ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    038577 อยากหย่ากับสามีที่ขี้หึงและไม่เคยเป็นผู้นำครอบครัวคนอยากรู้3 มกราคม 2553

    คำถาม
    อยากหย่ากับสามีที่ขี้หึงและไม่เคยเป็นผู้นำครอบครัว

    สวัสดีค่ะ

    ดิฉันแต่งงานกับสามีมา 10 ปี มีลูกด้วยกัน 1 คน ยอมรับค่ะว่าเราแต่งงานกันโดยที่เราคิดว่าเรารักกัน แต่ความจริงเหตุผลก็คือ ดิฉันท้อง ก็เลยเป็นความจำเป็นที่ต้องแต่งงานกัน ดิฉันนับถือศาสนาอิสลาม ส่วนสามีเป็นพุทธ ก็ต้องมาเข้าอิสลามก่อนที่จะแต่งงานกัน แต่กระนั้นเค้าก็เข้ามาแต่ตัวค่ะ ไม่เคยคิดที่จะเรียนรู้เรื่องหลักการศาสนาใด ๆ ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกได้

    ดิฉันต้องกลายเป็นผู้นำครอบครัวค่ะ ค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในบ้านเป็นของดิฉันส่วนใหญ่ เพราะรายได้ของดิฉันมากกว่าสามี ดิฉันรู้สึกไม่ดีนัก เพราะหน้าที่นี้ควรเป็นของผู้ชายมากกว่า มิหนำซ้ำงานในบ้านก็ยังเป็นภาระหลักของดิฉัน เค้าอ้างว่า เค้าอุตส่าห์เสียสละมาแล้ว ดิฉันจึงจำทน ฝืนทนอยู่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสุข

    ประเด็นที่เป็นความขัดแย้งของเรา เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนมาชอบดิฉัน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าดิฉันมีสามีแล้ว แต่เราแค่รู้สึกดีต่อกัน เหมือนมีเพื่อนที่ปรึกษาหารือกันได้ แต่สามีดิฉันหึงมาก คิดว่าเราสองคนเกินเลยถึงขั้นมีสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงเราไม่เคยล่วงเกินกันเลยและให้เกียรติกันตลอดเวลา ทำให้เรามีปากเสียงกัน และแยกกันนอนแต่ยังอยู่บ้านเดียวกัน มากว่า 4 เดือนแล้ว เวลาที่ดิฉันไปต่างจังหวัด เค้าก็หาว่าดิฉันหาโอกาสเพื่อจะได้ไปเจอกับผู้ชายคนนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกถูกหยามเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นอย่างมาก...เมื่อดิฉันบอกว่า ถ้าอยู่แบบจับผิดอย่างนี้ต่อไป เราก็ไม่มีความสุขกัน ทั้งความเครียดต่าง ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ดิฉันเป็นโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ เขาข่มขู่ดิฉัน ว่าเขาจะเอาเรื่อง จะตามติดดิฉันตลอดเวลา ไปไหนก็จะไปด้วย ถ้าดิฉันมีประชุมที่ต่างจังหวัดเขาก็จะไปด้วย และเงินเดือนของดิฉันก็ให้เอามาไว้กองกลางทั้งหมด เขาจะเป็นคนจัดการเอง ทั้ง ๆ เงินของเขานั้น ดิฉันไม่เคยแตะต้องเลย และไม่เคยเรียกร้องขอใช้เลยมาตลอด 10 ปีที่อยู่ด้วยกัน ...เรื่องนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกอึดอัด และไม่รู้จะทำอย่างไร

    ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ค่ะว่า อย่างนี้ ดิฉันมีสิทธิ์ขอหย่าจากเขาได้มั้ย แต่เค้าคงไม่ยอม ถ้าดิฉันจะฟ้องหย่า จะทำได้อย่างไร...หรือดิฉันควรก้มหน้ารับกรรมต่อไป

    ส่วนเรื่องลูก ซึ่งตอนนี้ จะ 10 ขวบแล้ว เค้ารับรู้เรื่องราวมาโดยตลอด ดิฉันคุยกับลูกค่ะว่า ถ้าเกิด อะไรขึ้นเค้าอาจจะต้องเลือกที่จะอยู่กับใคร แต่โดยความสามารถในการดูแลบุตรให้มีความสุขได้ทั้งกายและใจ น่าจะเป็นดิฉันมากกว่าค่ะ ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ เพราะสามีมีรายได้น้อยกว่าดิฉันประมาณ 3 เท่า (เค้าเงินเดือน 6,000 ส่วนดิฉัน 20,000 ค่ะ)

    รบกวนอาจารย์ตอบคำถามด้วยนะคะ

    ขอบคุณค่ะ

     

    คำตอบ

    ความระหองระแหงในครอบครัวของสามีภริยานั้น ปกติก็ย่อมมีกันอยู่เป็นประจำทุกคู่ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคนที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง คู่ผัวตัวเมียก็มักจะอยู่กันต่อไปได้โดยแม้จะไม่สมบูรณ์นักแต่ก็ไม่ถึงกับรู้สึกว่าทนไม่ได้  ต่อเมื่อมีคนที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องและเปรียบเทียบ ความรู้สึกที่ไม่สมบูรณ์ก็จะกลายเป็น การทนไม่ได้ขึ้น ความหึงหวงระหว่างสามีและภริยานั้น ย่อมมีอยู่กันตามปกติ ถ้าไม่ถึงขนาดผิดปกติ จนทำให้อีกฝ่ายดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างปกติสุขไม่ได้ ก็ไม่ใช่ที่จะนำมาเป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้ ส่วนการอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยานั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดตายตัวว่าฝ่ายสามีต้องเป็นฝ่ายอุปการะเลี้ยงดูภริยาเสมอไป หากแต่กำหนดให้ต่างฝ่ายต่างต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกันสุดแต่ฐานะของแต่ละฝ่าย  กรณีของคุณเหตุที่เล่ามานั้นยังไม่ถึงขนาดที่จะใช้เป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้ (แต่ถ้าตกลงหย่ากันเองกฎหมายก็ไม่ห้าม)  สำหรับข้อเรียกร้องของเขาที่จะติดตามคุณไปในที่ต่าง ๆ นั้น ก็เป็นสิทธิส่วนหนึ่งของเขาที่จะทำได้ ถ้าไม่ถึงขนาดไปฉีกหน้าคุณในที่สาธารณะ แต่การที่เขาเรียกร้องให้เอารายได้ของคุณมาไว้เป็นกองกลางนั้น คุณไม่ควรยอม เพราะนั่นก็เป็นสิทธิของคุณเหมือนกันที่จะเก็บรายได้ของคุณไว้เป็นส่วนตัว เพื่อนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนตามสมควร

          อนึ่ง โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นเมื่อยังไม่ได้อยู่กินด้วยกัน ความเกรงอกเกรงใจ และความระมัดระวังในการที่จะไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่ดี ย่อมมีอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อใดที่มาใช้ชีวิตร่วมกัน หรือได้เสียกันแล้ว ความเกรงใจ หรือความระมัดระวังนั้นก็จะค่อย ๆ ร่อยหรอลง อย่างที่คุณกำลังประสบอยู่กับสามีนั่นแหละ


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    3 มกราคม 2553