ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    กิจกรรม - สัมภาษณ์
  • สัมภาษณ์คนดัง
  • คำสำคัญ
     
     
    สัมภาษณ์คนดัง

    ศัลย์ อิทธิสุขนันท์ พิธีกรและเจ้าของร้านชั้นขนมหวาน

    ขนมหวานแบบไทยๆ หลายปีก่อนหน้านี้อาจดูเหมือนกำลังจะหายไปจากปากและลิ้นของคนไทย แต่คนที่ติดใจรสชาติของขนมไทยหลายคน ไม่ยอมปล่อยให้สิ่งล้ำค้านั้นสูญหายไปตามกาลเวลา พวกเขานำขนมไทยที่มีอยู่มากมายกลับออกมาสู่ตลาดให้คนรุ่นใหม่และชาวต่างชาติได้ลิ้มชิมรสกัน คุณเอิร์ธ-ศัลย์ อิทธิสุขนันท์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น หนึ่งในหลายคนที่ติดใจรสชาติขนมหวานแบบไทย และหนึ่งในหลายคนที่นำขนมไทยเหล่านั้นกลับมาสู่ตลาดให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มรส 

     

    คุณเอิร์ธ-ศัลย์ อิทธิสุขนันท์ เปิดเผยว่า ด้วยความที่เป็นคนชอบทานขนมหวานไทยๆ จึงได้ไปเสาะหาสูตรขนมไทยโบราณกับเจ้าของสูตรหลายๆ เจ้า ซึ่งบางเจ้าก็เป็นสูตรชาววังโบราณ หายาก ต้องข้ามน้ำข้ามเรือเข้าไป แม้จะลำบากแต่ก็สนุกมาก เจ้าของสูตรเองเขาก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำร้านชั้นขนมหวานร่วมกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ใช้เงินทุนไปประมาณหนึ่งแสนบาท โดยคุณอิร์ธมีหน้าที่ดูแลเรื่องการตลาดและภาพลักษณ์ เพื่ออีกคนคือคุณพิมดูแลเรื่องการผลิต ส่วนเพื่อนอีกสองคนเป็นที่ปรึกษา

     

    “ชื่อร้านชั้นขนมหวาน หรือ “Chan” มีเหตุผลด้วยกัน 3 อย่าง คือ 1.ร้านของเรามีขนมชั้นเป็นพระเอก สามารถทำเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ และมีหลายรส 2.คือชั้นชอบกินขนมหวาน ก็เลยอยากให้คนอื่นได้กินด้วยกัน และ 3.หมายถึงชั้นวางของในห้องรับแขก ที่หลายบ้านมักจะมีแต่ขนมฝรั่งวางไว้ให้แขก แต่เราอยากให้เป็นขนมไทยมากกว่า”

     

    คุณเอิร์ธ กล่าวต่อว่า ขนมไทยในร้าน “Chan” ของพวกเขา เป็นขนมไทยใส่ไอเดีย เข้ากับยุคสมัย เป็นขนมแบบพอดีคำ ที่มีสีสันสวยงาม น่าดึงดูด และเน้นรสชาติให้ทันสมัย เช่น ขนมชั้นสละ ขนมชั้นชาเขียว โดยขนมทุกอย่างจะผลิตสดวันต่อวัน

     

    หลังจากนั้นเมื่อบริษัท เวิร์คพอยท์ มีงาน “สู้แล้วรวย” จึงลองไปออกงานดู แม้จะยังไม่ค่อยพร้อมมากนัก แต่ผลตอบรับที่ได้ก็ถือว่าดีมาก โดยทางเดอะ มอลล์ กรุ๊ป ก็ติดต่อให้ไปวางขายในห้างสรรพสินค้าเดอะ มอลล์ ทั้ง 4 สาขา และดิ เอ็มโพเรี่ยม

     

    “เราเตรียมความพร้อมกันอยู่แค่เดือนเดียวก็ลงวางขายในห้างฯ ต่อมาอีก 3-4 เดือนก็เริ่มทำ Catering จัดเป็นชุดของขวัญ ของชำร่วย และบริการจัดเลี้ยงตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน, งานสัมมนา, งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพก็มี ซึ่งเราก็ต้องเลือกขนมให้เหมาะกับงานนั้นๆ ด้วย”

     

    ช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ปลายปี 2547 จึงมีออเดอร์ค่อนข้างมาก จากบริษัทใหญ่ที่สั่งจัดเป็นชุดของขวัญ เช่น บริษัท โนเกีย, บริษัท วอร์เนอร์บราเธอร์ ซึ่งคุณเอิร์ธเคยทำหน้าที่เป็นพิธีกรให้หลายครั้ง

     

    “เรามีบริการส่งด้วย ซึ่งคุณต้องส่งแผนที่บริษัทที่ต้องการส่งมาให้เรา เราจะรวบรวมไปส่งตามถนนเส้นนั้นๆ พร้อมกันคราวเดียว ทำให้ไม่เสียเวลา โดยออเดอร์เล็กๆ จะคิดค่าส่งตามเส้นทาง แต่ถ้าเป็นออเดอร์ตั้งแต่ 5 พันบาทขึ้นไป จะส่งให้ฟรี ส่วนเรื่องราคาขาย ถ้าขายปลีกขนมพอดีคำอยู่ที่ 8 ถ้วย 30 บาท แต่ราคาส่งไม่ได้กำหนดตายตัว เพราะขนมแต่ละอย่างความยากง่ายในการทำก็แตกต่างกัน ราคาก็เลยไม่เท่ากัน”

     

    ทั้งนี้ ตอนนี้คุณเอิร์ธกำลังมองหาสถานที่ใหม่ในการขายปลีก เพราะไม่อยากเสียค่าเช่าที่แพง โดยกำลังจะเปิดร้านใหม่ที่ ยู เซ็นเตอร์ ใกล้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะค่าเช่าที่ไม่แพงเกินไป และอยู่ใกล้แหล่งชุมชน ส่วนเรื่องการวางขายในห้างฯ นั้นคงต้องพักไปก่อน

     

    คุณเอิร์ธ กล่าวถึงเป้าหมายต่อไปว่า ตั้งใจจะลุยงาน Catering อย่างเต็มตัว เพราะชอบ และงานแต่ละงานก็ไม่เหมือนกัน ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังได้พูดคุยกับลูกค้า แนะนำว่างานแบบไหนควรใช้ขนมอะไร หรือจะสามารถจัดทำอะไรได้บ้างในแต่ละงาน

     

    “เคยทำขนมให้งานแต่งงานเพื่อน เราก็ทำขนมทุกอย่างเป็นสีชมพูหมดเลย คนที่มางานเขาชอบกัน”

     

    เป้าหมายอีกอย่างของคุณเอิร์ธสำหรับร้านชั้นขนมหวาน ก็คืออยากเปิดเป็นร้านที่มีขนมไทยทานกับกาแฟหรือไอศกรีมด้วย เพราะคิดว่าน่าอร่อยไม่แพ้ขนมเค้กเช่นกัน

     

    สุดท้ายคุณเอิร์ธฝากให้ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลร้านชั้นขนมหวานได้ที่ www.chankanom.com หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-9114-0950


    28 มิถุนายน 2548