ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    012965 ปัญหาการสอบเขตเทียมจิตร27 มกราคม 2548

    คำถาม
    ปัญหาการสอบเขต

    เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

    เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ผมได้ถามท่านอาจารย์เกี่ยวกับการนับอายุความกรณีบุกรุกและรุกล้ำ (ask012491) ดังนี้

    เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ

    ประมาณปี 29 ภรรยาผมแบ่งขายที่ให้กับญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งโดยระบุชื่อเลูกคนหนึ่งของญาติผู้ใหญ่คนนี้เป็นเจ้าของร่วมในโฉนด โดยได้มีการรังวัดแบ่งเขตอย่างไม่เป็นทางการ(จนท.ที่ดินเป็นผู้รังวัด) และผู้ซื้อที่ดินได้สร้างรั้วไม้ระแนงขึ้น ซึ่งเราก็ปล่อยให้เขาทำไปโดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องเพราะไว้ใจกัน หลังจากนั้นภรรยาผมขอให้แยกโฉนดที่ดินหลายครั้ง แต่ถูกผัดผ่อนตลอดเวลา ภรรยาผมก็ไม่ได้รบเร้าเพราะเห็นเป็นญาติผู้ใหญ่

    ต่อมาเราต้องเดินทางไปต่างประเทศภรรยาผมได้ฝากโฉนดที่ดินไว้กับญาติผู้นี้ ปี 37 เรากลับมาและพบโดยบังเอิญว่า ญาติผู้นี้นำชื่อลูกอีกคนหนึ่งเข้าใส่ในโฉนดโดยไม่บอกให้ภรรยาผมทราบก่อน ภรรยาผมจึงทำเรื่องขอแยกโฉนดที่ดิน ซึ่งก็ทำให้พบว่าญาติผู้นี้ทำรั้วกินที่เข้ามาเกือบสามตารางวา เจ้าหน้าที่รังวัดจึงเสนอให้เลื่อนรั้วด้านหนึ่งออกไป โดยไม่ต้องเลื่อนรั้วส่วนที่เหลือ (แนวเขตประกอบด้วยเส้นตรงหลายเส้น) เมื่อเขายินยอมแล้วก็ปักหลักเขตไปตามนั้น และจดทะเบียนแยกโฉนดในเดือนสิงหาคม 2538

    เมื่อดำเนินการรังวัดเสร็จในปี 37 เราต้องรีบเดินทางไปต่างประเทศ ไม่สามารถอยู่ดูการขยับรั้วตามที่รังวัดได้ และฝากญาติผู้หนึ่งให้ช่วยตามเรื่องการแยกโฉนดและส่งโฉนดที่จดทะเบียนแยกแล้วไปให้เราในภายหลัง ปี 39 เรากลับประเทศไทย พบว่าญาติผู้ใหญ่รายนี้ไม่ได้เลื่อนรั้วเฉพาะด้านที่ตกลงกันไว้ตามการรังวัดเท่านั้น แต่ได้ทำรั้วใหม่ตลอดแนวระหว่างที่ของเขากับของภรรยาผม ตอนนั้นเรายังไม่ทันได้สังเกตในรายละเอียดเพราะเมื่อกลับมาแล้วก็ไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งปี 45 เรากลับมาอยู่ที่นี่และพบว่าญาติผู้นี้เลื่อนรั้วด้านที่ตกลงกันไว้ออกไป แต่ขยับรั้วด้านอื่นเข้ามา นอกจากนี้ยังหาหลักเขตบางหลักที่ปักตอนแบ่งโฉนดไม่เจออีกด้วย

    ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า หากจะนับอายุความเพื่อดำเนินคดีอาญาในข้อหาบุกรุก จะเริ่มนับอายุความเมื่อไร เพราะเราไม่ทราบว่าเขาสร้างรั้วใหม่เมื่อใดในช่วงหลังการรังวัดเมื่อปี 37 กับปี 39 ที่เรากลับมาเห็นรั้วใหม่ของเขา ส่วนการจดทะเบียนแยกโฉนดอย่างเป็นทางการคือ ส.ค. 38

     

    เรียน คุณเทียมจิตร
    อันความผิดทางอาญาฐานบุกรุกนั้น เป็นความผิดอันยอมความกันได้ ถ้าไม่ได้ร้องทุกข์เสียภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด เป็นอันขาดอายุความ แต่ตราบใดที่เขายังบุกรุกอยู่ ก็ต้องถือว่าความผิดนั้นเกิดขึ้นทุกวัน คุณจึงสามารถไปร้องทุกข์ได้ สำหรับในคดีแพ่งนั้น ถ้าถือเอาวันแบ่งแยกโฉนดเดือนสิงหาคม ๒๕๓๘ เป็นเกณฑ์ การครอบครองของเขาก็ใกล้จะครบ ๑๐ ปี อันจะเป็นเหตุให้อ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ จึงควรรีบดำเนินการเสียก่อนเดือนสิงหาคม ๒๕๔๘
    มีชัย ฤชุพันธุ์
    23 พ.ย. 2547

    ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548 ผมได้เรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติมดังนี้

    เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ภรรยาผมได้ยื่นเรื่องขอสอบเขตต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และในวันที่ 23 ธันวาคม 2547 นายช่างรังวัดผู้รับผิดชอบซึ่งเป็นผู้หญิงได้มาทำการรังวัด แรกทีเดียวเราบอกเขาว่าขอให้รังวัดว่าเนื้อที่ตามโฉนดของเราควรมีแนวเขตอย่างไร เขาบอกว่าเขาทำเช่นนั้นไม่ได้ ที่เขาจะทำคือรังวัดพื้นที่ครอบครองของเรา แล้วให้เรานำชี้ปักหลักเขตใหม่เพราะมีหลักเขตหายไป

    หลังจากทำการรังวัดพื้นที่ครอบครองเสร็จแล้ว เราขอให้เขาคำนวณเนื้อที่ออกมาเลย เพราะกล้องที่เขาใช้ส่องรังวัดในระบบพิกัดฉากนี้สามารถคำนวณได้ (ทราบจากช่างรังวัดอีกคนหนึ่ง และยังบอกด้วยว่ากล้องนี้ราคาประมาณ 4 แสนบาท เป็นราคาราชการ) แต่เขาไม่ยอมคำนวณให้ อ้างว่าจะไปคำนวณที่สำนักงาน ภรรยาผมจึงไม่สามารถนำชี้ปักหลักเขตใหม่ได้ (ก่อนจะส่องกล้องรังวัด ช่างได้ขุดหาหลักเขตที่หายไป 2 หลัก แต่ไม่พบ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าบ้านข้างเคียงเป็นผู้ทำลายหลักเขตทั้งสองนี้) ช่างผู้นี้ก็บอกว่าถ้านำชี้ปักหลักเขตใหม่ไม่ได้ ก็ต้องระงับการรังวัดไว้ชั่วคราว ภรรยาผมจึงขอให้เขาทำบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น นายช่างผู้นี้ได้ร่างบันทึกขึ้น เป็นบันทึกถ้อยคำของภรรยาผม โดยมีใจความสำคัญว่าภรรยาผมยังไม่สามารถนำชี้ปักหลักเขตใหม่ได้ จึงมีความประสงค์ของดรังวัดไว้ชั่วคราวก่อน และจะได้นัดรังวัดใหม่ในภายหลัง ในการเขียนบันทึกนี้ เราขอให้เขาบันทึกไว้ด้วยว่าเรารอผลการคำนวณพื้นที่ครอบครองจากเขา แต่เขายืนยันไม่ยอมใส่ลงไป และยังพูดด้วยว่าถ้าจะให้ใส่เขาก็จะไม่เขียนบันทึกนี้ เนื่องจากเราไม่มีประสบการณ์เรื่องการรังวัดสอบเขตมาก่อน จึงยอมลงชื่อไปตามที่เขาร่าง โดยไม่รู้ว่าเขาจะเอาคำว่า “งดรังวัด” มาเล่นแง่กับเราในภายหลัง เขาอ้างว่าเนื่องจากงดรังวัดจึงไม่มีผลการรังวัดในวันนั้น และจะทำการรังวัดพื้นที่ครอบครองใหม่ ทั้งๆที่ก่อนออกจากบ้านของเราเขายังพูดว่าให้โทรเช็คกับเขาเรื่องผลการคำนวณโดยเป็นที่เข้าใจกันว่าเมื่อทราบผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองแล้ว คราวหน้าจะรังวัดนำชี้ปักหลักเขตใหม่ เรื่องผลของคำว่า “งดรังวัด” นี้เขาอ้างว่ามีระเบียบหรือประกาศรองรับ แต่เมื่อภรรยาผมขอดู เขากลับบ่ายเบี่ยงตลอด อ้างว่ายังไม่มีเวลาค้นให้

    มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อเริ่มการรังวัดในวันที่ 23 ธันวาคม 2547 นั้น บ้านข้างเคียงพูดกับช่างรังวัดว่า เขาไม่มีปัญหา เคยเกินไปสามวาก็เลื่อนรั้วให้ทันที (ซึ่งไม่จริง) ให้วัดให้เราได้ครบตามเนื้อที่ คือเหมือนกับว่าถ้าเขารุกล้ำมาก็จะเลื่อนรั้วให้ แต่หลังจากที่ช่างเข้าไปในบ้านเขาพักหนึ่ง เมื่อกลับออกมาแล้ว บ้านข้างเคียงกับแสดงความประสงค์จะสอบเขตบ้าง และได้ไปยื่นสอบเขตในเวลาต่อมา ซึ่งทางสำนักงานที่ดินได้นัดสอบเขตวันเดียวกันกับการรังวัดใหม่ของเรา คือวันที่ 17 มกราคม 2548 ซึ่งผู้ที่จะทำการสอบเขตบ้านเขาเป็นลูกน้องช่างที่สอบเขตบ้านเรา

    วันรุ่งขึ้นภรรยาผมไปสำนักงานที่ดิน ขอผลการรังวัดพื้นที่ครอบครอง ภรรยาผมต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เขายอมให้ลอกระยะด้านต่างๆที่เป็นเส้นรอบแผนที่ และยอมบอกเนื้อที่ซึ่งหายไปสามตารางวา แต่ไม่ยอมให้สำเนาเอกสารอย่างเป็นทางการ โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ วันต่อๆมาภรรยาผมก็พยายามไปขอสำเนาผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองอีกหลายครั้ง แต่ยังคงไม่ได้สำเนาอย่างเป็นทางการ และข้ออ้างในการปฏิเสธได้เปลี่ยนเป็นว่าเพราะงดรังวัดจึงไม่มีผลการรังวัดในวันนั้น ภรรยาผมพยายามชี้แจงตามหนังสือที่อยู่ด้านล่าง (ผมแนบหนังสือที่ภรรยาผมมีถึงเจ้าพนักงานที่ดินมาด้วย ข้อความในหนังสือจะทำให้ท่านอาจารย์เข้าใจเรื่องราวมากยิ่งขึ้นครับ) พยายามเข้าไปพูดกับคนที่ใหญ่ที่สุดของสำนักงานไล่ลงมาจนถึงตัวช่างที่ไปทำการรังวัด แต่ไม่เป็นผล ครั้งสุดท้าย เขาจะให้ถ่ายสำเนาแต่ไม่รับรองสำเนาถูกต้อง และยังจะต้องเซ็นในบันทึกถ้อยคำว่าเราเข้าใจดีว่าเอกสารนี้(รูปแผนที่ในระบบพิกัดฉาก) ยังไม่สมบูรณ์ จะไม่นำไปใช้ดำเนินการใดๆทางกฎหมาย เราตัดสินใจไม่รับข้อเสนอนี้

    เหตุการณ์ข้างต้นทำให้เราหนักใจ เมื่อประมวลเรื่องทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล นายช่างรังวัดจงใจวางกับดักโดยใช้คำว่า “งดรังวัด” ซึ่งประชาชนไม่มีวันจะรู้เลยว่าจะมีผลอย่างไรตามมา (เจ้าหน้าที่รังวัดผู้หนึ่งยอมรับว่าไม่มีความจำเป็นต้องงดรังวัด) มีความพยายามจะไม่ยึดถือผลการรังวัดในวันนั้น โดยหาเรื่องจะรังวัดใหม่ และมีความพยายามจะไม่ให้เรานำผลการรังวัดในวันนั้นไปใช้ในทางกฎหมาย พวกเขาพยายามจะทำอะไรกัน และผมกับภรรยาควรจะทำอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้างครับ ช่วยกันเป็นขบวนแบบนี้แล้วประชาชนจะไปพึ่งใครได้ ตอนนี้ยังงงๆว่าเราเป็นผู้ขอสอบเขต เป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่กลับมีพฤติการณ์ช่วยเหลือคนที่พยายามโกงที่เรา เรากลับต้องมาต่อสู้กับผู้ที่เราว่าจ้างเอง เราน่าจะมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่ แต่เขาก็เบี้ยวเราดื้อๆ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

    ขอบพระคุณมากครับ

    บ้านเลขที่…..

    เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร…

    วันที่ 11 มกราคม 2548

    เรื่อง 1. ยกเลิกการงดรังวัดชั่วคราวตามบันทึกถ้อยคำ (ท.ด. 16) ลงวันที่ 23 ธ.ค.2547

    2. ขอให้ดำเนินการรังวัดสอบเขตในขั้นตอนต่อจากการรังวัดพื้นที่ครอบครอง

    3. ขอสำเนาผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547

    เรียน เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร (สาขา…)

    อ้างถึง 1.คำขอรังวัดสอบเขตที่ดินที่ 83/144 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2547

    2.บันทึกถ้อยคำ (ท.ด.16) (หลังการรังวัดสอบเขตที่ดิน) ฉบับวันที่ 23 ธันวาคม 2547

    3.หนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินฯ (สาขา…)เลขที่รับ 8800 วันที่ 24 ธ.ค.2547

    4.คำขอถ่ายเอกสารฯรายการสำรวจเขตที่ดิน(ร.ว.40)ฯ(ท.ด.9) ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2548

    5. คำขอถ่ายเอกสารฯผลการรังวัด(พื้นที่ครอบครอง)ฯ(ท.ด.9) ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2548

    ตามที่อ้างถึง 1 ดิฉัน (นาง…) ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดิน โดยมีนายช่าง… มาทำการรังวัดสอบเขตตามพื้นที่ครอบครองแล้วเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 และหลังจากทำการรังวัดพื้นที่ครอบครองเสร็จ ดิฉันได้ขอให้นาง…คำนวณพื้นที่ครอบครองเพื่อประกอบการพิจารณานำรังวัดปักหลักเขตใหม่ แต่นาง…แจ้งว่าจะนำกลับไปคำนวณด้วยเครื่องใหญ่ที่สำนักงาน นางสุรัชนียังอ้างว่าถ้าดิฉันยังไม่สามารถนำรังวัดปักหลักเขตใหม่ได้ก็ต้องงดรังวัดไว้ก่อนและในวันดังกล่าวได้มีการทำบันทึก (ท.ด.16) งดรังวัดชั่วคราว ซึ่งนาง…เป็นผู้ร่าง และ เขียนบันทึก (อ้างถึง 2) โดยเฉพาะประโยค “ข้าฯจึงมีความประสงค์ของดรังวัด” ดิฉันเพียงแต่ขอให้เพิ่มข้อความบางส่วน ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

    หลังจากวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ดิฉันได้มาติดต่อที่สำนักงานที่ดินฯ อีกสามครั้ง คือ

    -ในวันที่ 24 ธ.ค.2547 ดิฉันมีหนังสือ ถึงท่านเพื่อขอทราบผลการคำนวณเนื้อที่หลังการรังวัดสอบเขตที่ดิน ซึ่งท่านได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณา เพื่อแจ้งให้ดิฉันทราบ แต่นาง…อ้างว่า ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถให้สำเนาผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองแก่ดิฉันได้ในวันนั้น (อ้างถึง 3) แต่ให้ดิฉันคัดลอกข้อมูลบางส่วนเอง

    -วันที่ 6 มกราคม 2548 ดิฉันยื่นคำขอ เพื่อถ่ายเอกสาร รายการสำรวจเขตที่ดิน (ร.ว.40) ตามคำขอสอบเขตที่ดินที่83/144 (2 ธ.ค.2547) แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากการรังวัดวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ได้งดรังวัดและจะไปดำเนินการรังวัดใหม่ในวันที่ 17 มกราคม 2548 (อ้างถึง 4)

    - วันที่ 10 มกราคม 2548 ดิฉันยื่นคำขอ เพื่อถ่ายเอกสารฯ(ท.ด.9) ผลการรังวัด(พื้นที่ครอบครอง) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ตามคำขอที่83/144 ฉบับวันที่ 2 ธ.ค.2547 ได้แก่ รูปแผนที่ ระยะแผนที่ รายการคำนวณ รายการรังวัด ฯ ซึ่งท่านได้กรุณาให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลบางส่วนมาให้ดิฉันคัดลอกแล้ว แต่นาง…ไม่ให้ดิฉันถ่ายสำเนาเอกสารเหล่านั้น โดยแจ้งว่า การรังวัดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ได้งดทำการรังวัดชั่วคราวและได้นัดทำการรังวัดใหม่ในวันที่ 17 ม.ค. 2548 และนาย… แจ้งว่าเมื่องดการรังวัดจึงไม่มีผลการรังวัด (อ้างถึง 5)

    ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันไม่ได้มีความประสงค์จะงดการรังวัดตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากในการรังวัดพื้นที่ครอบครองเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 นาง…อ้างว่าจะนำข้อมูลต่างๆทั้งระยะและมุมที่ตรวจวัดด้วยกล้องมาเข้าเครื่องใหญ่ที่สำนักงานแทนการคำนวณหาพื้นที่จากกล้อง ณ พื้นที่ที่ทำการสอบเขต เมื่อเป็นเช่นนี้ดิฉันจึงไม่สามารถนำชี้ปักหลักเขตใหม่แทนหลักเขตที่หายไปได้เพราะไม่ทราบว่าพื้นที่ที่ครอบครองอยู่น้อยไปจากที่ระบุไว้ในโฉนดเท่าใด ซึ่งนาง…แจ้งว่าถ้าดิฉันไม่สามารถนำชี้ปักหลักเขตใหม่ได้ก็ต้องระงับการทำรังวัดไว้ก่อน ซึ่งในขณะนั้นดิฉันเข้าใจว่า เมื่อทราบผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองแล้วก็สามารถนำรังวัดปักหลักเขตใหม่ได้เลย ไม่ใช่ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ดิฉันจึงขอให้นาง…ทำบันทึกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันรังวัดสอบเขตเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ไว้ (อ้างถึง 2)

    ดังนั้น หากการงดรังวัดหมายถึง ไม่มีการรังวัดใดๆ และยกเลิกการรังวัดที่ทำไปแล้ว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ไม่มีผลการรังวัด และต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด ดิฉันก็ขอแสดงความประสงค์ที่แท้จริงให้ทราบว่า ดิฉันไม่ต้องการงดการรังวัด เพียงแต่รอผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองที่รังวัดไปแล้ว เพื่อทำการนำรังวัดปักหลักเขตใหม่ต่อไปเท่านั้น และดิฉันก็มีคำขอทราบผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองหลายครั้งแล้ว (อ้างถึง3,4,5) ซึ่งเท่ากับว่าดิฉันได้แสดงความประสงค์ที่แท้จริงว่าไม่ได้ต้องการงดรังวัดไปหลายครั้งแล้ว หากการบอกวัตถุประสงค์ที่แท้จริงเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอ ดิฉันก็ขอแจ้งยกเลิกการงดรังวัดที่ได้ระบุในบันทึกถ้อยคำ(ท.ด. 16) ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 โดยขอให้ถือเสมือนว่าไม่เคยมีการงดรังวัดใดๆ (เพราะดิฉันไม่เคยมีความประสงค์ให้ยกเลิกการรังวัดพื้นที่ครอบครองที่ทำไปแล้วเลย)

    การอ้างเหตุผล “งดรังวัด” นั้น เจ้าหน้าที่อ้างอิงจากประโยคที่นาง…เขียนบันทึกฯ ว่า “ข้าฯจึงมีความประสงค์ขอให้งดรังวัดไว้ชั่วคราว” ในบันทึกถ้อยคำของดิฉัน(อ้างถึง 2) ซึ่งเท่ากับยึดถือว่าเป็นการทำไปตามความประสงค์ของดิฉัน ดังนั้น เมื่อท่านทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของดิฉันว่าไม่ได้ต้องการจะงดรังวัดแล้ว ก็ขอให้ท่านยึดถือและปฏิบัติตามความประสงค์ที่แท้จริงของดิฉันเช่นเดียวกันที่ท่านเคยยึดถือคำว่า “งดรังวัด” ในบันทึกถ้อยคำดังกล่าวของดิฉันด้วย ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตามความประสงค์ของประชาชนอย่างแท้จริง

    อันที่จริงปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะนาง…นำคำว่า “งดรังวัด” มาใช้โดยที่ไม่ได้อธิบายให้ดิฉันทราบความหมายของคำๆนี้ ตามความจำกัดความของกรมที่ดิน ทำให้ดิฉันไม่ทราบว่าจะมีผลอย่างไรตามมา คำว่า งด และ หยุด มีความหมายใกล้เคียงกัน ดิฉันจึงเข้าใจว่า งดรังวัด หมายถึง หยุดรังวัด ไม่ใช่ยกเลิกสิ่งที่รังวัดไปแล้ว ประชาชนทั่วไปไม่มีวันจะทราบเลยว่าคำนี้ (ซึ่งเจ้าหน้าที่ของท่านเป็นผู้เลือกใช้) จะทำให้ไม่มีผลของการรังวัดที่ได้กระทำไปแล้ว และจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ นอกจากนี้ นาง…ยังได้พูดให้เป็นที่เข้าใจกันว่าเมื่อคำนวณพื้นที่ครอบครองเสร็จแล้วก็จะได้ดำเนินการขั้นต่อไป คือ นำรังวัดเพื่อปักหลักเขตใหม่ได้ ซึ่งดิฉันมีหลักฐานที่แสดงว่านาง…ได้มีการกล่าวเช่นนี้จริง จริงๆแล้วไม่มีความจำเป็นที่นาง…จะต้องบอกให้งดรังวัดเลย เพราะสามารถดำเนินการต่อเนื่องไปได้เพียงแต่ขอให้ดิฉันทราบผลการรังวัดพื้นที่ครอบครองก่อนเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายทั้งกับประชาชนและส่วนราชการ เพราะต้องเสียเวลาทั้งสองฝ่าย และยังจะมาเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งโดยไม่มีความจำเป็นใดๆเลย และที่สำคัญคือได้มีการรังวัดพื้นที่ครอบครองแล้วจริง ๆ เหตุใดจึงจะต้องรังวัดใหม่ เหตุใดจึงจะไม่ใช้ข้อมูลนี้ นอกจากนี้ ดิฉันได้แจ้งให้ท่านทราบแล้วว่ามีเรื่องของอายุความเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (อ้างถึง 3) เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรจะใช้ความไม่รู้ของประชาชนมาทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ขอให้ท่านคำนึงถึงการปฏิบัติงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางซึ่งเป็นนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีด้วย

    จึงเรียนมายังท่านเพื่อโปรดทราบและกรุณาสั่งการ

    1. ให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คือขั้นตอนการรังวัดเพื่อปักหลักเขตใหม่โดยไม่ต้องกลับมาเริ่มต้นรังวัดพื้นที่ครอบครองอีกครั้ง

    2. และให้เจ้าหน้าที่ให้สำเนาผลการรังวัดพื้นที่ครอบครอง (รูปแผนที่ ระยะแผนที่ รายการรังวัด และรายการคำนวณ) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 แก่ดิฉันโดยด่วนก่อนที่จะถึงวันรังวัดเพื่อปักหลักเขตใหม่ในวันที่ 17 มกราคม 2548 ด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

     

    ขอแสดงความนับถือ

     

    (นาง……………)

    เรียน คุณเทียมจิต
    ต้องกรุณาเห็นใจด้วยนะครับ คนถามน่ะถามมาคำถามเดียว แต่คนตอบต้องตอบคำถามของคนอื่น ๆ ทุกวัน ๆ ละ หลาย ๆ คำถาม เวลาผ่านไปเป็นเดือนย่อมจำไม่ได้แล้วว่าตอนนั้นถามมาเรื่องอะไร
    สำหรับเรื่องที่เล่ามานี้ก็น่าเหนื่อยใจแทน จะแนะให้ไปร้องต่อนายกรัฐมนตรีที่ "ระฆัง" หรือตู้รับคำร้องเรียน ก็คงไม่ทันการณ์ ตอนนี้ลองรอดูการรังวัดในวันที่ ๑๗ นี้ดูก่อนว่าเจ้าหน้าที่จะมาไม้ไหนอีก ถ้ายังมีปัญหาอยู่ ก็ลองถามมาใหม่นะ

    มีชัย ฤชุพันธุ์
    13 มกราคม 2548

    เหตุการณ์ล่าสุด

    เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2548 เจ้าหน้าที่รังวัดมาดำเนินการ ทีมช่างมีสี่คน เป็นหัวหน้าช่างที่รับผิดชอบในการสอบเขต 2 คน คนหนึ่งรับผิดชอบแปลงของภรรยาผมและเป็นคนเดียวกันกับที่มารังวัดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 อีกคนรับผิดชอบแปลงข้างเคียง อีก 2 คนเป็นลูกมือทำงานรังวัดทั้งสองแปลง คราวนี้นายช่างที่รับผิดชอบแปลงของภรรยาผมไม่ได้แสดงบทบาทมากนัก นายช่างคนที่รับผิดชอบสอบเขตแปลงข้างเคียงเป็นผู้แสดงบทบาทเป็นส่วนใหญ่ โดยนายช่างผู้นี้ขอทำการรังวัดพื้นที่รวมโดยรอบแปลงใหญ่ก่อน (เหมือนก่อนแยกโฉนด) ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ได้รังวัดพื้นที่ครอบครองของแต่ละแปลงด้วย

    ในการวัดระยะแต่ละด้านมีปัญหาพอสมควร ต้องคอยค้านเพราะช่างมักจะวัดยาวกว่าที่เป็นจริงมาก (อาจเป็นเพราะต้องการให้ได้เท่ากับระยะในแผนที่หลังโฉนดซึ่งยาวกว่าระยะที่วัดได้จริง) บางด้านกว่าจะขอให้วัดใหม่ได้ก็ต้องโต้แย้งกันพอสมควร และเมื่อวัดใหม่โดยเราร่วมตรวจสอบด้วย (เฉพาะในเขตที่ดินของภรรยาผม) ก็จะได้ระยะที่สั้นลงมาก

    เมื่อรังวัดเสร็จ ช่างคำนวณเนื้อที่และแจ้งว่าที่ดินของภรรยาผมวัดได้ 109 ตารางวา (จากเนื้อที่ในโฉนด 111 ตารางวา) ส่วนที่ดินข้างเคียงวัดได้ 99 ตารางวา (จากเนื้อที่ในโฉนด 100 ตารางวา) คือขาดทั้งคู่ และหมายความว่าเนื้อที่รวมขาดไป 3 ตารางวา คือมี 208 ตารางวา จากเดิม 211 ตารางวา ซึ่งผมและภรรยาเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการรังวัดแบ่งแยกโฉนด หากเนื้อที่รวมไม่ถึง 211 ตารางวา เจ้าหน้าที่รังวัดต้องแจ้งให้ภรรยาผมทราบแล้ว นอกจากนี้ คุณปู่ที่ซื้อที่ดินแปลงนี้ให้ภรรยาผมเป็นอดีตนายช่างรังวัดของกรมที่ดินได้บรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” ก่อนลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพช่างรังวัดอิสระเมื่ออายุ 40 ปีเศษ จึงเป็นไปได้ยากที่ช่างรังวัดมืออาชีพอย่างท่านจะซื้อที่ดินเนื้อที่แค่ 211 ตารางวาผิดไปถึง 3 ตารางวา คุณปู่ท่านนี้ได้ชื่อว่าเป็นคนตรงและไม่ยอมคน เจ้าหน้าที่กรมที่ดินรุ่นเก่าๆจะรู้จักท่านดี

    เราขอให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกผลการรังวัดตามที่แจ้งเราข้างต้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมทำบันทึกตามนั้น โดยอ้างว่าการรังวัดดังกล่าวเป็นการรังวัดอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการตกลงภายในเพื่อดูว่าเนื้อที่ทั้งหมดเป็นเท่าไร ไม่ว่าเราจะโต้แย้งอย่างไร เจ้าหน้าที่ยังคงไม่ยินยอมที่จะบันทึกตามนั้น ในที่สุดเมื่อตกลงกันไม่ได้ เราขอให้แยกส่วนกันทำตามหน้าที่ของแต่ละคน คือใครสอบเขตแปลงไหนก็ทำไปตามขั้นตอนการสอบเขตของแปลงนั้นๆ

    สรุป ในส่วนของเราๆขอให้รังวัดพื้นที่ครอบครอง (เจ้าหน้าที่ยังคงยึดถือว่าการรังวัดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เป็นการงดรังวัด) ซึ่งก็ใช้ผลการรังวัดที่ทำไปในเช้าวันนั้น แต่เจ้าหน้าที่ยังคงไม่ยอมระบุเนื้อที่โดยประมาณในบันทึกถ้อยคำ (เจ้าหน้าที่วาดแผนที่สังเขปและลงระยะด้านต่างๆรอบแผนที่ให้ในบันทึก) อ้างว่ายังไม่ได้ตรวจสอบ เราบอกว่าถ้าอย่างนั้นให้เขียนว่าเป็นเนื้อที่โดยประมาณที่ยังไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบก็ได้ เขายังคงไม่ยอมเขียนอยู่ดี ในท้ายบันทึก เราขอให้สอบสวนปัญหาความคลาดเคลื่อนระหว่างผลที่ได้จากการรังวัดครั้งนี้กับที่ระบุในแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนด ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยอมบันทึกคำขอนี้ ทั้งๆที่หากพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินและระเบียบการรังวัดของกรมที่ดินแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นหน้าที่ของช่างรังวัดที่จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุของความแตกต่างดังกล่าวแล้วเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป อย่างไรก็ดี ในที่สุด เจ้าหน้าที่ยินยอมบันทึกคำขอนี้ สำหรับการสอบเขตของที่ดินข้างเคียง เราคัดค้านแนวเขตที่ข้างเคียงตลอดแนว โดยยังไม่ชี้แนวเขตใหม่เพราะรอผลการสอบสวนตามคำขอข้างต้น

    อันที่จริงผมและภรรยาก็คิดอยู่เหมือนกันว่าผลจะออกมาทำนองนี้ คือ ขาดทั้งคู่ เพราะหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทำให้การรังวัดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 เจ้าหน้าที่ก็รู้แล้วว่าเนื้อที่ของเราขาด แต่กลับทำให้เป็นการงดรังวัด และที่ดินข้างเคียงก็เปลี่ยนใจจากตอนแรกที่บอกให้เจ้าหน้าที่รังวัดวัดให้เราได้ตามโฉนดมาเป็นขอสอบเขตบ้าง

    ตอนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบครับ แต่เมื่อดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านๆมาไม่ว่าจะเป็นการรังวัดสอบเขตครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่บางคนทั้งระดับสูงระดับรองๆลงมาที่สำนักงานที่ดิน รวมถึงการสอบเขตครั้งหลังนี้แล้ว หนักใจ แต่ไม่ท้อนะครับ

    สิ่งที่หลายๆคนคิดว่าหมดไปจากเมืองไทยแล้วยังคงดำรงอยู่ การช่วยกันเป็นขบวนการตั้งแต่หัวถึงหางบวกด้วยอำนาจบางอย่างที่อยู่ข้างหลัง ทำให้เจ้าหน้าที่บางคนกล้าทำหรือต้องทำในสิ่งที่ปกติจะไม่ทำ (หรือว่าทำเป็นปกติก็ไม่ทราบนะครับ)

    ขอเรียนถามความเห็นและคำแนะนำของท่านอาจารย์ต่อกรณีข้างต้นครับ

    ขอบพระคุณมากครับ

     

    คำตอบ

    เรียน คุณเทียมจิตร

       ไม่รู้จะมีความเห็นอย่างไร นอกจากจะแนะนำว่า บางทีถ้ามันน่ารำคาญนัก ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่าที่ดินสองตารางวาที่ว่าขาดหายไปและไม่รู้ว่าหายไปไหน จะคุ้มกับการมีศัตรูเป็นเพื่อนบ้าน และมีเจ้าหน้าที่เป็นปฏิปักษ์กันต่อไปหรือไม่

     เมื่อหลายปีก่อนแม่บ้านของผมไปซื้อที่ดินที่ต่างจังหวัดแปลงหนึ่ง เนื้อที่ ๔ ไร่ เมื่อสอบเขตเรียบร้อยแล้วก็ดำเนินการทำรั้ว คนที่มีที่ดินอยู่ติดกันก็มาร้องห่มร้องไห้ว่า เมื่อ 40 กว่าปีก่อน เจ้าของที่ดินที่เราไปซื้อเขามา ได้รุกล้ำที่ดินของเขาประมาณครึ่งเมตร ชีวิตเขาต้องทุกข์มานานแล้ว เราก็ขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดินไปตรวจสอบใหม่ว่าเนื้อที่ดินตามที่ปรากฏในโฉนด และหลักเขตที่เป็นอยู่นั้น ถูกต้องทั้งตำแหน่งและเนื้อที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่มาสอบแล้วก็ยืนยันว่าถูกต้องตรงกัน แต่เจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ยังยืนยันว่าพ่อของเขาถูกโกงมา ที่ดินส่วนที่เขาอ้างว่าถูกรุกล้ำนั้น จะมีเนื้อที่ประมาณ ๔๐ กว่าตารางวา ผมจึงถามแม่บ้านของผมว่า ถ้าได้ที่ดินส่วนนั้นมาแล้วจะทำให้มีความสุขอยู่หรือไม่ เธอก็ตอบว่า เฉย ๆ ไม่ได้สุขขึ้นหรือทุกข์ขึ้น ผมก็ถามต่อไปว่าถ้าต้องเสียไปจะทำให้ยากจนลงหรือไม่ เธอก็ว่าไม่ได้ทำให้ยากจนลง ผมจึงบอกกับเธอว่า ถ้าที่ดินดังกล่าวเคยเป็นของเขาจริง การคืนให้เขาไปก็จะได้ไม่มีเวรกรรมต่อกัน แต่ถ้าที่ดินส่วนดังกล่าวไม่ได้เคยเป็นของเขา แต่เขาอยากได้ ไม่ว่าจะด้วยมูลเหตุเพราะเข้าใจผิดหรือความโลภ การที่เขาได้ไป ย่อมเกิดความสุขขึ้น การทำให้คนอื่นมีความสุขโดยเราไม่ได้เดือดร้อนนั้น เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นให้เขาไปเถิด ซึ่งเธอก็ตกลงยอมร่นรั้วเข้ามา เพื่อนบ้านคนนั้นเข้ามากราบกับพื้น ด้วยใบหน้าที่มีความสุขสม และเราก็มีเพื่อนบ้านที่ดีไม่ต้องคอยนอนสะดุ้ง เป็นกุศลที่เห็นทันตา เล่ามาให้ฟังเผื่อจะทำให้เกิดความเย็นลงได้บ้าง

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    27 มกราคม 2548