ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    หลักกาลามะสูตร

    ทุกวันนี้สังคมได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารด้วยช่องทางต่าง ๆ หลายทางด้วยกัน มีการใช้เทคโนโลยียุคใหม่ส่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นไปยังประชาชนด้วยหลากหลายวิธีจนถึงในห้องนอน และสามารถอ่าน ฟัง หรือชมได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง


    ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางด้านอินเตอร์เนท ได้ช่วยทำให้ประชาชนมีช่องทางแสดงความคิดเห็นบ้าง ระบายความอึดอัดหรือความคับแค้นบ้าง หรือแม้แต่การใช้เป็นช่องทางในการให้ร้ายป้ายสีกันอย่างสะใจบ้าง


    ประชาชนถูกกระตุ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้มีส่วนรับรู้ และแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง เรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยตัว


    ความสะดวกดังกล่าว จึงทำให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปโดยอิสระและเสรีมากขึ้น และมีลักษณะเป็นการแสดงความเห็นหรือสื่อข้อมูลถึงกันสองทาง ไม่ใช่ต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากสื่อหรือจากคนที่แสดงความเห็นผ่านสื่อแต่เพียงทางเดียวอย่างแต่ก่อน


    เมื่อวิทยาการสมัยใหม่ให้ประโยชน์ ก็ย่อมให้โทษได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ กลายเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์รุนแรง การให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือไม่เป็นความจริง รวมทั้งการกล่าวหาและใส่ร้ายด้วยถ้อยคำหยาบคาย ทั้งยังทำให้แพร่กระจายได้มากขึ้น


    การรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ประดังกันเข้ามา ถ้าขาดการไตร่ตรอง ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด นำมาซึ่งความสับสน ความเครียด และความหงุดหงิดรำคาญใจได้ง่าย


    ทั้งไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรร หรือเป็นผลดีต่อสังคมเป็นส่วนรวม


    ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตได้ว่า ผมได้เอ่ยถึงหลักกาลามะสูตร อยู่เสมอ ๆ เพื่อหวังว่าผู้คนจะได้ใช้เป็นหลักในการพิจารณารับรู้ข้อมูลบ้างตามสมควร


    ในท่ามกลางการนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากขึ้นทุกวันในเรื่องต่าง ๆ หลักกาลามะสูตรน่าจะเป็นเกราะป้องกันมิให้เกิดความสับสน และการถูกครอบงำด้วยอารมณ์หรือกระแสที่ถูกสร้างขึ้นง่าย ๆ ได้ไม่น้อย


    แต่ก็พบข้อเท็จจริงว่า มีชาวพุทธเป็นจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าหลักกาลามะสูตรมีว่าอย่างไร และบางรายรู้แต่ก็เลือน ๆ ไปไม่ได้นำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต


    วันนี้จึงขอนำหลักกาลามะสูตรมาเผยแพร่ให้ได้ทราบโดยทั่วกัน และโดยที่มีคำบาลีอยู่ด้วย ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถพิมพ์ตามแบบบาลีได้ จึงขออนุญาตพิมพ์ตามการอ่านออกเสียงของคำนั้น ๆ อ่านผิดบ้างถูกบ้างก็ขออภัยกันไว้ล่วงหน้า


    เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า


    ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกถึงนิคมเกสปุตตะของพวกเจ้ากาลามะ ชาวกาลามะได้พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามว่า ได้มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ได้สำแดง เชิดชู วาทะของตนฝ่ายเดียว แต่กระทบกระทั่งดูหมิ่นเหยียดหยามวาทะของฝ่ายอื่นให้เห็นว่าเป็นฝ่ายต้อยต่ำ ต่อมามีสมณะและพราหมณ์อีกพวกหนึ่งได้มาสำแดง เชิดชูวาทะของตนฝ่ายเดียวโดยกระทบกระทั่ง ดูหมิ่น เหยียดหยามวาทะของฝ่ายอื่นว่าเป็นฝ่ายต้อยต่ำเช่นเดียวกัน พวกตนจึงสงสัยว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าพวกตนสมควรเชื่อใคร และสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นใครพูดจริง พูดเท็จอย่างไร


    พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อชาวกาลามะทั้งหลายให้ใช้หลักวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยมิให้ปลงใจเชื่อถือ ด้วยเหตุ ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้


    (๑) มา อนุสสะเวนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะได้ยินได้ฟังอยู่เนือง ๆ


    (๒) มา ปรัมปรายะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะเป็นไปตามประเพณีสืบ ๆ กันมา


    (๓) มา อิติกิรายะ อย่าเชื่อถือตามคำที่เขาเล่าลือกัน


    (๔) มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะตรงกับตำรา


    (๕) มา ตักกะเหตุ อย่าเชื่อถือเพราะคาดคะเนเอา


    (๖) มานะยะเหตุ อย่าเชื่อถือเพราะมีนัยเทียบเคียงกันได้


    (๗) มา อาการะปริวิตักเกนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะคิดไปตามอาการที่ได้เห็น


    (๘) มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าเชื่อถือเพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎี


    (๙) มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะคนพูดน่าเชื่อถือ


    (๑๐) มา สะมะโณ โนคะรูติ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะผู้พูดเป็นสมณะหรือครูอาจารย์


    พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๑๐ ประการดังกล่าวข้างต้น แต่ให้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และโดยที่ปฐมเหตุแห่งการที่ท่านเทศนาหลักกาลามะสูตรดังกล่าว ก็เนื่องจากความแตกต่างในหลักธรรมที่มีผู้สอนผิดแผกกันไป ท่านจึงให้ไตร่ตรองว่า หลักธรรมใดที่เป็นอกุศล มีโทษ ผู้คนติเตียน กระทำอย่างสม่ำเสมอแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ให้ปล่อยทิ้งไปไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์


    แต่ถ้าหลักธรรมใดเป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้คนสรรเสริญ กระทำอย่างสม่ำเสมอแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ และนำความสุขมาให้แก่ตน ก็ให้พึงรับมาปฏิบัติได้


    หลักการดังกล่าวได้ผ่านพ้นมาสองพันห้าร้อยกว่าปี แต่ถ้าไตร่ตรองดูให้ดี จะเห็นได้ว่ายังสามารถนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบัน และใช้ได้กับทั้งศาสนจักร และอาณาจักร


    คนทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า เหตุใดขนาดเห็นกับตา ท่านจึงยังไม่ให้เชื่อไปตามนั้น (ตามข้อห้ามที่ ๗) เหตุทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่ตาเห็นนั้น จิตของเราได้คิดต่อไปถึงสิ่งที่ควรจะเป็นจากสิ่งที่ตาเห็น จิตของคนเรานั้นมีความหวาดระแวงและสั่งสมประสบการณ์และข้อมูลในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านดีและไม่ดีไว้มากมาย และจากสิ่งเหล่านั้นเองทำให้คิดถึงสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ต่อ ๆ ไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่คาดคิดจากภาพที่เห็นนั้น อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่คิดเลยก็ได้


    คงจะจำกันได้เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป ของ สส.คราวที่แล้ว มีทีวีไปถ่ายภาพครูท่านหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่นับคะแนน จากภาพที่แสดงให้เห็นถึงอาการในการหยิบบัตรก็ดี เอาบัตรวางไว้บนตักก็ดี และอากัปกิริยาอื่น ๆ ผู้ชมต่างลงความเห็นว่า มีการทุจริตด้วยการทำบัตรดีให้เป็นบัตรเสีย เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการจับได้คาหนังคาเขา แต่ครั้นพอสอบสวนทวนความเข้า ก็กลับปรากฏว่ามิได้เป็นไปอย่างที่ทุกคนคิด หรือวาดภาพไป ทุกอย่างเป็นไปโดยสุจริต และเป็นไปตามธรรมชาติของคนที่ทำงานติดต่อกันมาเป็นสิบ ๆ ชั่วโมง


    สำหรับในข้อที่พระพุทธเจ้าท่านห้ามไม่ให้เชื่อเพียงเพราะผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเพราะเป็นสมณะ หรือครูบาอาจารย์ นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คงเห็นกันแล้ว ในเรื่องการแปรสัญญาสัปทาน มีความเห็นออกมาเป็นสองฝ่ายในลักษณะที่ตรงข้ามกัน โดยแต่ละฝ่ายต่างก็ได้ศึกษาวิจัยกันมาอย่างละเอียด มีข้อมูลสนับสนุนกันเป็นตั้ง ๆ แต่ความเห็นก็กลับเป็นตรงกันข้ามกันได้ ทั้งสองฝ่ายอาจจะถูกด้วยกัน เพราะมองกันคนละแง่ หรือผิดด้วยกันทั้งคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างมองแต่เฉพาะด้าน หรือฝ่ายหนึ่งถูกและอีกฝ่ายหนึ่งผิด ก็ได้


    กล่าวโดยสรุป การเชื่ออะไรง่าย ๆ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งในสิบประการดังกล่าวข้างต้น ย่อมนำมาซึ่งความผิดพลาด ความทุกข์ ความเครียด ความสับสน ได้ การจะเชื่อในเรื่องใด จึงต้องใช้ทั้งสติและปัญญาควบคู่กันไป


    หลักดังกล่าวสามารถนำมาใช้ได้ทั้งผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป และสมณะชีพราหมณ์ทั้งปวง เพื่อให้สมกับที่เป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง มิใช่เป็นแต่เพียงชาวพุทธโดยกำเนิดหรือโดยเครื่องแบบ


    สำหรับผู้ปกครองนั้นการเชื่ออะไรง่าย ๆ ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายและเสื่อมความนิยมได้ เพราะถ้าสิ่งที่ได้รับการบอกเล่าจนพลอยเชื่อถือไปด้วยนั้น เกิดไม่เป็นความจริงขึ้นมา หรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง การตัดสินใจใด ๆ ที่ตามมาย่อมพลอยผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน จนไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการ


    ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป การเชื่ออะไรง่าย ๆ ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ ความสับสน และบางกรณีก็เกิดความขึ้งเคียด และตกเป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยให้เกิดกระแสในทางที่ผิด ในทางส่วนตัวก็อาจสร้างความเสียหายหรือเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพ หรือผู้ทุจริตได้


    ยิ่งถ้าเป็นสมณะชีพราหมณ์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังกว่าบุคคลทั่วไป เพราะโดยฐานะ ย่อมอยู่ในที่อันเป็นที่เคารพ เชื่อถือ และเป็นที่พึ่งพิงทางใจของคนทั่วไป ถ้าเชื่ออะไรง่าย ๆ และเผยแพร่ความเชื่อนั้นออกไป หากสิ่งที่ปักใจเชื่อนั้นไม่เป็นความจริง ความเสียหายย่อมเกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง และแก่สังคมเป็นการทั่วไปจนยากที่จะเยียวยาได้


    ในทางอาณาจักร นี่ก็ใกล้เวลาที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันแล้ว ในการอภิปรายเพื่อไม่ไว้วางใจกันนั้น ฝ่ายที่เปิดอภิปรายคงจะต้องนำข้อมูลต่าง ๆ มาอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นว่า คนที่อยู่ในตำแหน่งได้กระทำความผิด ความไม่ดีงาม อะไรบ้าง ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกอภิปราย ก็คงต้องงัดข้อมูลที่อีกฝ่ายหนึ่งเคยทำ หรือกำลังทำ มาเปิดเผยด้วยเช่นกัน ถ้าประชาชนเชื่ออะไรง่าย ๆ ตามที่เขาพูดกัน เราก็คงถึงกับหมดหวังในบ้านเมือง เพราะไป ๆ มา ๆ จะกลายเป็นว่าไม่มีใครดีเลย แล้วบ้านเมืองจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ในเวลาฟังการอภิปราย หรืออ่านหรือฟังรายงานจากสื่อมวลชน จึงต้องยึดหลักกาลามะสูตรไว้ให้มั่น


    ในทางศาสนจักร ขณะนี้ก็มีปัญหาการตั้งป้อมกล่าวหากันด้วยความรุนแรง เข้าลักษณะ “ทิ่มแทงกันด้วยวาจา” จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเหตุเกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนา ที่เป็นเจ้าตำรับหลักกาลามะสูตร ความหวั่นไหว ความสับสน และความทุกข์ใจย่อมเกิดขึ้นกับผู้คนทุกวงการ ส่วนใครจะทุกข์หนักเบาเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับอุเบกขาธรรมของแต่ละคนว่าจะบรรลุถึงขั้นใด ในยามนี้นอกจากหลักกาลามะสูตรแล้ว เห็นจะต้องเพิ่ม สติ ให้กำกับไว้อยู่ทุกลมหายใจ เพื่อจะได้อยู่ในวิสัยที่จะไตร่ตรองเรื่องราวต่าง ๆ ได้ด้วยปัญญาและปราศจากอคติทั้งปวง


    ไหน ๆ ก็พูดกันด้วยเรื่องสูตรของพระพุทธศาสนาแล้ว ขอแถมท้าย โกสัมพิยสูตร อีกสูตรหนึ่งก็แล้วกัน


    ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุเข้าไปกราบทูลให้ทราบว่า มีภิกษุ ๒ พวก ในเมืองโกสัมพี วิวาทกัน ต่างทิ่มแทงกันด้วยวาจา ไม่ปรองดองกัน ท่านจึงให้ไปเชิญภิกษุทั้ง ๒ พวกมาเฝ้า และเทศนาสั่งสอน ให้ภิกษุเหล่านั้นสามัคคีกัน โดยแสดงเหตุว่า ที่ทะเลาะกันนั้นก็เพราะไม่ตั้งเมตตาทางกาย วาจา ใจ ไว้ต่อกัน และได้ทรงสั่งสอนให้ยึดมั่นในสาราณียธรรม (ธรรมอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๖ ประการ คือ


    ๑. เมตตากายกรรม - จะทำอะไร ๆ ก็ให้ทำด้วยเมตตาต่อกัน


    ๒. เมตตาวจีกรรม - จะทำอะไร ๆ ก็ให้พูดด้วยเมตตาต่อกัน


    ๓. เมตตามโนกรรม - จะคิดอะไร ๆ ก็ให้คิดด้วยเมตตาต่อกัน


    ๔. แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรมให้แก่กัน ไม่หวงไว้บริโภคแต่ผู้เดียว


    ๕. เป็นผู้มีศีล คือ มีความประพฤติดีเสมอกัน ไม่รังเกียจกันเรื่องความประพฤติ


    ๖. มีความเห็นถูกต้องเหมือนกัน เป็นความเห็นที่ทำให้สิ้นทุกข์ อนึ่ง แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ต้องทะเลาะวิวาทกัน


    เมื่อมีธรรม ๖ ประการนี้อยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อการระลึกถึงกัน สร้างความรักความเคารพต่อกัน เป็นไปเพื่อการสงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน สามัคคีกัน เป็นเอกีภาพ คือ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน


    ผิดถูกอย่างไร ก็อย่าได้ถือสากัน นึกเสียว่ามีคนไปช่วยค้นหามาบอกเล่าสู่กันฟังก็แล้วกัน หากไตร่ตรองแล้วเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็นำไปใช้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ดี ไม่ต้องด้วยจริตและความเชื่อ จะทิ้งเสียก็ไม่ว่ากัน

    มีชัย ฤชุพันธุ์