ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    021657 หมดกำลังใจในการทำงานกับราชภัฏอาจารย์ราชภัฏ8 พฤษภาคม 2550

    คำถาม
    หมดกำลังใจในการทำงานกับราชภัฏ

    เรียนท่านมีชัย

                ดิฉันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งซึ่งท่านมีชัยมีตำแหน่งเป็นประธานสภามหาวิทยาลัย ในปี 2550 ดิฉันและเพื่อนอาจารย์จำนวนหนึ่ง ได้รับมอบหมายให้ทำงานวิจัยเรื่อง “การประเมินโครงการต่อสู้ความยากจนตามแนวชายแดน” ในนามของมหาวิทยาลัย โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และหัวหน้ากลุ่มวิจัยในนามของมหาวิทยาลัย ได้ลงนามในสัญญาการวิจัยไปเมื่อวันพุธที่ 11 เมษายน 2550 การวิจัยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่คณะทำงานกลุ่มเดียวกัน ได้รับความไว้วางใจจาก กอ.รมน.

                งานวิจัยครั้งนี้จำเป็นต้องเก็บข้อมูลจากหมู่บ้านในจังหวัดต่าง ๆ ตามแนวชายแดน จำนวน 889 หมู่บ้าน จาก 17 จังหวัด เช่น อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นต้น หลังจากได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว ทางกลุ่มผู้วิจัยได้ตกลงกันว่า จะพยายามเก็บข้อมูลวิจัยให้ได้มากที่สุดก่อนเปิดภาคการศึกษา ในวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อให้กระทบต่อการเรียนการสอนน้อยที่สุด เนื่องจากสถานที่ที่จะต้องไปแต่ละแห่งนั้นอยู่ห่างกัน และไกลจากตัวจังหวัดมาก โดยได้กำหนดการเดินทางดังนี้ 2-4 พ.ค. ภาคตะวันออก 7-11 พ.ค. ภาคเหนือ 14-18 พ.ค. ภาคใต้ 28 พ.ค.-1 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันตกนั้นยังมิได้กำหนดวัน

                ในการเดินทางดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้จ่าย ได้แก่ ค่าทำแบบสอบถาม ค่าน้ำมัน ค่าเบี้ยเลี้ยงและอาหารของผู้เก็บข้อมูล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอยืมเงินจากทางมหาวิทยาลัย โดยหัวหน้ากลุ่มวิจัยได้ทำเอกสารเพื่อขอยืมเงินจำนวนหนึ่ง แต่ได้รับการปฏิเสธจากท่านอธิการบดี ด้วยการไม่ลงนามในหนังสือสัญญายืมเงิน โดยอ้างว่า ไม่มีระเบียบรองรับ และไม่เคยให้ใครยืมเงิน ซึ่งการยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการทำงานนี้เป็นเรื่องปกติที่มีการยืมอยู่เสมอ และมีหนังสือสัญญายืมเงินที่ชัดเจน ทำให้คณะทำงานมีความรู้สึกสงสัยในเหตุผลที่ท่านอธิการอ้าง และรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างมาก แต่เนื่องด้วย ได้สั่งทำแบบสอบถาม และได้นัดหมายกับเจ้าหน้าที่ที่ปลายทางไว้แล้ว จึงได้เดินทางไปยัง อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด และ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อเก็บข้อมูลตามกำหนดการเดิม โดยคณะวิจัย ได้รวบรวมเงินส่วนตัวเพื่อเดินทางไปเอง ในวันที่ 2-4 พ.ค. การเดินทางครั้งนี้ระยะทางสั้นที่สุดในพื้นที่ในการวิจัย ใช้เงิน ค่าน้ำมัน และค่าอาหารถึง 9,000 บาท ค่าเอกสาร ประมาณ 3,000 บาท จากนั้นจึงได้ยกเลิกการเดินทางที่เหลือไว้ก่อน เนื่องจากคาดว่าไม่มีกำลังทรัพย์พอเพียงที่จะรับผิดชอบเองได้

                จากการกระทำดังกล่าวของท่านอธิการบดี ทำให้คณะทำงานเสียกำลังใจในการทำงาน เนื่องจาก คณะวิจัยได้รับงานในนามของมหาวิทยาลัย แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย ทั้ง ๆ ที่ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรที่ระยองรีสอร์ท จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.-2 พ.ค. ซึ่งท่านมีชัยเอง ก็ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ท่านอธิการบดีได้กล่าวไว้ในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า ยินดีที่จะให้การสนับสนุนงานวิจัย ต้องการให้คณะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้มีงานวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองและมหาวิทยาลัย แต่เมื่อถึงเวลาที่กลุ่มของดิฉันได้ขอความช่วยเหลือ โดยถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัยกลับได้รับการปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ทั้ง ๆ ที่ผลงานที่ทำสามารถใช้เป็นผลงานเพื่อเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยได้ ดิฉันจึงมีเรื่องที่จะขอคำแนะนำจากท่านมีชัยดังนี้

    1.      ในความคิดเห็นของท่าน ท่านอธิการบดีกระทำเช่นนี้ด้วยเหตุผลใด เพราะการลงนามในหนังสือสัญญายืมเงิน หรือเบิกเงินจากมหาวิทยาลัยแต่ละครั้ง ท่านอธิการบดีจะลงนามช้ามาก บางครั้งส่งเรื่องล่วงหน้าเป็นเดือน เมื่อถึงเวลาท่านอธิการบดีก็ยังไม่ลงนาม ทำให้หลาย ๆ คน เบื่อที่จะทำงานให้กับมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวดิฉันด้วย สำหรับดิฉันได้เบนเข็มมาทำงานวิจัยเพื่อเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ก็ปรากฏว่ายังพบปัญหาเดิม เพราะการเบิกจ่ายเงินจะต้องผ่านมหาวิทยาลัย หากเป็นเช่นนี้ อาจารย์จำนวนมากคงจะหมดกำลังใจในการทำงาน และทุกคนคงสอนตามหน้าที่ไปวัน ๆ ไม่คิดจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อให้เป็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

    2.      หากดิฉันและคณะวิจัยจะยกเลิกการวิจัยครั้งนี้จะมีผลใดต่อหัวหน้าคณะวิจัยในฐานะผู้ลงนามแทนท่านอธิการบดี หรือไม่ เนื่องจากในสัญญาของการวิจัยจะมีการปรับค่าเสียหายหากงานวิจัยไม่เสร็จสิ้น คณะวิจัยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเหล่านั้นด้วยหรือไม่ เพราะหากคณะทำงานไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังจะต้องรับผิดชอบแทนมหาวิทยาลัย ก็ดูเหมือนจะไม่ยุติธรรมต่อคณะทำงานนัก มีข้อกฎหมาย กฎระเบียบใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่จำเป็นต้องทราบ

    3.      ตามความคิดเห็นของท่าน ปัญหาเช่นนี้ควรจะแก้โดยวิธีใด หรือมีเหตุผลใดที่ดิฉันควรทำความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปราบรื่นมากขึ้น

    ด้วยความเคารพอย่างสูง

    น.ส.อาทิมา แป้นธัญญานนท์

    คำตอบ

    เรียน อาจารย์อาทิมา

    1. ผมไม่ทราบว่าท่านอธิการบดีทำด้วยเหตุผลใด จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ไม่มีระเบียบว่าด้วยการยืมเงินทดรอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็สมควรมีระเบียบเช่นว่านั้นเสียโดยเร็ว  อย่างไรก็ตามผมคิดว่ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ลองเดินไปขอพบท่านอธิการบดีถามไถ่เหตุผล หรือหนทางแก้ไขเสีย ก็น่าจะได้เรื่องกระจ่างและรวดเร็วขึ้น

    2. ถ้าคุณยกเลิก คุณก็อาจต้องชำระเบี้ยปรับเป็นส่วนตัว หรือถูกไล่เบี้ยเอาในภายหลังได้

    3. การจะรู้ว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีใด ก็ต้องรู้เป็นเบื้องต้นเสียก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร การที่จะรู้ก็คือเดินไปถามต้นตอด้วยตนเอง

        โดยปกติในการทำสัญญาจ้างวิจัยนั้น นายจ้างจะจ่ายเงินให้ในวันทำสัญญาประมาณ 10 - 15 % ซึ่งผู้วิจัยสามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้ไม่ใช่หรือ กรณีของคุณทำไมจึงไม่มีเงินจำนวนนั้น อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 พค. จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย ถ้าถึงวันนั้นยังไม่ได้เรื่อง ก็ขอเชิญมาพบผมได้จะได้ดูให้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและจะแก้ไขกันได้ด้วยวิธีใด

     

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    8 พฤษภาคม 2550