ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    มหาตมะ คานธี
    มหาตมะ คานธี

    "ข้าพเจ้าคัดค้านการใช้ความรุนแรง เพราะเมื่อความรุนแรงส่งผลในด้านดี มันเป็นแค่เพียงในช่วงระยะสั้น แต่ผลเสียของการใช้ความรุนแรงนั้นคงอยู่ถาวร"    มหาตมะ คานธี

    มหาตมะ คานธี หรือ โมฮันดาส์ คานธี เกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1869 บิดาของเขาเป็นรัฐมนตรีของหลายรัฐในอินเดีย ตั้งแต่เด็ก คานธีได้รับการปลูกฝังแบบอย่างของความเป็นคนมีวินัย และการอุทิศตนอย่างเคร่งครัด มารดาของเขาซึ่งเป็นผู้ที่เคร่งในศาสนามาก มักถือศีลอดอาหารเป็นเวลานานอยู่เนืองๆ

    ความที่เป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คน เขาจึงใช้ชีวิตวัยเด็กแบบเกเร อย่างเช่น ขโมยเศษเงินไปซื้อบุหรี่ แต่ด้วยความกลัวบิดา ซึ่งเป็นนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงของท้องถิ่น เขาจึงรับสารภาพว่าตนเป็นผู้ขโมย แต่แทนที่บิดาจะลงโทษ ท่านกลับโอบกอดเขา ในฐานะที่กล้าพูดความจริง


    เขาบันทึกไว้ในชีวประวัติว่า น้ำตานั้นเป็นเหมือนที่สิ่งที่ชำระล้างความสกปรกของจิตใจออกไป ถ้าคุณสร้างวินัยแบบนี้โดยผ่านทางความรัก มันเท่ากับสร้างมนุษยธรรมขึ้นในจิตใจ


    เมื่ออายุได้ 13 ปี เพื่อทำตามประเพณีของชาวฮินดู คานธีจึงเข้าพิธีสมรสกับเด็กสาวอายุเท่ากันที่ชื่อ คาสตวา เมื่ออายุ 17 ปี คานธีทิ้งภรรยาและครอบครัวไว้เบื้องหลัง เพื่อเข้าเรียนกฎหมายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเขากลับมาอินเดีย และรับว่าความคดีแรก เขาพบว่าเมื่ออยู่ในศาล เขาไม่สามารถเปิดปากพูดต่อหน้าผู้พิพากษาได้ ด้วยความอาย เขาจึงเริ่มมองหาทางหนี และทางออกที่มีก็คือการเสนอตำแหน่งงานจากแอฟริกาใต้


    ไม่นานหลังมาถึงประเทศใหม่ ความที่ไม่ทราบว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงจองที่นั่งชั้นหนึ่งบนรถไฟไปยังเพลย์โทเนีย ผู้โดยสารผิวขาวเห็นคานธีเข้า ก็ไปต่อว่าพนักงาน และก็บอกให้ย้ายเขาไปนั่งชั้นสาม แม้ว่าเขาจะถือตั๋วชั้นหนึ่งก็ตาม แต่คานธีไม่ยอม พอถึงสถานีแรกที่รถจอด เขาก็โดนผู้คุมโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้น ถือเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลง


    สัปดาห์ต่อมาเขาจัดประชุมผู้อพยพชาวอินเดียขึ้น สิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย เขาต้องอยู่ต่อไป ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวอินเดีย และในท้ายที่สุดเพื่อสิทธิของคนผิวดำทุกคน

    ในฐานะนักกฎหมาย เขาเชื่อว่า เปลี่ยนกฎหมาย ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ดังนั้น จากปี 1893-1906 เขาทุ่มเททำงานในศาลระดับล่าง เพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่ปัญหาก็คืออังกฤษฉลาดกว่าเขามากในช่วงนั้น และทุกครั้งที่เขาเปลี่ยนกฎหมายฉบับหนึ่ง ก็จะมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาแทน เพื่อให้ความไม่เท่าเทียมกันดำเนินต่อไปในลักษณะอื่นอีก


    คานธีจึงหาทางแก้โดยใช้การรวมพลังสามัคคี เขาเริ่มพัฒนาชุมชนของผู้คน จากต่างเชื้อชาติและต่างศาสนาขึ้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เขายืนยันจะให้ปฏิบัติต่อครอบครัว ซึ่งต่อมาจะรวมถึงบุตรชายทั้ง 4 ไม่ให้ต่างจากคนอื่นๆ


    แม้เขาจะชิงชังการกดขี่ของอังกฤษ แต่จนถึงทศวรรษที่ 1906 คานธียังถือตนเป็นสมาชิกผู้ภักดีของจักรภพ ยังร้องเพลง God save the Queen (เพลงชาติของอังกฤษ) และสอนลูกๆ ให้ร้องด้วย อันที่จริงแล้วเขามีความจงรักภักดีมาก ถึงขนาดเข้าร่วมกับกองกำลังของอังกฤษในสงครามโบเออร์ เพื่อปราบปรามการลุกฮือของพวกซูลู ในปี 1906


    ประสบการณ์ในสงครามซูลูนี่เอง ที่เขาเริ่มตระหนักว่า นี่ไม่ใช่สงครามระหว่างคนสองคนเสียแล้ว แต่มันคือการสังหารหมู่ คานธีถอยหลบขณะปืนของอังกฤษสังหารกองทัพซูลู ซึ่งใช้หอกเป็นอาวุธ เขามองเห็นความรื่นเริงใจของทหารในการบุกเข้าฆ่า และเขาเก็บร่างของผู้บาดเจ็บที่นอนเกลื่อนกราดอยู่ด้วยความปวดร้าวใจ


    เขาเริ่มคิดว่าชาวซูลูถูกชาวอังกฤษกดขี่ในลักษณะนี้ เหมือนการกดขี่ในครอบครัวของตัวเอง โดยเฉพาะภรรยาของเขา ในเวลานั้น เขาเคยทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นสามีที่โหดร้าย หึงหวง และกดขี่ "ข้าพเจ้ารู้สึกผิดกับพฤติกรรมกดขี่เยี่ยงนี้นัก ข้าพเจ้ารู้สึกผิดต่อชีวิตสมรสของตัวเอง ต่อความสัมพันธ์ของคาสตวา" เขาคิดว่ามีวิธีเดียวก็คือ ต้องบังคับความต้องการของตน จึงจะรับใช้เพื่อนมนุษย์ได้ดีที่สุด ด้วยวัย 37 ปี เขาปวารณาตนเพื่อถือเพศพรหมจรรย์ตลอดไป


    ในปี 1906 กฎหมายใหม่ กำหนดให้ชาวอินเดียทุกคน จะต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ข้อบังคับนี้รวมถึงการให้หญิงชาวอินเดีย ต้องเปลื้องผ้าต่อหน้าตำรวจผิวขาว เพื่อกรอกตำหนิรูปพรรณลงในทะเบียนด้วย ด้วยความโกธรแค้น ชาวอินเดียสามพันคนมาพบกันในโยฮันเนสเบิร์ก เพื่อวางแผนการตอบโต้


    คานธีไม่เคยนึกถึงการเข้าคุกมาก่อน แต่ก็รู้โดยสัญชาตญาณว่านี่แหละ คือวิถีทางที่ถูกต้องแล้ว เขาลุกขึ้นแล้วก็พูดว่า "เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าว่า เราจะเข้าคุก และเราจะอยู่ในนั้น จนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน"


    คำพูดของเขาจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่ เป็นประวัติการณ์ของมวลชนซึ่งไม่ได้กะเกณฑ์มาก่อน ผู้ประท้วงกระทำตามอย่างคานธี พวกเขาอดทนต่อการทุบตีของตำรวจ ยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญโดยไม่ตอบโต้


    คานธีรับรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่า เมื่อหัวใจของมนุษย์ปิด คุณก็ไม่อาจสัมผัสความคิดของเขาได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เหตุผลกับคนเหล่านี้ จิตใจของเขาด้านชา ถ้าเหตุผลยังไม่พอ ความรุนแรงก็ไม่ดี แล้วคุณจะทำอย่างไร เขาค้นพบวิธีต่อต้านแบบอหิงสาเป็นครั้งแรกที่แอฟริกาใต้นี่เอง คุณยืนหยัดต่อต้านผู้กดขี่ บอกเขาว่าคุณจะไม่ยอมแพ้ แต่พร้อมกันนั้นคุณก็ให้ความมั่นใจว่าคุณจะไม่ทำร้ายเขา


    คานธีใช้คำว่า "สัตยาคฤห" (Satyagraha) ซึ่งเป็นการสมาสคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า "ความจริง" คำหนึ่ง และ "การตามหา" คำหนึ่ง เพื่ออธิบายแนวคิดในการปฏิวัติของเขา เป้าหมายของอหิงสาเก่าแก่เท่าๆ กับปรัชญาของมนุษย์ ความเข้าใจของคานธีก็คือ ต้องประยุกต์แนวคิดนั้นให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริง เขารู้สึกว่าการที่จะปฏิบัติตามลัทธิอหิงสาที่แท้จริงนั้น ในจิตใจต้องมีการพัฒนาสันติภาพ หรือมีเมล็ดพันธุ์แห่งการประนีประนอมให้เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีสิ่งนี้ เราจะมีอหิงสาได้อย่างไรกัน


    ในปี 1913 นายพลยาสมัสต์ ผู้บัญชาการทหารอังกฤษในแอฟริกาใต้ ได้ออกกฎหมายที่กำหนดว่า การแต่งงานของชาวฮินดูและมุสลิมถือเป็นโมฆะ ทำให้คานธีก้าวเข้าสู่การต่อต้านในวงกว้างยิ่งขึ้นโดยไม่ตั้งใจ


    ตามประเพณีแล้ว ผู้หญิงอินเดียจะต้องอยู่แต่ในบ้าน แต่คานธีก็โจมตีธรรมเนียมนั้นว่า เป็นกดขี่รูปแบบหนึ่ง แล้วเรียกร้องให้ผู้หญิงมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมเคียงบ่าเคียงใหล่กัน ในการกล่าวปราศรัยอันจับใจครั้งหนึ่ง คานธีสามารถปลดปล่อยสตรีนับล้านให้เป็นอิสระ และเป็นพลังเสริมอย่างใหม่ให้แก่มวลชนของเขาด้วย


    กฎหมายสมรสใหม่นี้ ก่อให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ คนงาน 50,000 คนไม่พอใจ แล้วพากันหยุดงาน ทำให้นายพลยาสมัสต์เกิดความลังเลใจ และยกเลิกกฎหมายนั้นไป คานธีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพลังมวลชนสามารถเอาชนะการบีบบังคับได้

    ด้วยความกระตือรือร้นที่จะท้าทายอำนาจของอังกฤษในบ้านเกิดของตน ในปี 1915 ขณะอายุได้ 45 ปี เขากลับมายังอินเดีย ซึ่งเวลานั้นถูกกดอยู่ภายใต้แอกของลัทธิจักรวรรดินิยม เป็นเวลา 2 ศตวรรษที่อังกฤษได้ปล้นทรัพยากรธรรมชาติของอินเดียไปอย่างเป็นระบบ เมื่อถูกกวาดเอาวัตถุดิบไปหมด อุตสาหกรรมในประเทศจึงค่อยๆ ตายลง อินเดียเป็นปราการใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด และสร้างผลกำไรที่ดีที่สุดในเครือจักรภพ อังกฤษฉุดอินเดียให้ตกต่ำลงจนถึงขีดที่ว่า อินเดียไม่สามารถผลิตแม้กระทั่งเข็มกลัดอันเล็กๆ ได้


    ก่อนปี 1915 ชาวอินเดียสามร้อยล้านคน ต้องก้มหัวให้ชาวอังกฤษจำนวนเพียงแสน ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ใดที่คนเพียงหยิบมือจะปกครองคนจำนวนมากถึงเพียงนี้ ในดินแดนห่างไกลเช่นนี้ ด้วยความสิ้นหวังที่จะคืนสู่เสรีภาพ ชาวอินเดียในสภาพทาส จึงเป็นได้เพียงทหารและตำรวจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับนายผิวขาวของตนเอง


    คานธีชักชวนให้ประชาชนต่อต้าน โดยบอกแก่คนเหล่านั้นว่า "คนที่ประพฤติตัวเยี่ยงหนอน จึงสมควรถูกเหยียบย่ำ เราจะต้องเรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง เราเป็นทาสมานานจนต้องรู้จักลุกขึ้นสู้กับตัวเองเสียบ้าง จงกำจัดความคิดที่จะพึ่งพาผู้อื่นหรือใช้การติดสินบน แทนที่จะใช้ความกล้าหาญ เราจะไม่อาจต่อสู้กับรัฐบาลได้ถ้าเราไม่เรียนรู้การต่อสู้กับตัวเอง"


    อีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษผลักไสประชาชนให้เข้าเป็นฝ่ายคานธี โดยการโหมกระพือความคิด


    ในปี 1919 คานธีต่อต้านกฎหมายใหม่โดยปลุกระดมประท้วงขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่เขาประสานงานกับกลุ่มผู้ประท้วงจากบอมเบย์ ซึ่งห่างขึ้นไปทางเหนือหลายร้อยไมล์ ชาวอินเดีย 2,000 คน ก็มารวมตัวกันในลานหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองอำมริสา พวกเขาไม่รู้ว่าสองวันก่อนหน้านั้น นายพลเรจินอลล์ ดายเออร์ ได้ออกกฎสั่งห้ามการชุมนุม โดยไม่มีการเตือนให้รู้ นายพลดายเออร์ ส่งกำลังทหารอินเดีย 50 นายไปยังลานชุมนุม และสั่งให้ใช้ปืนไรเฟิลยิง มีคนตาย 379 คน และบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 คน เหตุผลเดียวที่เขาพวกหยุดยิงก็คือ กระสุนหมด พวกเขาบอกว่าถ้ายังมีกระสุนอีก ก็จะยิงเข้าใส่ฝูงชนต่อไป ยิงประชาชนให้ตายเพื่อให้บทเรียนแก่ชาวอินเดียว่า ห้ามแข็งข้อต่ออังกฤษและจงยอมแพ้ซะเถิด


    นายพลดายเออร์ ออกกฎหมายอันน่าชิงชังรังเกียจขึ้น 1 ฉบับ ไล่หลังการสังหารหมู่ นั้นก็คือ คนอินเดียมีทางเลือก 2 ทาง ถ้าไม่ค้อมตัวลงคลานเยี่ยงหนอน ก็ต้องถูกโบยจนตาย

    เหตุการณ์สังหารหมู่ที่อำมริสา ในปี 1919 สร้างความหวาดหวั่นว่าจะเกิดการนองเลือดขึ้น ระหว่างคนอังกฤษกับคนอินเดีย ซึ่งต้องการจะแก้แค้น แต่คานธีก้าวเข้ามาแล้วพูดว่า "เราจะไม่ทำต่ออังกฤษ เหมือนเช่นที่นายพลดายเออร์ทำต่อเรา เราต้องแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถวางตัวพ้นจากความรู้สึกเกลียดชังเช่นนั้น พวกเขาไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นเพื่อน พวกเขาก็ต้องการปลดปล่อยมากเท่าๆ ที่พวกเราต้องการเหมือนกัน" "ควรยกย่องความกล้าหาญที่เงียบสงบของการตาย โดยการไม่ฆ่า"


    3 ปีต่อมา คานธีได้เปลี่ยนนักชาตินิยมอินเดีย ให้กลายเป็นพลังมวลชน เขาได้แปรความรู้สึกโกธรแค้นจากเหตุการณ์ที่อำมริสา ให้กลายเป็นความสามัคคีของชาวฮินดูและมุสลิม กรรมกร และพ่อค้า และเขาชนะใจประชาชนอินเดีย ด้วยการทำตัวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าง่ายๆ แบบเดียวกัน อดมื้อกินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับผู้ยากจนที่สุด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเอง คานธีชักชวนชาวอินเดียให้สวมเครื่องแต่งกายในแบบเรียบง่ายของอินเดีย และให้ทอผ้าขึ้นใช้เอง เสื้อผ้าที่ผลิตจากตะวันตกถูกนำมาเผารวมกันเป็นกองใหญ่ เขาว่า “เสื้อผ้าของต่างชาติบ่งบอกว่าเราเป็นทาสทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก เราไม่อาจปลดปล่อยตัวเองจากความเป็นทาส การเผาเสื้อผ้าของต่างชาติ จึงเป็นการฟอกจิตใจของพวกเรา”


    คานธีใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อปั่นด้ายเอง ผู้นำชาวอินเดียคนอื่นได้แต่ประหลาดใจกับความประพฤติเช่นนี้ ท่ามกลางสภาวะวิกฤตในชาติเยี่ยงนี้ แต่เขานั่งอยู่ที่เครื่องปั่นด้าย ทว่าคานธีมองทะลุถึงความสำคัญพื้นฐานนั้น ว่าเป็นการเชื่อมโยงกับมวลชน วัตรปฏิบัติของเขาในฐานะผู้นำชาวอินเดีย ทำให้เขาผู้นำที่ไม่มีใครเคลือบแคลงเป็นเวลานานถึง 25 ปี


    ในขณะที่มือข้างหนึ่งเปิดฉากการปฏิวัติ แต่อีกข้างหนึ่งก็ต้องปกป้องพวกพ้องไม่ให้พ่ายต่อความต้องการก่อเหตุนองเลือด หลายครั้งที่คานธียกเลิกการชุมนุม เมื่อเหตุการณ์ทำท่าจะบานปลายเป็นความรุนแรงของประชาชนในประเทศ ในฐานะผู้นำทางการเมือง คานธีได้แสดงให้เห็นว่า ท่าทีอหิงสา สามารถใช้ให้เกิดผลทางการเมืองได้ แต่ละครั้งก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อใดที่ขวัญกำลังใจของคนกล้าแข็ง เขาก็จะไม่ทำให้สูญเสียไป และมันจะสูญเสียไป ถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้นในหมู่มวลชาวอินเดีย
    ทว่าหน้าที่ต่อส่วนรวมของเขา แลกมาด้วยราคาแพง บุตรชายทั้ง 4 ของคานธี มักรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอยู่เสมอ และไม่พอใจที่พ่อหายไปอยู่ในคุกเป็นเวลานาน บุตรชายคนโตแสดงความเป็นปฏิปักษ์ ในลักษณะที่ทำให้พ่อต้องปวดร้าวใจ โดยกลายเป็นคนติดเหล้าและขายตัว


    ในปี 1930 ขณะอายุได้ 62 ปี คานธีวางแผนการใหม่ ที่จะต่อต้านการเก็บภาษีซึ่งไม่เป็นธรรม ภาษีที่อังกฤษเรียกเก็บจากเกลือ
    การทำเกลือ หรือการขายเกลือของชาวอินเดียถือว่าผิดกฎหมาย กิจการนี้สงวนไว้ให้สำหรับคนต่างชาติทำ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่การประท้วงครั้งนี้ เขาวางแผนจะเดินเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ ไปยังทะเลอาหรับ เพื่อไปทำเกลือที่นั้น พวกพ้องของเขาในสภาคองเกรซของอินเดีย ต่างอ้อนวอนให้เขาทบทวนแผนการครั้งนี้ใหม่ เกลี้ยกล่อมว่าแผนการนี้อาจจะล้มเหลว รัฐบาลอังกฤษมั่นใจว่า ศัตรูเก่าของตนกำลังถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด

    วันที่ 12 มีนาคม 1930 คานธีพร้อมด้วยสาวกจำนวน 80 คน เริ่มต้นการเดินทางซึ่งกลายเป็นความสนใจของชาวโลก และเปลี่ยนแปลงวิถีทางแห่งประวัติศาสตร์ ขบวนของคานธีเดินได้เพียงวันละ 10 ไมล์ และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมด้วย และมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาที่อินเดียเพื่อทำข่าวนี้เป็นคนแรก เมืองชายฝั่งที่ใกล้ที่สุดคือเมืองพาราณาสี ผ่านไป 24 วัน เขาเดินทางผ่านหมู่บ้านนับพันๆ แห่ง ขบวนของเขากลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงขนาดใหญ่ และทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ไม่เพียงแต่คนทั่วทั้งอินเดียจะเข้าร่วม แต่ทั้งโลกก็เอาใจช่วยเช่นกัน


    เมื่อขบวนของคานธีถึงชายฝั่งมหาสมุทรในวันที่ 6 เมษายน มีชาวอินเดียหลายแสนคนเข้าร่วม คานธีก้มลงหยิบเกลือขึ้นแล้วพูดว่า "ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรากันเถิด" และการตอบสนองเป็นไปราวกับประกายไฟ ทั่วทั้งประเทศไม่ว่าพ่อค้า ชาวนา แม่บ้าน ต่างพากันทำเกลือ และขายเกลือกันอย่างเปิดเผย


    คนหลายพันถูกจองจำ รวมทั้งคานธีด้วย ตำราจทุบตีผู้ประท้วงอย่างโหดเหี้ยม สร้างความโกธรแค้นและความสามัคคีขึ้นในหมู่ชาวอินเดียมากยิ่งขึ้น คานธีรู้ดีว่าการใช้วิธีต่อต้านแบบอหิงสา จำเป็นต้องแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น จึงจะดึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวมนุษย์ออกมาได้ เขาสอนให้ชาวอินเดียรู้จักต่อต้านผู้กดขี่ และต่อสู้กับตัวเองด้วย


    ภายใต้ความกดดันจากนานาชาติ ลอร์ดเออร์วิน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษจึงยอมปล่อยตัวคานธี และเชิญเขามาเจรจา

    ในปีถัดมา คานธีเดินทางไปลอนดอน เพื่อร่วมประชุมเรื่องอนาคตของอินเดีย ที่ลอนดอน คานธีสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนเป็นผลสำเร็จอย่างงดงาม เขาอาศัยอยู่กับคนยากจนในเขตอีสต์เอนส์ ได้รับความชื่นชมทุกหนทุกแห่งที่ไป เมื่อได้รับเชิญไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ที่พระราชวัง คานธีถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้าเฝ้ากษัตริย์ด้วยชุดโสร่ง เขาตอบว่า พระมหากษัตริย์ก็สวมชุดที่เหมาะกับเราทั้งสองเช่นเดียวกัน


    เขากลับมาอินเดีย และแพร่ข่าวโดยผ่านทางการประชุมสวดประจำวัน "ข้าพเจ้ากำลังขอร้องต่อบิดาแห่งชาติของเรา ให้ท่านมีเมตตา มีความรัก เห็นความจริงและงดใช้ความรุนแรง ขอจงประทานพรแก่พวกเรา เสรีภาพอันสมบูรณ์เท่านั้นคือสิ่งที่เราต้องการ"

    คานธียอมรับว่า อัตตาคือจุดบกพร่อง และบางครั้งความชื่นชมบูชาของมวลชน ก็ทำให้เขาคึกคะนอง อย่างไรก็ดี ความวินัยอันเคร่งครัด ทำให้เขาเอาชนะความรู้สึกนั้นได้ หลานชายของคานธีเคยเล่าว่า “จำได้ว่าหลายครั้งที่ผมเดินทางไปกับท่าน ตามสถานีรถไฟทุกแห่ง ก็จะมีผู้คนเป็นพันๆ มาร้องตะโกน คานธีจงเจริญ คานธีจงเจริญ และจะร้องอยู่อย่างนั้นจนรถไฟแล่นผ่านไป ผลจากเสียงร้องพวกนั้น ทำเอาท่านนอนไม่หลับเลย”


    ในเดือนสิงหาคม ปี 1942 คานธีเรียกร้องการประกาศอิสรภาพโดยทันที "นี่คือคำสวดเป็นคำสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าจะมอบแก่ท่านอยู่หรือตาย เราจะปลดปล่อยอินเดียหรือมิฉะนั้นก็ยอมตาย" และในคืนวันที่คานธีประกาศอิสรภาพนั้นเอง เขาและสมาชิกสภาคองเกรซทั้งหมดก็ถูกจับกุม ด้วยวัย 73 ปีและด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรม เขาจะต้องนำการปฏิวัติในอีก 2 ปี จากในคุก


    ในปี 1944 ภรรยาของเขา คาสตวา คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมา 62 ปี เสียชีวิตในอ้อมแขนของเขา คานธีเศร้าเสียใจอย่างหนัก


    คานธียังคงยึดมั่นในหลักการของตนเอง และขอร้องให้คนอื่นทำแบบเดียวกัน แม้ในช่วงที่เจรจากับผู้สำเร็จราชการ ลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น คานธีก็ยังคงปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 วัน


    1 ปีให้หลัง อังกฤษซึ่งอ่อนแรงลง ยอมรับว่าตนไม่สามารถปกครองอินเดียอีกต่อไปได้ ทว่าอนาคตของชาติใหม่ ปรากฏความขัดแย้งให้เห็นอยู่เบื้องหน้าแล้ว ชาวฮินดูและมุสลิม คู่แข่งอันยาวนาน หันมาเกลียดกันอย่างเปิดเผย ชาวมุสลิมส่วนน้อย ยืนยันจะแยกตัวออกไป (กลายเป็นประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) หลังจากอุทิศมาชั่วชีวิต เพื่อรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่คานธีกลับต้องเห็นบ้านเกิดอันเป็นที่รัก ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน


    โดยลอร์ดเมาท์ แบดเทริส์น แบ่งแยกอินเดียออกเป็น 2 ประเทศ ด้วยการก่อตั้งรัฐปากีสถาน


    วันที่ 14 สิงหาคม 1947 อินเดียก็ฉลองอิสรภาพของตน แต่คานธีมองเห็นความแตกแยกระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม เขาถามเพื่อนของเขาว่า "เหตุใดคนเหล่านั้นจึงยินดี ข้าพเจ้ามองเห็นแต่เลือดนองแผ่นดิน"


    การแบ่งแยกก่อให้เกิดการอพยพขนานใหญ่ในทันที ชาวฮินดูข้ามมายังอินเดีย ชาวมุสลิมหนีเข้าไปในปากีสถาน ผู้คนอพยพหลายแสนคน เดินเท้าอย่างหมดสิ้นหนทาง โดยปราศจากอาหารและน้ำ ผู้คนของ 2 ศาสนา ประสบหายนะจากความอดอยาก แบ่งแยกกันจากความเป็นปรปักษ์แต่โบราณ การต่อสู้นองเลือดก็เกิดขึ้น ฮินดูและมุสลิม ระเบิดความเกลียดชัง เป็นการสังหารหมู่ ทั้ง 2 ฝ่ายกระทำลงไปด้วยความกลัวและความโกรธ


    ท้ายที่สุดผู้คนจำนวนครึ่งล้านคือผู้สูญเสีย คานธีรู้สึกว่าตนไม่อาจเปลี่ยนประชาชนให้ใช้ความอหิงสาได้ ผู้ใกล้ชิดคานธีเล่าว่า “ท่านเสียใจมาก ท่านบอกว่าท่านมองไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความมืดมนอยู่ทุกหนแห่ง ผู้คนกระทำตัวเหมือนสัตว์ป่า ท่านบอกว่าแย่เสียยิ่งกว่าสัตว์เสียอีก เพราะว่าสัตว์ป่าไม่ฆ่าพวกเดียวกันเอง ท่านบอกว่าข้าพเจ้าจะอดอาหารประท้วง จนกว่าการเข่นฆ่าจะหยุดลงไป จนกว่าฮินดูและมุสลิมจะเป็นพี่น้องกัน”


    พวกหัวรุนแรงชาวฮินดูไม่พอใจวิธีการอหิงสาของคานธี และความต้องการที่จะให้ชาวฮินดูและมุสลิมอยู่ร่วมกัน


    คานธีมีความอับอายต่อพรรคคองเกรซของเขาเอง เขาตำหนิมันและเพื่อนของเขา 'โยฮาราน เนรู' นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียเอกราช เขาล้มป่วยจากความวุ่นวายซึ่งกำลังทำลายอินเดีย


    คานธีเริ่มอดอาหารประท้วง มีความโกรธแค้นมากในหมู่ผู้อพยพในตอนนั้น ผู้ที่เดินขบวนร้องว่า 'คานธีจงลงนรก ปล่อยให้คานธีตายไป ให้เขาตายไปไปลงนรกซะ' พอวันที่ 2 ก็เริ่มมีผู้คนที่คัดค้านฝ่ายแรก และวันที่ 3 ฝ่ายคัดค้านก็เริ่มใหญ่ขึ้น และกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านคานธีก็เล็กลง วันที่ 4 แนวโน้มก็ยังเป็นเช่นนั้นต่อไป จนในที่สุดทั่วทั้งถนนนั้นก็มีแต่ผู้เชียร์คานธี และ 1 สัปดาห์ผ่านไป พวกมุสลิมก็สามารถจะเดินออกไปในท้องถนนของกรุงเดลีได้อย่างปลอดภัย การอดอาหารประท้วงของคานธีช่วยชาวนิวเดลีเอาไว้ แต่ที่พรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน สงครามกลางเมืองยังคงร้อนระอุ

    คานธีออกจาริกเพื่อสันติภาพข้ามดินแดน ซึ่งแตกแยกเพราะความเกลียดชัง เขาเดินเท้าเปล่าจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง อดทนต่อฝูงชนผู้โกรธแค้น มีการขวางปาหนามเข้าใส่ทางเดิน คานธีจะตื่นขึ้นเวลาตีสี่ของทุกเช้า เพื่อต่อสู้กับคลื่นแห่งการนองเลือด


    คงไม่มีชาวอินเดียคนใด จะไม่รู้สึกละอายและภาคภูมิใจ ละอายที่คานธีถูกเหยียบย้ำอย่างถึงที่สุด จากชาวอินเดียด้วยกัน และภูมิใจที่ว่า ในท่ามกลางเขาเหล่านั้น ขณะช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทมิฬ คนๆ หนึ่งยืนหยัดขึ้น เพื่อทำให้พวกเขาภาคภูมิที่เกิดเป็นชาวอินเดีย คนซึ่งชดใช้หนี้ให้พวกเขาทำนองเดียวกับพระเยซูคริสต์ และตอนนั้นเองที่คานธีพูดว่า "ไม่มีอะไรอื่นนอกจากโหดร้ายรอบกายข้าพเจ้า ชีวิตข้าพเจ้าต้องพ่ายแพ้ มีแต่ความตายจึงจะทำให้สิ่งที่ชีวิตข้าพเจ้าไม่อาจทำสำเร็จบรรลุผลขึ้นได้"


    เขาเดินทางต่อไปโดยไม่มีการคุ้มกัน เข้าไปในเขตที่สถานการณ์ล่อแหลมที่สุด แล้วก็กล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้าอาจจะตายโดยน้ำมือของผู้ลอบสังหาร และถ้าเป็นอย่างนั้นให้จำไว้ว่า ข้าพเจ้ายอมรับลูกกระสุนนั้นอย่างกล้าหาญ ด้วยพระนามของพระเป็นเจ้า และเมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะเชื่อว่าตนคือ มหาตมะ อย่างแท้จริง"


    การประชุมสวดมนต์กลายเป็นวิธีปลดปล่อยของเขาทุกวัน และตำรวจขอว่าให้เราค้นตัวผู้คน แต่คานธีว่า “ไม่ พระเจ้าจะปกป้องฉัน ไม่ต้องค้นตัวใคร ปล่อยเขาเข้ามา” "หากมีการนองเลือด ปล่อยให้เป็นเลือดของฉัน เพราะคนจะมีอยู่ชีวิตอย่างอิสระ หากพร้อมที่จะตายถ้าจำเป็นด้วยมือของพี่น้องของเขา"

    ในที่สุดแผนลอบสังหารคานธีก็อุบัติขึ้น ด้วยความคาดไม่ถึง ตำรวจไม่บอกคานธีถึงการจับกุม และคำสารภาพของผู้ก่อการคนหนึ่งเรื่องความพยายามลอบสังหารเขาที่ล้มเหลวครั้งก่อน


    วันที่ 30 มกราคม 1948 คานธีในวัย 78 ปี เดินเข้าไปในที่ประชุมสวดประจำวัน ในสวนเวอริฮาทร์ กรุงนิวเดลีย์ ท่ามกลางฝูงชนนั้นเอง ชายชาวฮินดูคนหนึ่ง “นาฮูราน กอสซี่” วัย 36 ปี ก้าวออกมาก้มลงคารวะคานธี แล้วพูดว่า “ท่านมาสายสำหรับการสวด” คานธีก็พูดว่า “ใช่ฉันมาสายไป มาสายจริงๆ” แล้วกอสซี่ชักปืนเล็กๆ ออกจากเสื้อเชิ้ตของเขา แล้วยิงปืนใส่คานธี 3 นัด กระสุนเจาะทะลุท้องของมหาตมะ และอีกนัดหนึ่งที่หน้าอก เขาไม่แสดงถึงความประหลาดใจหรือความเจ็บปวด ขณะสุดท้ายก่อนความตายจะพรากเขาไป คานธีพนมมือในลักษณะสวดมนต์แล้วพึมพรำคำว่า "ราม" พระผู้เป็นเจ้าในภาษาอินเดีย


    โลกของอินเดียเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง เมื่อไม่มีมือที่เยือกเย็นของมหาตมะ คานธี ความประนีประนอมทางเชื้อชาติก็จางหายไป
    กอสซี่ และผู้สมคบคิด 9 คน ก็ถูกขึ้นศาล เขาเสนอถ้อยแถลงยาว 92 หน้า ซึ่งเขาเรียกคานธีว่าผู้ทรยศ พลังที่เลวร้าย ซึ่งจะทำให้มุสลิมขึ้นมาเป็นใหญ่ในอินเดีย กอสซี่ ถูกตัดสินว่ามีความผิด และถูกแขวนคอที่อัมบารา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1949 ผู้สมคบคิดคนที่สองก็ถูกแขวนคอ และคนอื่นๆ ถูกจำคุกตลอดชีวิต


    อินเดียทั้งประเทศคร่ำครวญนาน 13 วัน ความเศร้าโศกและตื่นตระหนกจากการสังหารคานธี ดึงอินเดียให้หลุดออกจากความบ้าคลั่ง ความรุนแรงยุติลงเพียงชั่วข้ามคืน ผู้คนนับล้านต่างหลั่งไหลมายังกรุงเดลี เพื่อให้ได้อยู่ใกล้เขา ตลอดทั้งคืนนั้น ฝูงชนประมาณ 3-4 ล้านคน ติดตามร่างของเขา จนมาถึงลานเผาศพ


    การต่อสู้โดยไม่ใช่ความรุนแรงได้ปลดปล่อยอินเดียให้เป็นอิสระ และนับจากนั้นอีก 50 ปีต่อมา อหิงสาได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลก ดังที่มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ ได้กล่าวไว้ว่า "พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า คานธีมอบวิธีการ"


    "ท่ามกลางความตาย ชีวิตยังคงอุบัติขึ้น ท่านโปรยความเท็จ ความจริงก็ยังคงอุบัติขึ้น ท่ามกลางความมืด แสงสว่างยังคงอุบัติ ด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าถือว่าพระเป็นเจ้าคือชีวิต คือความจริง คือแสงสว่าง พระองค์คือความรักและความดีอันสูงสุด"   มหาตมะ คานธี

    "มีกฎหมายที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ฉบับหนึ่ง ที่ปกครองทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกผู้ที่เกิดขึ้นและมีชีวิตอยู่ ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธกฎหมายหรือผู้ให้กฎหมายนั้น เพราะข้าพเจ้ารู้จักสิ่งเหล่านั้นน้อยมาก พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงปกครองจิตใจและเปลี่ยนแปลงมัน ผู้ที่ตระหนักถึงความมีอยู่จริงอันแท้จริงของพระองค์ จึงจะรับรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ"  มหาตมะ คานธี


    1 พฤศจิกายน 2548