เรียน อาจารย์ มีชัย
ผมเป็นลูกบ้านหมู่บ้านแห่งหนึ่งแถวรามอินทรา ซึ่งมีจำนวนประมาณ 118 แปลง ผมซื้อบ้านหลังนี้ประมาณปลายปี 2549 หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี คือปี 2550 ทางโครงการก็ขายหมด และมีการทำเฟส 2 อีกจำนวนหลายร้อยแปลง ซึ่งมีเนื้อที่ติดกัน และทางเข้า-ออก ทางเดียวกัน ปัญหาคือหลังจากโครงการเฟส 1 ขายหมด จะมีการจดนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่จดไม่ได้เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุน อะไรประมาณนั้น ซึ่งทางโครงการแจ้งว่าลูกบ้านน่าจะรู้อยู่แล้วว่าโครงการแบบนี้จดนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้ แต่ลูกบ้านหลายรายก็เป็นทนายความ ก็ยังไม่รู้เลยครับ หลังจากรู้ว่าจดนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้ก็มีการยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ในขณะที่รอผลการพิจารณาศาลปกครองกลาง โครงการเฟส 2 ได้ขายหมด และได้จดนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้เรียบร้อย ล่าสุดมีคำพิพากษาของศาลว่าไม่สามารถจดนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้
คำถามของผมคือ 1. ลูกบ้านกว่า 80% ที่จ่ายส่วนกลางอยู่อยากให้มีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแบบถูกกฏหมาย ควรทำยังไง (ไม่เอาสหกรณ์, ชุมชน)
2. มีความเป็นไปได้เหรอไม่ถ้าจะรวม หรือ เข้าร่วม กับเฟส 2 เพื่อเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเดียวกัน เพราะพื้นที่ติดกัน ทางเข้า-ออกเดียวกัน ถ้าได้ควรดำเนินการยังไง
3. โครงการหลังจากมีกฎหมายจัดสรร ถ้าเป็นโครงการผี(ไม่จัดสรรให้ถูกต้อง) มีวิธีการจัดการ, เรียกร้องค่าเสียหาย ยังไงบ้างกับเจ้าของโครงการ (นอกจากฟ้อง สคบ)
ขอบคุณมากครับ
1. ไม่รู้จะแนะนำอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าทำไมจึงจดทะเบียนหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้ แต่ตราบใดที่ยังจดทะเบียนหมู่บ้านจัดสรรไม่ได้ ผู้จัดสรรก็ยังมีหน้าที่ต้องดูแลส่วนกลางและสิ่งสาธารณูปโภคอยู่ต่อไป
2. ถ้าลูกบ้านยินยอมและนิติบุคคลเฟส ๒ เขายินยอมรับเป็นสมาชิกก็ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง
3. ก็ต้องศึกษาว่าการไม่สามารถจดทะเบียนได้เพราะเหตุใด และเป็นความผิดของผู้จัดสรรหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ร่วมกันฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือบังคับให้เขาดำเนินการอย่างใดตามสมควรได้