ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    "การเมืองของไทย"

    วันที่ ๒๔ มิถุนายน เมื่อ ๖๘ ปีที่แล้ว ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นัยว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง และให้การปกครองบ้านเมือง เป็นไปตามหลักที่ว่า “เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”


    ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา กติกาสูงสุดของประเทศ หรือรัฐธรรมนูญ ได้ถูกสร้าง เปลี่ยนแปลง ยกเลิก แล้วก็สร้าง เปลี่ยนแปลง และยกเลิก นับสิบครั้ง เพื่อที่จะให้การเมืองของไทย เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ของประชาชนและประเทศชาติ รวมทั้งมีเสถียรภาพอันมั่นคง


    ๖๘ ปีผ่านไปแล้ว การเมืองไทยและสภาพสังคมของไทย ได้เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นอย่างไรบ้าง


    จริงอยู่ผู้คนในแวดวงการเมืองมีภูมิความรู้สูงขึ้น (โดยวัดจากปริญญาที่ได้รับ) มีผู้คนจากหลากหลายวงการ และระดับแห่งฐานะทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการเลือกตั้งในระดับต่าง ๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ และมีความถี่ในการเลือกตั้งมากขึ้น ผู้คนสนใจในวงการเมืองมากขึ้น แรงกระตุ้นของสื่อที่มีต่อประชาชน เร่งเร้าและแผ่กระจายมากขึ้น


    พัฒนาการเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งดี และน่าจะนำผลที่ดี มาสู่ระบบการเมืองของประเทศ


    แต่ในท่ามกลางสิ่งดีๆ เหล่านั้น ได้เกิดเนื้อร้ายขึ้นในแวดวงการเมืองและสังคมไทยควบคู่กันด้วย


    การโกงการเลือกตั้งอย่างเปิดเผย ที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี ๒๕๐๐ ก็ยังเกิดขึ้นในปี ๒๕๔๒


    การหาเสียง ที่เคยแจกแต่ปลาทูเค็มหรือรองเท้าแตะ ได้รับการพัฒนาเป็นการแจกสิ่งของนานาชนิดที่มีราคาสูงขึ้น และเปลี่ยนมาเป็นการซื้อเสียงในที่สุด


    การซื้อเสียงได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้น คือแทนที่จะลงไปแจกเองโดยตรง ก็มีขบวนการ “หัวคะแนน” เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และกลายเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง


    การรวมตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมุ่งหวังกันว่า จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ได้เกิดขึ้นจริง แต่ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่การรวมตัวเพื่อต่อรองราคาในการขายเสียง


    การซื้อเสียงที่เคยมีแต่เฉพาะในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาบัดนี้ได้รับการลอกเลียนแบบ จากการเลือกตั้งทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และกำนันผู้ใหญ่บ้าน (ซึ่งกำลังจะแห้งตายไปในที่สุด)


    คนมีอิทธิพลหรือมีเงินในพื้นที่ ที่เคยแต่จะคอยสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ด้วยความชอบพอกันเป็นการส่วนตัว หรือเพื่อหวังผลในการสร้างอิทธิพลทางธุรกิจ ก็เริ่มทำเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของตนโดยตรง โดยแบ่งกันเข้าครอบงำ อบต. เป็นอำเภอหรือจังหวัด เพื่อใช้เป็นฐานในการดูดซับงบประมาณในการก่อสร้าง ที่หลงเหลือจากการหักเปอร์เซ็นต์ของ อบต.บางหมู่บางเหล่า


    ผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ส่วนน้อย รวมทั้งพรรคการเมือง ใช้เงินในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยวงเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน


    พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้น แทนที่จะได้รับเงินจากสมาชิกพรรค เพื่อดำเนินกิจการของพรรค กลับต้องหาเงินไว้คอยจ่ายให้แก่สมาชิกอย่างสม่ำเสมอ


    เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีการจ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ได้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อรอรับเงินสนับสนุนนั้นอย่างจริงจัง และสามารถหลอกเอาเงินได้มากกว่าพรรคการเมืองที่เก่าแก่ หรือมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างแท้จริง


    คนที่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวนไม่น้อย ต้องมีเงินเพียงพอที่จะคอยดูแลสมาชิกในกลุ่มของตน ในขณะเดียวกันจึงต้องคอยคิดโครงการใหม่ๆ เพื่อหาเงินเข้าพรรคบ้างเข้าตัวเองบ้าง ระบบการตั้งที่ปรึกษา เพื่อเป็นมือเป็นเท้าในการหาเงิน จึงกลายเป็นของปกตินิยม


    การกำหนดตัวบุคคล เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้จะได้รับการพัฒนาด้วยการดึงบุคคล ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ให้เข้ามาช่วยทำงาน แต่ส่วนใหญ่ยังอาศัยปัจจัยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้


    ความสำคัญในพรรค (ไม่ว่าจะสำคัญเพราะตำแหน่งในพรรค หรือสำคัญเพราะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรค)


    ความใกล้ชิดกับหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการของพรรค


    ลำดับอาวุโสในพรรค


    และท้ายที่สุด จึงถึงลำดับของคนมีความรู้ และความสามารถ


    แม้กระนั้นการวางบุคคลลงในตำแหน่งใด ยังอาศัยความสำคัญในพรรคเป็นหลักในการพิจารณา ประกอบกับความสำคัญ (ในเชิงหาประโยชน์) แห่งกระทรวงที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง โดยไม่ค่อยได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ ว่าจะเหมาะกับงานของกระทรวงนั้นหรือไม่


    คนที่เข้ามาเป็นหัวหน้ารัฐบาล แม้จะมีความตั้งใจดีเพียงใด หรือสุจริตเพียงใด เมื่อต้องเผชิญกับบุคลากรที่ผิดฝาผิดตัวเช่นนี้ จึงยากที่จะบริหารงาน ให้เกิดความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติได้ และยิ่งยากที่จะแก้ไขปัญหาใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กให้ลุล่วงไปได้


    การตัดสินใจต่อปัญหาสำคัญของบ้านเมือง ถ้าจะต้องเลือกเอาระหว่าง ประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว กับประโยชน์ในทางการเมืองของพรรค ประโยชน์ในทางการเมืองมักจะถูกเลือกเป็นลำดับแรก


    ระบบราชการ ยังคงเป็นระบบราชการเพื่อประโยชน์ของราชการ ยังติดยึดอยู่ที่ความสะดวก และความคล่องตัวของทางราชการ มากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน


    การทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นับวันแต่จะกระจายมากขึ้น และมีอยู่ในแทบทุกวงการ และด้วยเหตุนี้การตัดสินใจในเรื่องใด ๆ จึงถูกมองในแง่ร้าย จนผู้ตัดสินใจที่สุจริตเองก็ขยาดที่จะคิด เพื่อประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวม จึงพากันทำตามกระแสไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย


    แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด ยังมีข่าวถูกนินทาให้เสียหาย ว่ารับอามิสสินจ้าง


    ด้วยกลไกอันพิกลพิการทางการเมืองข้างต้น ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานที่ต้องเผชิญกับ วิกฤติใดๆ จึงเกิดความผิดพลาด ในการกำหนดนโยบาย หรือการตัดสินใจได้ง่าย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา และเมื่อเกิดวิกฤติแล้ว การที่จะแก้ไขปัญหาให้ทันการ และถูกต้องจึงยิ่งยากขึ้นไปอีก


    วิธีที่ดูจะง่ายและสังคมยอมรับ ทั้งจะทำให้พ้นความรับผิดได้ ก็คือ ทำตามที่ฝรั่งแนะนำเชิงบังคับ เพราะถึงอย่างไร ฝรั่งก็ยังมาช่วยยืนยันให้ได้เสมอว่าไม่ผิดพลาด เพียงแต่ฝรั่งมิได้อธิบายว่า ที่ว่าไม่ผิดพลาดนั้น มองจากสายตาของคนไทยที่ต้องรับกรรม หรือในสายตาของเจ้าหนี้ต่างชาติ ที่เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือฝรั่งนั้น


    ความพิกลพิการที่เกิดขึ้นนี้ จะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมนั่นแหละ ได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้เกิดขึ้น


    มาถึงวันนี้เรามีกฎกติกาสูงสุด หรือรัฐธรรมนูญ ที่พูดกันว่าเป็นของประชาชนและดีที่สุด เกือบจะเรียกว่าในโลกก็ว่าได้ เพราะอะไรๆ ที่ประเทศทั้งหลายในโลกมีอยู่ และคิดกันว่าดี ล้วนบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับนี้ทั้งสิ้น บางเรื่องบางราว ประเทศทั้งหลายในโลกยังไม่อาจหาญที่จะทำ เราก็ทำ เช่น กำหนดให้คนไทยไม่ว่าอยู่มุมไหนของโลก มีสิทธิและได้รับความสะดวกในการเลือกตั้ง ทุกประเภทและทุกกรณี


    เป้าหมายของรัฐธรรมนูญนี้ คือ การปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น และขจัดความพิกลพิการของการเมืองไทยให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสิทธิและเสรีภาพอย่างแท้จริง


    ด้วยเจตนาดีและมีเป้าหมายดังกล่าว ผู้ร่างจึงได้ใส่กลไกใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ ไว้มากมาย พร้อมทั้งกำหนดกรอบในเชิงสาระและเวลา ไว้ให้ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวดกวดขัน


    หลายเรื่องเป็นเรื่องดีที่ปฏิบัติได้ แต่ต้องใช้เงินทองมากมาย ซึ่งก็เคราะห์ร้าย เพราะต้องมาทำในยามที่บ้านเมืองกำลังยากจน จึงทำกันไปเท่าที่จะทำได้ ผลลัพธ์จึงยากจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย


    หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ เสียจนไม่มีใครรู้จริงว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงได้แต่ลองผิดลองถูกไปตามความเข้าใจ จนเกิดความสับสนขึ้น และบางกรณีก็มีส่วนสร้างความพิกลพิการขึ้นเสียเอง


    การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา และยังไม่เสร็จสิ้นเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีใครรู้จริง และเกิดความสับสน วุฒิสภาจึงยังไม่เกิดขึ้นจนบัดนี้ และเป็นอันแน่นอนว่าคงเกิดไม่ทัน กับกำหนดเวลาเปิดสมัยประชุม ที่กำหนดกันไว้ ยิ่งมองไปถึงการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นในเวลาไม่นานข้างหน้านี้ ยิ่งมืดมน และดูเหมือนจะหาทางออกได้ยาก


    องค์กรใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นกลไกลในการปฏิรูป ได้กลายเป็นตัวสร้างปัญหา ให้เกิดความพิกลพิการ อันยากต่อการแก้ไขเสียเอง


    ทุกคนรู้ว่ามีปัญหา บางคนก็รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แต่ยังไม่มีการร่วมมือกันคิดอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น


    ขบวนการเลือกตั้งนั้น ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่ามีปัญหา กกต.ซึ่งเป็นคนต้องปฏิบัติรู้ดีกว่าเพื่อน รัฐบาลก็รู้ สมาชิกสภาผู้แทนก็รู้ ประชาชนก็รู้ แต่ไม่มีใครยอมรับเป็นต้นคิด เพราะกลัวจะเสียรังวัดในทางการเมือง


    เราจะปล่อยให้บ้านเมือง เป็นไปตามยถากรรม ต่างคนต่างถือหลักว่า “อะไรจะเกิด ก็ปล่อยให้เกิดไป” อย่างนั้นหรือ


    ควรจะถึงเวลาหรือยัง ที่ทุกฝ่ายจะลดทิฐิมานะ ลดอัตตา ยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตน แล้วหันหน้ามาร่วมมือกันตรวจสอบ ให้รู้ถึงปัญหาทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม แล้วช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหานั้นอย่างจริงจัง ตามประสาคนไทยด้วยกัน ด้วยวิธีและตามภูมิปัญญาอย่างไทยๆ