั้นก่อนที่นายทะเบียนจะเที่ยวได้ระบุว่าใครมีสัญชาติอะไร ก็ควรต้องดูหลักฐานหรือสอบสวนเสียให้รอบคอบ เพราะถ้าทำไปโดยฝืนต่อความเป็นจริงก็จะเป็นบาปไปตลอดชีวิต