ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    กิจกรรม - สัมภาษณ์
  • สัมภาษณ์คนดัง
  • คำสำคัญ
     
     
    สัมภาษณ์คนดัง

    ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์มวยรุ่นใหม่

    เอ่ยถึงชื่อ “ทรงชัย รัตนสุบรรณ” แฟนมวยไทยหลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเขาคือโปรโมเตอร์มวยชื่อดังของเมืองไทย ที่คร่ำหวอดในวงการหมัดๆ มวยๆ มานานกว่า 30 ปี แม้ปัจจุบันวงการมวยไทย จะไม่รุ่งเรืองเหมือนเช่นสมัยก่อน แต่คนรุ่นลูกอย่างลูกชายและลูกสาวของ “ทรงชัย” ก็กำลังเดินตามรอยเท้าพ่อ เพื่อสืบสานพัฒนาวงการมวยไทยให้เดินหน้าไปได้พร้อมๆ กับโลกสมัยใหม่

     

    คุณโอ๋ หรือ  คุณปริยากร รัตนสุบรรณ ลูกสาวคนเล็ก คลุกคลีกับเรื่องมวยมาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านที่แปดริ้ว จ. ฉะเชิงเทรา มีค่ายมวย แม้เมื่อครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วไม่ได้ทำค่ายมวยต่อ คุณพ่อของเธอก็ยังคงมีอาชีพเป็นโปรโมเตอร์มวยอยู่ โดยมีบ้านอยู่ใกล้กับสำนักงาน ทำให้คุณโอ๋ได้เจอได้เห็นการทำงานของคุณพ่อและทีมงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

     

    “แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะกลับมาทำงานที่บ้าน เพิ่งมาคิดได้ตอนอยู่ปี 3 เพราะเวลาว่างเราก็กลับบ้านมาช่วยคุณแม่ ทำให้เราเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ทำงานเหนื่อย ก็มีความรู้สึกว่าเราควรที่จะมาช่วยเขาทำงานได้แล้ว แต่ตอนนั้นก็มองว่า เรายังคงไม่พร้อม เพราะต้องหาประสบการณ์ก่อน ก็รีบเรียนให้จบภายใน 3 ปีครึ่ง พอจบก็เริ่มไปทำงานหาประสบการณ์ที่ ปตท. ได้ปีกว่า ก็ไปเรียนต่อโทที่คณะบริหารจัดการ ม.มหิดล ก่อนเรียนจบโทประมาณ 2-3 เดือนก็กลับมาช่วยที่บ้าน คือประมาณเดือนเมษายน ปี 46” คุณโอ๋ เล่า

     

    ตอนแรกที่เข้ามาทำงานนั้น คุณโอ๋เข้ามาดูแลเรื่องบัญชีก่อน แล้วจึงเริ่มคุยกับทีมงานแต่ละคน ว่าใครทำอะไร ปัญหาคืออะไร เก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ เวลาไปที่เวทีมวยคุณโอ๋ก็จะคอยสักถามคนนู้นคนนี้ ไล่ไปตั้งแต่นักมวย หัวหน้าคณะ ไปจนถึงโปรโมเตอร์คนอื่น 

     

    “พอเดือนพฤศจิกายน โอ๋ก็เริ่มเป็นโปรโมเตอร์ โดยเริ่มจากมวยสากลก่อน เพราะไม่ค่อยมีปัญหาความวุ่นวาย คนเกี่ยวข้องน้อย แต่มวยไทยจะวุ่นวายเพราะนักมวยจะชกคนนึง มีครอบครัว หัวหน้าคณะ แต่ละคนต้องการไม่เหมือนกัน”

     

    คุณโอ๋อธิบายหน้าที่ของโปรโมเตอร์ ว่า ผู้จัดการแข่งขันชกมวย ทำการประกบคู่มวย โดยเบื้องต้นติดต่อนักมวยคนไหน  วางรายการให้เขา หาคู่แข่งให้เขา ซึ่งปัญหาอยู่ที่นักมวยทุกคนก็อยากได้เปรียบหมด คนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ก็ว่าตัวเองเสียเปรียบ เพราะไม่ใช่แค่ดูกันที่ส่วนสูง น้ำหนัก ต้องมีการต่อกัน เพื่อให้เกิดความสูสี และปัญหาอีกอย่างคือโปรโมเตอร์ส่วนใหญ่จะมีค่ายมวยของตัวเอง ความยุติธรรมจึงไม่ค่อยมี

     

    “แต่เราไม่มีค่าย เราก็ต้องการให้มีความยุติธรรม และก็ต้องมีความยุติธรรมแก่คนดู ค่าตั๋วต้องคุ้มกับคุณภาพคู่มวยที่เราจัด”

     

    คนอื่นๆ อาจจะมองว่า เธอเป็นแค่ผู้หญิงบอบบางคนหนึ่ง การเป็นโปรโมเตอร์มวยที่ต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ มากมาย อาจจะเป็นเรื่องหนัก แต่สำหรับคุณโอ๋แล้ว เธอกล่าวว่า ไม่หนักใจเลย

    “โอ๋ไม่ได้ตั้งใจอยากมาเป็นโปรโมเตอร์ โอ๋แค่อยากมาช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งโอ๋ก็รู้สึกว่าพ่อแม่เราก็ภูมิใจ แล้วก็เป็นตัวปลุกกระแสวงการมวย จากภาพที่คนอื่นมองว่ามันน่ากลัว แต่ทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงทำได้ โอ๋ก็เหมือนเป็นตัวสะท้อนว่า เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ถ้าไม่ได้เข้ามาสัมผัสก็ไม่รู้”

     

    ด้านแผนการตลาดนั้น คุณโอ๋กล่าวว่า สำหรับคนไทย ศึกวันทรงชัยไม่เป็นปัญหาเลย เพราะแต่ละวงการก็จะมีแฟนเฉพาะ ศึกวันทรงชัยก็มีทั้งสื่อโทรทัศน์-วิทยุ แต่สำหรับชาวต่างชาตินั้นต้องติดต่อผ่านบริษัททัวร์ ซึ่งค่อนข้างมีปัญหา

     

    “เราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเวทีเอง เขาให้โควตาแบบหมุนเวียน เช่น ศึกวันทรงชัย อยู่วันพุธที่ 1 มกราคม แล้วก็ไป 29 มกราคม แล้วก็ไป 15 กุมภาพันธ์ ไป 23 กุมภาพันธ์ คือไม่มีความแน่นอน แต่จะรู้ล่วงหน้ารายไตรมาส 3 เดือนครั้ง”

     

    “เราก็ไม่สามารถบอกเขาได้ว่า เจอกันทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งทำให้เกิดโปรเจกต์ใหญ่ในฝันที่คิดมาตั้งนานแล้วนี้ขึ้น เพราะว่าเราโตมากแล้ว แต่รายการมวยมีจำกัด นักมวยก็มีเยอะ ทำให้ประมาณเดือนกันยายนนี้ เราจะเปิดเวทีมวยของตัวเอง แล้วก็จะมีโรงเรียนสอนมวยไทยด้วย ตั้งอยู่ตรงถนนรัชดาฯ ใกล้โรงละครสยามนิรมิต”

     

    สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนมวยไทยแห่งนี้ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ มือสมัครเล่นกับมืออาชีพ แต่แรกเริ่มจะมุ่งไปที่อาชีพก่อน เพราะในต่างประเทศมวยไทยเป็นที่นิยมมาก นักมวยต่างชาติก็อยากมาเรียนที่เมืองไทยในโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน

     

    “ถ้ามาเรียนกับเราเขาก็จะได้ประกาศนียบัตร มีการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และอีกกลุ่มที่สนใจคือเยาวชนไทย ที่ไม่ค่อยสนใจเรียนมวยไทย เพราะกลัวกระทบกระเทือน ทำให้ไปเล่นกีฬาอื่นกันหมด โดยเด็กที่จะเข้ามาเรียนก็น่าจะตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป แล้วก็มีการทดสอบก่อนว่าทำได้ไหม”

     

    “หลักสูตรจะเริ่มตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ขั้นสูง การสอนเน้นที่ความเข้าใจเรื่องราวของมวยไทย โดยเริ่มต้นต้องเรียนประวัติมวยไทย การพันมือ วอร์มอัพ หมัดตรง หมัดแย็บ  และการสอบแบบประชิดตัว นอกจากนี้ เราก็จะมีพิพิธภัณฑ์มวยไทย มีการแสดงนิทรรศการให้คนที่เข้ามารู้ประวัติของมวยไทย รู้ว่าทำไมเราควรจะช่วยกันอนุรักษ์มวยไทย” คุณโอ๋ กล่าว

     

    คุณโอ๋ยังได้บอกเล่าถึงเสน่ห์ของมวยไทย ว่า อยู่ที่การไหว้ครู ความอ่อนช้อย และสติปัญญาของบรมครู นัยยะแฝงของการไหว้ครู คือการอบอุ่นร่างกายก่อนชก ยืดเส้นยืดสาย และอีกนัยนึงก็คือการตั้งสติ รวบรวมสมาธิ นึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ จะต่อยแต่ละครั้งจะล้มมวยไม่ได้  ไหว้พระพรหมสี่หน้า ไหว้ให้เกียรติคนดู แสดงความมีน้ำใจไหว้คู่ต่อสู้ เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย

     

    “อย่างในสมัยก่อนที่นายขนมต้มเขาก็สู้กับพม่า 10 คนด้วยมือเปล่า เขาก็ชนะได้ แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ ว่ามือเปล่า เท้าเปล่า เข่า ศอก ล้วนแต่มีพิษสง เป็นเสน่ห์ให้น่าศึกษา”

     

    ส่วนที่หลายคนมักจะมองว่ามีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องกับมวยนั้น คุณโอ๋บอกว่า เรื่องการพนัน กีฬาอื่นๆ ก็มี เช่น ฟุตบอลซึ่งเงินพนันสูงกว่ามวยมากนัก เป็นเรื่องที่ห้ามยาก คนเราความคิดไม่ตรงกัน การพนันจึงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราในฐานะโปรโมเตอร์ทำได้ก็คือ ควบคุมบรรยากาศ ทำยังไงไม่ให้คนดูรู้สึกว่า คนเล่นพนันเป็นคนส่วนใหญ่ ทำให้คนอื่นไม่อยากก้าวเข้ามา

     

    ปัจจุบันคุณโอ๋ยังได้จัดการแข่งขันมวยหญิงด้วย โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ปี 2548 ซึ่งคุณโอ๋เกิดความคิดขึ้น ประกอบกับที่เคยได้ยินพระราชินีตรัสเกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงถูกข่มขืน เธอจึงทำเรื่องเสนอไปที่สำนักพระราชวัง ขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ ทำให้จัดงานยิ่งใหญ่กลางสนามหลวง ทำสปอตโฆษณาทางทีวี เชิญชวนค่ายมวยที่มีมวยหญิงทั่วประเทศ ส่งประวัตินักมวยมาคัดเลือก ก็มีส่งมากันมากมาย

     

    “เราจัดงานตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 4 ประมาณ 30 คู่ได้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น และในปีนี้ก็เริ่มทำจริงจัง คือทุกเสาร์ก็เอามวยหญิงไปเสริม 2 คู่ คือตอนนี้ศึกวันทรงชัยมีมวยหญิงทุกครั้งแล้ว แล้วก็มีไปต่างประเทศด้วย แต่ปัญหาผู้หญิงจะมีเรื่องของสรีระ จะสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องชกบนสังเวียน ใจสู้กว่าผู้ชายบางคน แต่ช่วงการฟิตซ้อม ถ้ามีประจำเดือนก็ปวดท้องก็ต้องพัก พอช่วงวัยเริ่มมีแฟนก็หยุดเป็นนักมวยแล้ว เรียกว่าวงจรชีวิตสั้นกว่า”

     

    สำหรับการทำงานในด้านต่างประเทศนั้น พี่ชายคุณศิรภพ รัตนสุบรรณ เป็นผู้ดูแลหลัก ซึ่งคุณพ่อได้ตั้งองค์กร S1 ขึ้นเพื่อรองรับคู่มวยไทยปะทะต่างชาติ เพราะตอนนี้เกิดกรณีที่ต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น นำมวยไทยไปใช้ แต่ไม่ใช้ศอก แล้วก็ไม่เรียกชื่อว่ามวยไทย โดยหน้าที่ของ S1 คือการนำนักมวยไทยออกไปชกที่ต่างประเทศ ในประเทศที่นิยม เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์

     

    “ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาก็มีค่ายมวยของเขาเหมือนกัน และบางทีเราก็ติดต่อนักมวยของเขาเข้ามาชกในไทยด้วย แต่ตรงนี้ก็มีปัญหาว่าโปรโมเตอร์ไทยบางคน ไม่ได้สกรีนนักมวย พอไปศิลปะแม่ไม้อะไรก็ไม่เป็น ก็โดนฝรั่งเขาตีเตะช้ำกลับมา คือไม่ได้เอานักมวยที่ดีไป ไม่ได้เอามวยที่ต้องการไปเผยแพร่ แต่เป็นแค่ธุรกิจ “

     

    สำหรับเวลาว่างคุณโอ๋ นอกเหนือจากกีฬามวยที่สนใจแล้ว คุณโอ๋ยังมีกิจกรรมที่ทำชื่นชอบไม่ว่าจะเป็น อ่านหนังสือ ยิงปืน ไปวัด ซึ่งคุณโอ่เล่าให้ฟังว่า “โอ๋ชอบยิงปืนกับถ่ายรูป มันใช้หลักการเดียวกัน ฝึกสมาธิ เวลาเหนี่ยวไกกับเวลากดชัตเตอร์ มันค่อนข้างคล้ายกัน มันเห็นเลยว่าเราทำอะไรไปแล้วมันได้ยังไง ไม่เหมือนกอล์ฟ มันไกลโอ๋ไม่ชอบ ส่วนถ่ายรูปแต่ก่อนจะไปต่างจังหวัด แต่เดี๋ยวนี้จะไม่ค่อยมีเวลา ส่วนมากก็ไปทะเลกับครอบครัว ถ่ายรูปเล่น ไม่ค่อยได้ถ่ายแบบศิลปะมาก แต่ในโรงเรียนที่โอ๋จะเปิดสอนจะมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองด้วย”

     

    คุณโอ๋ได้ฝากถึงเยาวชนว่า “มวยไทยเป็นศิลปะป้องกันตัว เป็นศิลปะประจำชาติ ที่อยากให้ทุกคนอนุรักษ์ไว้ ไม่จำเป็นต้องดูศึกวันทรงชัย ดูรายการไหนก็ได้ แต่อยากให้คุณมีความเข้าใจว่ามวยไทยคืออะไร มีความเป็นมายังไง ถ้ามีเพื่อนชาวต่างชาติถามก็สามารถตอบเขาได้ และอยากให้โอกาส อยากให้ภาพความรู้สึกเดิมๆ เรื่องความน่ากลัวหมดไป ลองก้าวมาสัมผัสดู มันไม่ได้เป็นแบบนั้น”


    10 สิงหาคม 3092