ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    กิจกรรม - สัมภาษณ์
  • สัมภาษณ์คนดัง
  • คำสำคัญ
     
     
    สัมภาษณ์คนดัง

    ดร.เจริญ คันธวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 7 กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์

    “….อย่าไปยึดติดกับอะไร เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และยึดไว้ว่าเราต้องซื่อสัตย์ ให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นคนดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์…” นี่คือคำกล่าวของนักการเมืองที่ทำงานทางการเมืองมายาวนาน ดร.เจริญ คันธวงศ์ ซึ่งเราขอนำบทสัมภาษณ์ของท่านเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทางการเมืองให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามค่ะ

    คำถาม : หน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่ในขณะนี้

    ดร.เจริญ : หน้าที่ที่ทำอยู่ตอนนี้คือเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ คือ ประการแรก ประชุมสภา และทำงานเกี่ยวกับสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการควบคุมรัฐบาล และติดตามการทำงานของรัฐบาล และประการที่สอง คือ งานนอกสภา ซึ่งต้องไปพบปะกับชาวบ้าน และแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านร้องเรียนมา รวมถึงการไปเยี่ยมชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้ ก็มีไปงานศพ งานแต่งงาน งานบวชนาค ฯลฯ

    คำถาม : สำหรับปัญหาในพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไข ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรบ้าง

    ดร.เจริญ : ปัญหาในพื้นที่ขณะนี้คือ ถนนที่เข้าไปตามตรอก หรือซอยต่างๆนั้น เป็นถนนเก่า บ้านที่สร้างใหม่ก็ยกขึ้นมาสูง ทำให้พื้นที่ถนนต่ำ น้ำก็จะท่วมถนน เพราะฉะนั้น ปัญหาใหญ่ก็คือ ชาวบ้านจะร้องเรียนให้ทำถนนและท่อระบายน้ำ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องการพนันในพื้นที่ ในชุมชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาการพนันนั้น ทุกฝ่ายจะต้องทำงาน ซึ่งสิ่งที่เราได้ทำคือ ประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่ว่าตรงไหนที่มีปัญหา ก็ให้ตำรวจเข้าไปตรวจสอบ แต่บางครั้งเมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบเรื่องก็จะเงียบหายไปและย้ายสถานที่เล่น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้บ่อยครั้ง ก็ต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ส่วนปัญหาเรื่องยาเสพติด เราก็ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจในพื้นที่, สำนักงานปราบปรามยาเสพติด ในขณะเดียวกัน เราก็เข้าไปหาชาวบ้าน พูดคุย อบรมการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการเลี้ยงดูลูก และถ้าชาวบ้านมีการสัมมนาเราก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากนั้น ก็จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ

    คำถาม : มองการปฏิรูประบบการศึกษาเป็นอย่างไรบ้าง และคิดว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

    ดร.เจริญ : การปฏิรูประบบการศึกษา คิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นไปได้ช้า การปฏิรูปการศึกษานั้น โดยแนวความคิดมีมาตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2540 มาถึงตอนนี้ปี 2546 แล้ว ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้บอกไว้ว่าจะต้องมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งออกมาเมื่อปี 2542 จนถึงตอนนี้ก็ 4 ปีมาแล้ว รัฐบาลจะต้องดำเนินการอะไรอีกมากมายแต่ก็ยังไม่ได้ทำ เช่น กฎหมายที่จะต้องออกมารองรับการปฏิรูปการศึกษา 23 ฉบับ ที่คณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษาเสนอไว้ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้ประกาศใช้เลยสักฉบับ ซึ่งคณะกรรมการสำนักงานปฏิรูปการศึกษาได้แนะนำว่ากฎหมายควรจะประกาศใช้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2546

    นอกจากนี้ การปฏิรูปการศึกษา หมายความว่า เราจะต้องปรับปรุงการบริหารการจัดการการศึกษา โดยนำ 3 หน่วยงาน คือ สภาการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการ มารวมเป็นหน่วยเดียวกัน แต่ก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อย เพราะยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ออก ดังนั้น การศึกษาจึงยังแตกกระจายไป

    ส่วนเรื่องการให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ก็มีการดำเนินการบ้างแต่เป็นในระดับทดลอง แต่ยังไม่ได้ทำในรูปโครงสร้างส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เป็นเพราะการฝึกอบรมครูในการเรียนการสอนแบบใหม่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางนั้นยังไม่ทั่วถึง และมีการฝึกอบรมกันเพียงไม่กี่วัน และเพียงไม่กี่คน ซึ่งครูมีอยู่ 7 แสนคน นอกจากนี้ เรื่องการศึกษาฟรี 12 ปี จนถึงตอนนี้ก็ยังต้องเสียค่าเล่าเรียนอยู่ โดยจะเสียในรูปแบบอื่น เช่น เรียนภาษาอังกฤษ หรือเรียนในห้องแอร์ ฯลฯ ซึ่งโรงเรียนต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้เงินเก่า เพราะเงินที่รัฐบาลจะให้แก่การศึกษาฟรี 12 ปีนั้น เขาไม่ได้ให้แบบใหม่แต่ให้แบบเก่าอยู่จนโรงเรียนต้องเลิกกิจการไป เหมือนกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่การรักษาจะต่ำกว่ามาตรฐานทุกอย่าง ต่อไปโรงพยาบาลก็จะค่อยล้มไปถ้าไม่แก้ไข ซึ่งการศึกษา 12 ปี ก็เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลไม่รีบให้เงินสนับสนุนอีกหน่อยการศึกษาจะลดต่ำลงมาหมด

    ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า 12 ปีต้องฟรี และยังมีปัญหาอีกว่าจะให้เรียนฟรีตั้งแต่ปีไหน ซึ่งความคิดเห็นของคนในรัฐบาลก็ยังมองไม่ตรงกัน โดยนายปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมองว่า เรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการแทนนายกรัฐมนตรี มองว่าจะให้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งตอนนี้ข้าราชการก็สับสนไปหมด ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหน เงินงบประมาณเป็นอย่างไร

    คำถาม : มองด้านนโยบายของรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร เช่น นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค

    ดร.เจริญ : อยู่ในระดับกลาง คือ ชาวบ้านชอบ แต่คุณภาพจะมีหรือไม่ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องรอดู ซึ่งนโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี แต่อยู่ไม่ได้ ซึ่งหลักการดีแต่วิธีการปฏิบัตินั้นจะต้องแก้ไข ถ้าหากยังเป็นอย่างนี้อีกหน่อยเราก็จะเป็นหนี้กันมากขึ้น ส่วนเรื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” สินค้าที่ผลิตออกมาก็เหมือนกันหมด ทำให้ไม่สามารถที่จะขายได้ ตรงนี้รัฐบาลต้องพยายามชี้แนะการทำตลาดมากกว่าเก่า ไม่ใช่มุ่งเน้นการผลิตอย่างเดียว

    คำถาม : ในเรื่องของการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ไม่ทราบว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากน้อยเพียงใด

    ดร.เจริญ : มีส่วนดี แต่ส่วนที่ไม่ดีก็คือเป็นการที่กลัวว่าจะละเมิดกระบวนการยุติธรรม คือไม่ได้เอามาพิจารณาไต่โทษที่แท้จริง และมีการฆ่าตัดตอน แต่นโยบายก็ดีคนชอบใจ ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้น ไม่ค่อยแน่ใจ เกรงว่าจะไปปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่ไม่ใช่พวกของตัวเอง

    คำถาม : มองภาพรวมการเมืองไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร และคิดว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

    ดร.เจริญ : การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้นยังน้อย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนจะต้องมีการกระจายการปกครองไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ขณะนี้การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นนั้นยังไม่ค่อยมี ซึ่งจะกระจายได้นั้นจะต้องให้เงิน ให้อำนาจ ให้โอกาส ซึ่งในปีนี้ให้งบไปแค่เพียง 22.5% เท่ากับปีที่แล้ว คือผมว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ชาวบ้านยังไม่มีความพร้อม ซึ่งเมื่อชาวบ้านไม่พร้อมและรัฐยังไม่จัดสรรงบไปให้ ซึ่งไม่พร้อมต้องฝึก และให้โอกาส ไม่เช่นนั้นจะไม่โตขึ้น

    นอกจากนี้ กฎหมายเขียนไว้ว่า ปี 2549 จะต้องให้งบประมาณส่วนท้องถิ่น 35% แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้เพิ่มตามอัตราส่วน ซึ่งดีไม่ดีอาจจะแก้กฎหมายว่าไม่จำเป็นจะต้องให้เงิน 35% แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งผมเกรงว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะรัฐบาลอยากที่จะรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง

    คำถาม : มองการทำงานขององค์กรอิสระว่าเป็นอย่างไรบ้าง

    ดร.เจริญ : เข้าใจว่าถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลมากทีเดียว โอกาสที่จะทำงานให้เป็นดังที่ชาวบ้านคาดหวังอาจจะลดน้อยลงไป เพราะรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ารัฐบาลยังคงกระทำการเช่นนี้ต่อไป บทบาทขอองค์กรอิสระจะไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชนเท่าที่ควร

    คำถาม : มองภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ในสายตาประชาชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง

    ดร.เจริญ : ภาพลักษณ์ของพรรคตอนนี้อยู่ในภาพที่ลบ ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งเราก็ต้องปรับปรุง ดูแล ฟื้นฟูในส่วนของเราให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่เคยเป็น เราก็เคยเป็นมาหลายครั้ง พรรคพลังธรรมโด่งดัง สนามในกรุงเทพฯ เราก็ได้คุณอภิสิทธิ์ มาแค่คนเดียว เราก็ฟื้นฟูมาจนเราชนะใจคนกรุงเทพฯ ซึ่งคราวนี้เราก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ พรรคของเรามีประวัติที่ยาวนาน และเราก็มองหาคนใหม่มาร่วมทำงาน

    คำถาม : ส่วนกรณีถ้ามี ส.ส. ย้ายพรรค คิดว่าจะมีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างไรบ้าง

    ดร.เจริญ : พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งมา 56 ปี และคนที่ทำงานทางการเมืองส่วนใหญ่ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น การที่คนย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นเรื่องปกติ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยล้ม เหมือนกับเป็นการผลัดใบใหม่ เหมือนกับการทำงานในบริษัทถ้าไม่มีคนลาออกเลย คนใหม่ก็เกิดมาไม่ได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีคนรุ่นใหม่เข้ามาตลอดเวลา

    คำถาม : สำหรับการก่อตั้งพรรคการเมืองที่สามนั้น ไม่ทราบว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

    ดร.เจริญ : ทางการเมือง การก่อตั้งพรรคการเมืองที่สามจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ก็เหมือนกับวิชาการตลาดมีสินค้าอย่างหนึ่ง และคนอื่นอยากจะขายสินค้าบ้าง ก็ต้องเอาสินค้าตัวเก่ามาบรรจุหีบห่อใหม่ คือ พรรคการเมืองที่สาม สามารถเกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะติดตลาดหรือไม่ พรรคการเมืองตอนนี้ตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอยู่ประมาณ 40 พรรค ทั้งที่มี ส.ส.ในสภาและไม่มี ส.ส.ในสภา แต่พรรคการเมืองจำนวน 30 กว่าพรรคไม่มีคนรู้จัก เพราะไม่มีกิจกรรม เพราะฉะนั้น การจะเกิดพรรคการเมืองอีก 2-3 พรรคจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ประชาชนจะให้การสนับสนุนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น พรรคไทยรักไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เอาแนวคิดด้านการตลาดเข้ามา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง

    คำถาม : ไม่ทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีแนวทางในการปรับปรุงพรรคอย่างไรบ้าง ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

    ดร.เจริญ : เราก็ต้องทบทวนดูตัวของเราเอง แล้วแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด แต่จะให้เราเดินตามนโยบายของพรรคไทยรักไทยในเรื่องของประชานิยมเราคงไม่ทำ เพราะไม่เห็นด้วย เพราะในระยะยาวบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ ซึ่งเราคงจะนำประเด็นอื่นมาเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ

    คำถาม : หลักการในการทำงาน

    ดร.เจริญ : หลักการในการทำงานประการแรกคือ อย่าไปยึดติดกับอะไร เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และยึดไว้ว่าเราต้องซื่อสัตย์ ให้ประชาชนเห็นว่าเราเป็นคนดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ เวลาทำงานต้องได้ 2 อย่างคือ น้ำใจคน และผลงาน ต้องได้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน ถ้าได้อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นถือว่ายังไม่เพียงพอ ทำงานดีแต่คนเกลียด หรือคนรักมากแต่ไม่มีผลงานก็ใช้ไม่ได้

    คำถาม : เวลาที่ท้อแท้ใจมีวิธีให้กำลังใจตนเองอย่างไร

    ดร.เจริญ : ความรู้สึกท้อแท้ในนั้นคือการที่เรารู้สึกว่าไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ตามสิ่งที่เราคาดหวัง ก็คิดว่ามีมืด ก็ต้องมีสว่าง มีแพ้ก็ต้องมีชนะ จะเป็นวัฏจักรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องไม่ท้อถอย


    30 กันยายน 2546