ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    กิจกรรม - สัมภาษณ์
  • สัมภาษณ์คนดัง
  • คำสำคัญ
     
     
    สัมภาษณ์คนดัง

    นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

    แล้วชื่อของ ชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ก็ติดอยู่ในกลุ่มของสตรีเหล็กทันที กับตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ที่มีภาระอันสำคัญจาก โครงการบ้านเอื้ออาทร ให้เป็นผู้รับผิดชอบและนำพาโครงการบ้านเอื้ออาทรไปสู่ความสำเร็จ โดยได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มอบหมายให้การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผ็มีรายได้น้อยในทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งข้าราชการ พนักงานหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นธุรกิจขนาดย่อม

    คุณชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ในวัยเยาว์นั้น จบการศึกษาที่โรงเรียนอัมพรไพศาล หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จึงได้เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ในด้านสถิติและวิจัย หลังจากนั้นจึงคว้าปริญญาระดับมหาบัณฑิต ด้านพัฒนาเศรษฐกิจ และเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ตั้งแต่ ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน

    “สำหรับจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานที่การเคหะแห่งชาติ ต้องบอกว่าเป็นความบังเอิญ เพราะตอนเรียนปริญญาโทได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจกับแหล่งเสื่อมโทรม” ซึ่งถือว่าเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรก ที่พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามแผนพัฒนากับการเกิดแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งในขณะนั้นได้ทำบทสรุปไว้ว่า ถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่เกิดการกระจายรายได้ให้ถูกต้อง ก็เกิดแหล่งเสื่อมโทรมทั่วไป ตามหลักการทำวิทยานิพนธ์ทุกเล่มนั้นต้องมอบให้ทางสถาบันที่ศึกษา แล้วได้มอบให้ท่านอาจารย์มาลัย หุวะนันท์ ซึ่งเป็นคุณพ่อของเพื่อน ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีนิด้า ก่อนจะมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ดูแลการเคหะแห่งชาติ พอท่านได้อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เห็นว่ามีประโยชน์กับการเคหะแห่งชาติมาก ก็เลยให้มาทำงาน โดยให้ไปสมัครงานกับคุณวทัญญู ณ ถลาง ซึ่งเป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติในขณะนั้น เข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน เริ่มตำแหน่งแรกอยู่ที่ห้องวิจัย ตำแหน่งเศรษฐกรโท ทำหน้าที่เกี่ยวกับสถิติ และการวิจัยโดยตรง ในตอนนั้นการเคหะพึ่งก่อตั้งได้ไม่กี่เดือน มีพนักงานแค่ประมาณ 200 คน ถือว่าเป็นรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน”

    สำหรับหน้าที่ ที่ทำให้ประชาชนจดจำชื่อของเธอได้อย่างชัดเจน ก็คือ การได้รับมอบหมายโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวนรวมทั้งสิ้น 601,727 หน่วย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2546–2550

    “การออกแบบโครงสร้างบ้านเอื้ออาทร ได้พิจารณากำหนดที่ตั้งโครงการให้สอดคล้องและทิศทางของการพัฒนาเมือง โดยคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้การออกแบบซึ่งคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพ รวมถึงเป็นการสร้างชุมชนที่มีคุณภาพ ประกอบด้วยที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมพร้อมระบบสาธารณูปโภค โดยทางการเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดรูปแบบชุมชน 2 ลักษณะ ชุมชนบ้านเอื้ออาทรในเขตเมือง หรือศูนย์กลางย่อยของเมือง ที่อยู่ใกล้ย่านธุรกิจ และในเขตชานเมือง และมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้บรรลุถึงเป้าหมาย”

    “ตั้งแต่เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ทำงานมาทุกตำแหน่ง ทำงานตั้งแต่ตำแหน่งเล็กที่สุด เรียกว่าผ่านมาทุกตำแหน่ง เราได้ข้อคิดในการทำงานว่า เราต้องทำงานเป็นทีม ทุกคนต้องร่วมมือกันในเรื่องของความคิด งานทุกอย่างจะสำเร็จได้ ไม่ใช่เป็นเพราะว่าบุคคลใดคนหนึ่ง แต่ว่าสำเร็จเพราะว่าทุกคนช่วยกัน ผลงานที่ได้จึงเป็นของทุกคนและเป็นความภูมิใจของทุกคน

    อีกข้อหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องของเวลา เวลาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราทำเลยเวลา มันจะได้ประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น จึงต้องตรงต่อเวลา เพราะถ้าเราทำอะไรล่าช้าไปหมด ทุกอย่างที่วางแผนมาก็รวนหมด”


    11 ธันวาคม 2546