ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ปัญหาของกฎหมายฟอกเงิน

    ตอนที่ ๑  สาระสำคัญบางประการของกฎหมาย


    ขณะนี้ผู้คนทุกวงการ กำลังสนใจเหตุการณ์เกี่ยวกับการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบุคคลหลากหลายอาชีพ มีการวิพากษ์วิจารณ์และเกิดความหวาดหวั่นกันอย่างแพร่หลาย ในอำนาจและการใช้อำนาจของ ปปง.


    การวิพากษ์วิจารณ์ หรือความวิตกกังวลต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่รู้กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินกันบ้างตามสมควร ก็อาจวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่คลาดเคลื่อน หรือวิตกกังวลเกินไป หรือน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้ เพื่อให้ต้องด้วยหลักกาลามสูตร จึงคิดว่าน่าจะลองสรุป เพื่อให้เห็นภาพรวมของกฎหมายไว้ให้ทราบโดยทั่วกัน


    แต่ต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า สิ่งที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ เป็นการบอกเล่าในภาษาง่าย ๆ เพื่อให้คนทั่วไป (ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย) พออ่านเข้าใจ และได้ใจความตามสมควร โดยไม่ล่วงลึกลงไปในปัญหาข้อกฎหมาย หรือรายละเอียดของกฎหมาย จนทำให้เข้าใจยาก เว้นแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง


    ๑. ความผิดฐานฟอกเงิน คืออะไร


    ความผิดฐานฟอกเงินได้แก่การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้


    (๑) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่ชอบ คือ

    • เพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน หรือ
    • เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ

    (๒) กระทำด้วยประการใดเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงของการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด


    ตามกฎเกณฑ์ใน (๑) นั้น ฟังดูก็น่าอุ่นใจ คือ ถ้าบังเอิญเราไปรับโอนทรัพย์สินที่ใครเขาได้มาโดยการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเรามิได้มีเจตนาจะซุกซ่อนหรือปกปิดหรือช่วยเหลือใคร ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินได้ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเราไปรับโอนมาเราจะถูกสงสัยได้ และเมื่อถูกสงสัยก็จะถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือตั้งข้อหาว่ากระทำผิดฐานฟอกเงินได้ อเมริกาเคยทำกับนักการเมืองไทยมาสองสามรายแล้ว เพราะเหตุที่ไปซื้อทรัพย์สินจากคนที่เขาสงสัยว่ามีส่วนในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติด


    ๒. ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คืออะไร


    ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ได้แก่ ทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้


    (๑) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน หรือสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำความผิดมูลฐาน


    (๒) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอน ด้วยประการใดซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑)


    (๓) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (๑) หรือ (๒)


    ทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) จะจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองหรือโอนไปเป็นของผู้ใด


    การที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ว่าจะโอนทรัพย์สินกันไปกี่ทอด ก็ยังถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้กฎหมายค่อนข้างจะน่ากลัว เช่นถ้าเราไปซื้อบ้านของใครที่สร้างด้วยเงินจากการกระทำความผิดมูลฐาน แม้บ้านนั้นจะถูกโอนกันมากี่ทอด จนผู้ซื้อรายสุดท้ายไม่มีทางรู้ได้ว่าใครเป็นคนสร้างคนแรก ก็ยังอาจถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควรได้


    ๓. ความผิดมูลฐาน ได้แก่ความผิดอะไรบ้าง


    ความผิดมูลฐาน มี ๗ ประการ ดังต่อไปนี้


    (๑) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติด


    (๒) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ในส่วนที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา


    (๓) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน


    (๔) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์


    (๕) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ


    (๖) ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชกหรือรีดเอาทรัพย์ โดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร


    (๗) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร


    ๔. มาตรการในการติดตามการฟอกเงิน


    เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามการฟอกเงิน กฎหมายจึงกำหนดให้สถาบันการเงิน และสำนักงานที่ดิน ต้องรายงานการทำธุรกรรม (ซึ่งรวมถึงการฝากหรือถอนเงิน ) ต่อ สำนักงาน ปปง. ในกรณีดังต่อไปนี้


    กรณีสถาบันการเงิน

    (๑) ธุรกรรมที่มีเงินสดตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป


    (๒) ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมีมูลค่าเกินห้าล้านบาทขึ้นไป


    (๓) ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย


    กรณีสำนักงานที่ดิน เมื่อมีกรณีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้


    (๑) เมื่อมีการชำระเงินสดเกินสามล้านบาทขึ้นไป


    (๒) เมื่ออสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเกินห้าล้านบาทขึ้นไป (เว้นแต่กรณีโอนให้ทายาทโดยธรรม)


    (๓) เมื่อเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย


    ๕. อะไรคือ “ธุรกรรม”


    “ธุรกรรม” คือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญา หรือการดำเนินการใดกับผู้อื่น ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ซึ่งรวมความว่า อะไร ๆ ที่ทำกับคนอื่นเกี่ยวกับการเงิน ธุรกิจ หรือทรัพย์สิน ล้วนเป็นธุรกรรมทั้งนั้น


    ๖. องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)


    ปปง.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการสูงสุด ผบ.ตร. เลขาธิการ ปปส. ฯลฯ ๑๒ คน มีประธานสมาคมธนาคารไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๙ คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเลขาธิการ ปปง.เป็นกรรมการและเลขานุการ (รวมทั้งหมด ๒๕ คน)


    คณะกรรมการ ปปง. มิได้มีอำนาจอะไรนอกจากการเสนอแนะและวางระเบียบรวมทั้งการติดตามประเมินผลงาน ในการดำเนินการจริง ๆ จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งมีเลขาธิการ ปปง. เป็นประธาน และผู้ซึ่งคณะกรรมการ ปปง.แต่งตั้งอีก ๔ คน


    ๗. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรม


    อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการธุรกรรม มี ๓ ประการ คือ


    ๑. ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด


    ๒. ยับยั้งการทำธุรกรรม ในกรณี ต่อไปนี้


    (๑) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ในกรณีนี้เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัย ก็มีอำนาจยับยั้งได้ไม่เกิน ๓ วัน ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วน เลขาธิการก็อาจยับยั้งไปก่อนแล้วจึงรายงานคณะกรรมการธุรกรรมก็ได้


    (๒) มีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ในกรณีต้องมีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ ก็จะมีอำนาจยับยั้งได้ไม่เกินสิบวันทำการ


    ๓. สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวไม่เกิน ๙๐ วัน ถ้าในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลแล้ว มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในกรณีเร่งด่วน เลขาธิการสั่งยึดหรืออายัดไปก่อนแล้วรายงานคณะกรรมการธุรกรรมได้


    เมื่อสั่งยับยั้ง หรือยึดหรืออายัดแล้ว คณะกรรมการธุรกรรมต้องรายงานต่อคณะกรรมการ ปปง.


    ๘. อำนาจทั่วไปของเจ้าหน้าที่


    ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจ ดังต่อไปนี้


    (๑) เรียกให้บุคคลใด ๆ (รวมทั้งส่วนราชการและสถาบันการเงิน) มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจง ส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา


    (๒) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการเก็บซุกซ่อนทรัพย์สิน เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือพยานหลักฐาน เพื่อตรวจค้น ติดตาม ตรวจสอบ ยึด อายัด ทรัพย์สินหรือพยานหลักฐาน โดยไม่ต้องมีหมายค้นก็ได้ถ้ามีเหตุรีบด่วน


    ข้อมูลที่ได้มา ถ้ามีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลหรือหน่วยงานใด เลขาธิการมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรักษา และใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น


    อำนาจดังกล่าวข้างต้น ดู ๆ ไปก็เหมือนเป็นอำนาจครอบจักรวาล แต่มีข้อสังเกตอยู่ ๒ ประการ คือ


    (๑) อำนาจเช่นว่านั้น มิใช่นึกอยากจะใช้ก็ใช้ได้ หากแต่จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย ปปง.” เท่านั้น ดังนั้น จะใช้อำนาจนี้เพื่อเก็บข้อมูลให้ใครต่อใคร แม้แต่หน่วยราชการก็ไม่ได้ และนึกจะใช้ก็ใช้ โดยไม่มีเหตุที่จะสงสัยว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ก็ไม่ได้


    (๒) เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ถ้าเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล เลขาธิการต้องรับผิดชอบในการเก็บรักษา และรับผิดชอบในการใช้ประโยชน์ หากข้อมูลนั้นรั่วไหลไป หรือมีใครนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่ชอบ ย่อมเป็นความรับผิดชอบของเลขาธิการ


    ๙. เกี่ยวกับสำนักงาน ปปง.


    (๑) สำนักงาน ปปง. เป็นส่วนราชการ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี


    (๒) เลขาธิการ ปปง. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี โดยได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา


    (๓) เลขาธิการ ปปง. อยู่ในวาระคราวละ ๔ ปี เมื่อครบวาระแล้วจะแต่งตั้งใหม่อีกไม่ได้


    (๔) คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อาจดำเนินการให้เลขาธิการออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระได้


    (๕) สำนักงาน ปปง. ไม่ได้มีอำนาจอะไรเป็นพิเศษ นอกจากการดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ปปง. และคณะกรรมการธุรกรรม คอยรับรายงานธุรกรรม แล้วรวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด (ดูมาตรา ๔๐)


    อำนาจอย่างหนึ่งที่อาจทำให้สำนักงานเกิดความเข้าใจผิดในอำนาจของตนได้ คืออำนาจที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๐ (๓) ที่บัญญัติว่า “เก็บรวบรวม ติดตาม ตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์รายงานและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรม” แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่า “การรวบรวม ติดตาม ตรวจสอบ” นั้น มิได้หมายความว่า สำนักงาน ปปง. จะเที่ยวได้มีหนังสือไปเรียกให้ใครต่อใครหรือธนาคารส่งรายงานเกี่ยวกับลูกค้ามาให้ได้ เพราะการรวบรวม ติดตาม หรือตรวจสอบดังกล่าว หมายถึงเฉพาะ การรวบรวม ติดตาม ตรวจสอบ บรรดาธุรกรรมที่สถาบันการเงินหรือเจ้าพนักงานที่ดินส่งมาให้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น


    อำนาจพิเศษของพนักงานเจ้าหน้าที่ ของ ปปง. ที่อาจกระทำได้โดยลำพังไม่ต้องผ่านคณะกรรมการ ปปง. หรือคณะกรรมการธุรกรรม มีอยู่บ้างก็จริง แต่ก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้


    (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นหนังสือ มีอำนาจยื่นคำขอต่อศาลแพ่ง เพื่ออนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงบัญชี ข้อมูลทางสื่อสาร หรือข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ แต่จะร้องขอต่อศาลได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อถือได้ว่าบัญชีลูกค้าของสถาบันการเงิน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน


    (๒) เลขาธิการอาจส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ก็จำกัดเฉพาะทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรม หรือเลขาธิการ (ในกรณีเร่งด่วน) ได้สั่งยึดหรืออายัดไว้แล้วเท่านั้น


    ๑o. กำหนดโทษ


    (๑) ความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี หรือปรับตั้งแสองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลทำผิด จะมีโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท โดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ต้องระวางโทษจำคุกเช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น


    (๒) ถ้าเป็นเจ้าพนักงาน สส. สว. สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ หรือกรรมการสถาบันการเงินฯลฯ เป็นผู้กระทำความผิดต้องรับโทษเป็น ๒ เท่า


    (๓) ถ้าเป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของ ปปง.กระทำความผิด ต้องรับโทษเป็น ๓ เท่า


    (๔) ใครก็ตามทำให้คนอื่นล่วงรู้ข้อมูลที่เลขาธิการ ปปง.เก็บรักษาไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


    (๕) ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความรับเกี่ยวการดำเนินการตามกฎหมาย ปปง. ทำให้คนอื่นรู้หรืออาจรู้ความลับนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เว้นแต่เป็นกรณีปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือตามกฎหมาย


    ตอนที่ ๒ บทวิเคราะห์และความเห็น


    ถ้ามองในแง่ของการกำราบปราบปรามการกระทำความผิดสำคัญ ๆ กฎหมายนี้ก็เป็นประโยชน์ และเป็นเครื่องมือในการติดตาม มิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล หรือเสวยสุขจากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ แต่การกระทำให้เกิดผลดังกล่าวได้ ก็ต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไว้ตามสมควร


    การที่ต้องให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ไว้ตามสมควรดังกล่าว ย่อมเป็นอีกคมดาบหนึ่ง ที่อาจหันกลับมาเชือดเฉือนประชาชนผู้สุจริต หรือถูกใช้หรือถูกมองว่าใช้ไปในทางการเมืองได้ และเมื่อเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้น ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นได้ทุกหย่อมหญ้า เพราะใครก็ตามที่ถูกสงสัยเข้า ย่อมเดือดร้อน และถ้าเรื่องเดินไปถึงขั้นมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และส่งฟ้องต่อศาลให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ก็กลับต้องมีหน้าที่พิสูจน์ความสุจริตของตน ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักในการดำเนินคดีอาญาทั่ว ๆ ไป ที่ฝ่ายกล่าวหาจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ให้ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด


    จริงอยู่ ในกฎหมายได้กำหนดมาตรการบรรเทาความเสียหายไว้ ด้วยการให้ทุกอย่างปกปิดเป็นความลับ ใครจะนำไปเปิดเผยไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่มาตรการนี้ก็เป็นดาบสองคมอีกเช่นกัน เพราะเพียงแต่สื่อมวลชนนำรายชื่อของผู้ถูกสอบมาเปิดเผยอย่างที่ทำกันอยู่ ก็อาจกลายเป็นความผิดตามมาตรา ๖๖ อันมีโทษจำคุกถึง ๕ ปี แล้ว มาตรการในการบันเทาผลร้ายดังกล่าว จึงอาจกลายเป็นการปิดมิให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนมีช่องทางในการที่จะเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้


    การที่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาสามารถมีกฎหมายทำนองนี้ได้ ก็เพราะระบบราชการ และระเบียบวินัยของผู้คนของเขา มีความมั่นคงเพียงพอ การกลั่นแกล้งกันหรือใช้อำนาจเกินเลยจึงเกิดได้ยาก แต่ในบ้านเรา ยังอยู่ห่างไกลนัก


    กฎหมายนี้จึงเป็นดาบสองคมในเกือบทุกเรื่อง


    จุดโหว่ที่อาจทำให้คมดาบอีกด้านหนึ่งมาบาดมือได้ น่าจะอยู่ที่สาระสำคัญดังต่อไปนี้


    ๑. สำนักงาน ปปง. เป็นส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี จึงอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง เมื่อเกิดเหตุใด ๆ อันไม่พึงปรารถนาขึ้น ความรับผิดชอบในทางการเมืองจึงหลีกไม่พ้นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่ามีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาสั่งการ


    ๒. คณะกรรมการ ปปง. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย โดยมีภาคเอกชนรวมอยู่ด้วย แต่ก็มิได้มีอำนาจในการวางกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรมและเลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้ให้รัดกุม โดยประกาศให้คนทั่วไปทราบล่วงหน้า การใช้อำนาจและการดำเนินการใด ๆ จึงเป็นไปตามดุลพินิจของคณะกรรมการธุรกรรม เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีทางทราบถึงแนวทางและหลักเกณฑ์การใช้อำนาจเท่าที่ควร


    ๓. กฎหมายนี้เป็นกฎหมายใหม่ การขยายความผิดมูลฐาน ให้ไกลออกไปจนครอบคลุมการดำเนินชีวิตปกติของประชาชน จึงเป็นลู่ทางในการนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนได้ง่าย ในทางที่ถูกที่ควร ควรต้องจำกัดความผิดที่สำคัญจริง ๆ ต่อเมื่อได้ทำงานไประยะหนึ่ง มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับและวางใจได้แล้ว หากมีความจำเป็นจึงค่อยขยายความผิดมูลฐานออกไป ณ ปัจจุบันผมก็ยังเห็นว่าความผิดมูลฐานควรจำกัดเฉพาะ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกในสถาบันการเงิน เท่านั้น หรือถ้าจะอยากให้คลุมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็อาจมีเพิ่มอีกความผิดหนึ่ง คือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ


    ในเรื่องนี้คงต้องยอมรับความจริงว่า ได้มีการขยายความผิดกันขึ้นในชั้นพิจารณาของวุฒิสภา โดยการสนับสนุนและผลักดันของสื่อมวลชนและองค์กรเอกชนในขณะนั้น จนสภาผู้แทนต้องคล้อยตาม


    นับตั้งแต่มีการผลักดันให้มีการร่างและเสนอกฎหมายนี้ต่อสภา ผมได้แสดงความไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด โดยเห็นว่ากฎหมายป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติดมีบทบัญญัติทำนองนี้อยู่แล้ว หากขาดตกบกพร่องอย่างไรก็แก้ไขเพื่อให้มีอำนาจขึ้น เพื่อจักได้ใช้กับกรณียาเสพย์ติดไปพลางก่อน แต่ก็ถูกสื่อโจมตีไม่น้อยว่าเป็นผู้ขัดขวางกฎหมายนี้ ครั้นมาถึงวุฒิสภา มีการแปรญัตติให้ขยายความผิดมูลฐาน ผมก็ได้แต่บอกว่ายิ่งขยายมากเท่าไรก็จะยิ่งเป็นดาบสองคมมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็จนใจที่ไม่มีใครรับฟัง เพราะมีการสร้างกระแสจนทานไม่อยู่


    ๔. แม้ว่าการแต่งตั้งเลขาธิการจะกำหนดให้สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ต้องให้ความเห็นชอบ แต่เมื่อเลขาธิการมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ จึงยากที่จะเกิดความอิสระได้ เพราะต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาในระบบราชการ ตามลำดับชั้นขึ้นไป การที่กฎหมายกำหนดให้มีวาระอยู่เพียง ๔ ปี ถ้าเป็นคนที่ยังมีอายุราชการมากกว่า ๔ ปี ย่อมต้องทำงานด้วยความระมัดระวังมิให้ขัดต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุด เนื่องจากจะต้องหวั่นเกรงว่า เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ไปอยู่ในตำแหน่งราชการอื่นที่สำคัญ ส่วนการให้ความเห็นชอบของสภาทั้งสองนั้น ก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะมีการเลือกคนที่เข้มแข็งและเที่ยงธรรม ได้


    ๕. คณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งมีอำนาจและบทบาททุกประการในกฎหมายนี้ มีเลขาธิการ เป็นประธาน และกรรมการอื่นซึ่งคณะกรรมการ ปปง.เป็นผู้แต่งตั้งอีก ๔ คน รวมเป็น ๕ คน การใช้อำนาจและดำเนินการใด ๆ จึงไม่มีการถ่วงดุลกัน เพราะเลขาธิการซึ่งสมควรเป็นผู้ปฏิบัติงานตามมติและอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของคณะกรรมการธุรกรรม มาเป็นประธานเสียแล้ว จึงเสมือนหนึ่งว่าเป็นการมอบอำนาจทั้งปวงให้แก่เลขาธิการ


    ๖. อำนาจทั้งปวงที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการธุรกรรมก็ดี เลขาธิการก็ดี ให้ไว้อย่างกว้าง ๆ นอกจากจะทำให้มีการแปลความไปในทางที่มีอำนาจโดยไม่มีขอบเขตอันจำกัดแล้ว ยังขาดหลักเกณฑ์ของขบวนการในการใช้อำนาจที่จะทำให้คนภายนอกได้รับทราบด้วย การใช้อำนาจใด ๆ จึงเสี่ยงต่อการโต้แย้งว่าไม่เป็นธรรม หรืออาจถูกมองไปในทางที่ว่ามีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในการใช้อำนาจตรวจสอบฐานะทางการเงิน ของบุคคลหลากหลายวงการในคราวนี้ สำนักงาน ปปง.อ้างว่า ตนมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา ๔๐ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีบทบัญญัติใด ๆ ในมาตราดังกล่าวมีความชัดแจ้งที่จะให้มีอำนาจเช่นว่านั้น


    เมื่อมีการใช้อำนาจตรวจสอบบุคคล ที่อยู่ในแวดวงสื่อมวลชน และองค์กรเอกชน จึงเกิดความตื่นตัว และตระหนกในอำนาจและคมดาบที่มีอยูในกฎหมาย ปปง. กันทั่วเมือง สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อและองค์กรเอกชน ย่อมมีหนทางในการที่จะทำให้เกิดความสนใจทุกวงการ ที่จะตรวจสอบความถูกต้องในการใช้อำนาจ


    จึงไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดที่สื่อจะมองไปในทางที่ว่า มีการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ในการกดดันสื่อ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเมื่อมองในแง่มุมนั้นย่อมเป็นการยากที่คนทั่วไปที่มีใจเป็นธรรมจะรับได้ แม้ว่าสื่อบางรายจะมีการกระทำบางอย่างบางประการที่ไม่สมควร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องหาลู่ทางในการดำเนินการให้มีการพัฒนามากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ปปง. ไปกดดันให้เป็นไปตามที่ต้องการ


    และเมื่อถูกมองในแง่มุมดังกล่าวเสียแล้ว ฝ่ายการเมืองจึงย่อมยากที่จะหนีความรับผิดชอบไปได้


    ดูเหมือนว่าประชาชนก็ดี สื่อมวลชนก็ดี องค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะสภาทั้งสอง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ดี ต่างล้วนมุ่งประเด็นไปที่จะหาข้อเท็จจริงว่า มีใครสั่งการให้กระทำในเรื่องนี้ ซึ่งไปในทางที่จะหาตัวผู้รับผิดชอบในทางการเมืองด้านเดียว


    จะมีใครได้นึกถึงบ้างหรือไม่ว่า เมื่อกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ มีช่องทางให้มีการใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์เดิม และสื่อหรือองค์กรเอกชนมิใช่เป็นรายแรกที่โดนเข้าเช่นนี้ ประชาชนทั่วไป ล้วนเคยผ่านประสบการณ์อย่างนี้กันมาก่อน แต่ไม่มีใครให้ความสนใจเท่าที่ควร


    เพียงลำพังการหาตัวผู้รับผิดนั้น เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ผลที่จะได้รับอย่างมากก็คือมีการดำเนินการกันทางการเมืองกันต่อไป แต่ความน่าหวาดหวั่นของกฎหมายจะยังคงมีอยู่โดยไม่ได้รับการเยียวยา


    องค์กรที่มีหน้าที่ในการผลักดันหรือตรากฎหมาย จะสมควรใช้เวลาเพื่อศึกษาว่าช่องโหว่ที่ทำให้มีการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบของกฎหมายอยู่ที่ใด หรือไม่ จะสมควรดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนั้นเสีย มิให้มีช่องโหว่อยู่อีกต่อไป หรือไม่


    ทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนทั่ว ๆ ไปมีหลักประกันว่าจะไม่ถูกใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เกินเลยไปจากที่กฎหมายตั้งใจไว้


    เพราะในที่สุดถ้ากฎหมายยังคงอยู่ในสภาพปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน สื่อมวลชน หรือผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ต่างล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และวันหนึ่งอาจประสบกับเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่นเช่นนี้ได้เช่นเดียวกัน

    มีชัย ฤชุพันธุ์