ผมเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ได้ถูกเรียกให้เข้าประชุมในสมัยประชุมสภาปกติ โดยสภาอบต.มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาคือ เลือกเลขานุการสภาอบต.คนใหม่แทนผู้ที่ขอลาออกเพียงเรื่องเดียว ได้อ่านพรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลปี37แก้ไขเพิ่มเติมฉ.5ปี46 มาตรา57 วรรคสองเขียนว่า เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลพ้นจากตำแหน่งเมื่อครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมื่อมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสภาตำบลมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
ประธานสภาฯแจ้งว่าได้รับหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งของเลขาฯมีผลสมบูรณ์แล้วเมื่อวานจึงขอให้สภาฯเลือกผู้มาทำหน้าที่เลขาฯแทนผู้ที่ลาออก..
มีสมาชิกสภาอบต.หลายคนสงสัยว่าการลาออกของเลขาฯแล้วประธานสภาฯพิจารณาการลาออกคนเดียว สมบูรณ์หรือไม่ เพราะการพ้นจากตำแหน่งเลขาสภาอบต.น่าจะเป็นไปตามพรบ.ฯปี37ฯมาตรา57วรรค2 กล่าวคือต้องขอมติจากสภาอบต.เพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง(จากเหตุขอลาออก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เกรงว่าจะปฏิบัติหน้าที่เลขาฯได้ไม่เต็มที่)
ผมในฐานะสอบต.คนหนึ่งที่อยากได้ความชัดเจนจากท่านอาจารย์มีชัย ในเรื่องดังกล่าวครับโดยไม่มีเจตนาจะให้ร้ายผู้ใด เพียงเพื่ออยากรู้ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นหลักอ้างอิงจากผู้ที่มีความรอบรู้ด้านระเบียบ-กฏหมาย
สรุปคำถามอีกครั้งเพียงข้อเดียว ดังนี้
1.เลขานุการสภาอบต.ส่งหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งเลขาสภาฯ ต้องขอมติสภาอบต.ให้พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ จากเหตุลาออก หรือไม่
การกำหนดให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งใด มีหลักพื้นฐานอยู่ว่า ไม่ว่ากฎหมายจะเขียนอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ถูกแต่งตั้ง ถ้าเมื่อใดผู้ถูกแต่งตั้งไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งนั้น ก็ไม่มีอะไรไปห้ามเขาได้ แม้แต่การกำหนดให้การเป็นโดยตำแหน่ง เช่น ให้ปลัดสภา อบต. เป็นประธานประกวดนางงามโดยตำแหน่ง ซึ่งแปลว่าเมื่อใดใครก็ตามมาดำรงตำแหน่งปลัด อบต. คนนั้นก็จะต้องดำรงตำแหน่งประธานประกวดนางงามโดยอัตตโนมัติ แต่แม้กระนั้นถ้าเมื่อไร เขาไม่อยากเป็น เพราะเขาถือศีล ๘ อยู่ หรือแสลงต่อความสงบสุขในครอบครัวของเขา แม้เขาจะไม่สามารถปฏิเสธการเป็นประธานประกวดนางงามโดยตรงได้ เขาก็อาจลาออกจากปลัด อบต.เสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว เขาก็ไม่ต้องเป็นประธานประกวดนางงาม สำหรับในกรณีของเลขานุการสภาตำบล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สภา อบต.เป็นผู้เลือก ก็ต้องอยู่ในหลักเดียวกัน คือต้องถามความสมัครใจเขาก่อน ถ้าเขาไม่สมัครใจ หรือทีแรกสมัครใจ อยู่ต่อมาเกิดไม่สมัครใจหรือเปลี่ยนใจ เขาก็ย่อมลาออกได้เสมอ และเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการลาออกไว้ เพียงเขายื่นหนังสือลาออกต่อประธาน ก็มีผลให้การลาออกนั้นสมบูรณ์ เหตุให้พ้นจากตำแหน่งหลายอย่างที่แม้ไม่เขียนไว้ ก็ไม่ได้แปลว่า เมื่อเหตุนั้นเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เขายังต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป เช่น ถ้าเขาตายไป ม. ๕๗ ก็ไม่ได้บอกว่าเขาพ้นจากตำแหน่ง มิต้องไปคอยปลุกให้เขาขึ้นมาทำหน้าที่หรือ หรือในกรณีที่แต่งตั้งสมาชิกสภาเป็นเลขานุการ ถ้าเขาเกิดออกจากสมาชิกสภาไปเสียก่อนที่จะครบวาระ เขามิต้องกลับมาเป็นเลขานุการอีกหรือ