ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    046387 ทุจริต แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย เอาผิดไม่ได้จริงหรือผู้ใหญ่บ้าน1 มีนาคม 2555

    คำถาม
    ทุจริต แต่ยังไม่เกิดความเสียหาย เอาผิดไม่ได้จริงหรือ

    เรียน อาจารย์มีชัยครับ

    นายก อบต.

    1.บังคับข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ทำประมาณราคาค่าซื้อหินคลุกสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม นายก อบต. ก็จัดพิมพ์ประมาณการราคาค่าซื้อหินคลุก แล้วลงนามด้วยตนเอง

    2.สั่งให้เจ้าหน้าที่ ดำเนินการจัดซื้อหินคลุก โดยวิธีพิเศษ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเหตุผลถูกต้องตามเงื่อนไขใดๆในระเบียบพัสดุ มิหนำซ้ำยังระบุในคำสั่งให้ซื้อกับผู้ขาย โดยระบุชื่อผู้ประกอบการในคำสั่ง ว่า "ให้จัดซื้อหินคลุกโดยวิธีพิเศษ โดยจ่ายขาดจาดเงินสะสม 1,800,000 บาท และ ให้ซื้อกับ นาย ก.(นามสมมุติ) ให้จงได้ก่อนเที่ยงวันนี้ มิฉะนั้นจะถือว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา และ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"

    3.เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตามลำดับชั้น ทำบันทึกขอให้ นายก อบต.ทบทวนคำสั่ง เนื่องจาก

       3.1 การประมาณราคาค่าซื้อหินคลุกสูงกว่าความเป็นจริง ผิดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณราคาของทางราชการ และ อาจทำให้เกิดความเสียหาย จากการซื้อเป็นเงิน 500,000 บาท

       3.2 การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เห็นสมควรให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ ซึ่งมีขั้นตอนในการนำสืบราคาหินคลุกจากผู้ขายโดยตรง เปรียบเทียบ ต่อรองราคา ฯลฯ แล้วจึงเสนอชื่อผู้ขายที่เห็นสมควรต่อ นายก อบต. เพื่อพิจารณา (มิใช่ระบุตัวผู้ขายในคำสั่ง)

    4.นายก อบต. บันทึกตอบกลับมา โดยไม่ทบทวนตามบันทึกแย้งของเจ้าหน้าที่ ยืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิมให้จงได้

    5.เจ้าหน้าที่บันทึกตอบ และ แย้งกลับไปครั้งที่ 2 พร้อมแนบกฎหมาย ระเบียบ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง ว่าผิดระเบียบ

    6.นายก อบต. บันทึกตอบกลับมาอีกครั้ง โดยไม่ทบทวนตามบันทึกแย้งของเจ้าหน้าที่ ยืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิมให้จงได้ และ ย้ำว่า หากไม่ปฏิบัติจะเอาผิดเจ้าหน้าที่ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

    7.เจ้าหน้าที่ เห็นว่าบันทึกแย้งถึง 2 ครั้งแล้ว ได้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนทางราชการแล้ว หากผู้บังคับบัญชายืนยันคำสั่งเดิม จึงต้องปฏิบัติตาม

    8.ผู้ขายหินคลุกเอาหินคลุกมาส่งเพียง 600 คิว จากสัญญา 3000 คิว โดย นายก อบต. เป็นผู้เซ็นรับใบส่งของ แล้วบันทึกลงนามระหว่าง นายก อบต. กับผู้ขายหินคลุก โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่ทราบเรื่อง โดยบันทึกว่า "เพื่อผลประโยชน์ของทางราชการ ผู้ขายหินคลุกยินดีนำหินคลุกไปเทลงถนนที่ชำรุดพร้อมทำการปรับเกลี่ย " เจตนาพิเศษเพื่ออำพรางปริมาตรหินคลุก มิให้คณะกรรมการตรวจรับหินคลุกสามารถวัดปริมาณได้

    9.คณะกรรมการถูก นายก อบต.เรียกตัวขึ้นพบที่ห้องทำงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้วยความกลัวจึงได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทำการการแอบบันทึกภาพและเสียงมิให้ นายก อบต. รู้ตัว ได้หลักฐานเป็นการบันทึกภาพและเสียง บทสนทนาของ นายก อบต. ข่มขู่ให้คณะกรรมการทำการตรวจรับ หากใครไม่ตรวจรับ ก็ต้องเตรียมตัวออกจากราชการ เพราะผู้ขายหินคลุกจะต้องฟ้องแน่ๆ และ หากใครตรวจรับจะให้ 2 ขั้นทุกปี จะให้ความเจริญก้าวหน้าทางราชการ และที่สำคัญจะแบ่งเงินให้ใช้ด้วย

    10.คณะกรรมการตรวจรับไม่ทำการตรวจรับ พร้อมกับให้ความเห็นในการที่ไม่ตรวจรับไว้ในบันทึกการตรวจรับหินคลุก และ เสนอให้หน่วยงานกลางที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าทำการตรวจวัดปริมาณหินคลุก

    11.โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ส่งวิศวกรพร้อมเครื่องมือ เข้าทำการตรวจวัดปริมาณหินคลุก ด้วยหลักวิชาการทางสถิติอย่างละเอียด พบว่า ปริมาณหินคลุกมีเพียง 600 ลบม. (หายไปไม่ครบตามสัญญาซื้อขาย 3000 ลบม.)

    12.ประชาชน + ส.อบต. จำนวน 4 ใน 5 ของสภาฯ + ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน +เจ้าหน้าที่และข้าราชการทุกคน เข้าชื่อในหนังสือ และ หลักฐานวีดีโอบันทึกภาพและเสียง ถึงนายอำเภอ ขอให้ปลดนายก อบต. ตาม ม.92 พรบ.องค์การบริหารส่วนตำบล ฯ

    13. นาย อำเภอออกคำสั่งระงับการเบิกจ่ายเงินไว้ชั่วคราว และให้ตั้งกรรมการสอบสวน นายก อบต. และ สุดท้ายคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า เป็นการออกคำสั่งของนาย อบต.ที่ผิดระเบียบ และ หนังสือสั่งการจริง และมีความพยายามในการทุจริต  แต่เนื่องจาก อบต.ยังไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายเงิน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษว่ากล่าวตักเตือนนายก อบต.

    14. ประชาชนร่วมกันลงชื่ออีกครั้ง นำข้อกฎหมายส่งนายอำเภอ เรื่องการทุจริต ตามมาตรา 157 ว่า

          มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากการกระทำนั้นไม่เกิดความเสียหายแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมารา 157 แต่ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิด

     

    15. นายอำเภอ ส่งเรื่องกลับคืนให้คณะกรรมการสอบสวน ให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติม

    16. คณะกรรมการ อ้างว่า ไม่เคยพบฏีกาคำพิพากษาใด ระบุว่าความพยายามในการทุจริต แต่ยังไม่สำเร็จเป็นความผิด จึงยืนยันผลการสอบสวนตามเดิม

     

    ผมจึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า

    1.หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผมได้เขียนสรุปจริง เราสามารถดำเนินการต่ออย่างไรได้ (นอกจากการร้องต่อ ปปช.) อาทิเช่น ฟ้องศาลอาญาเลยได้หรือไม่

    2.หากศาลอาญาพิพากษา ว่า นายก อบต.ท่านนี้ผิดจริง ลงโทษจำคุก ผมจะเอาผิดกับคณะกรรมการสอบสวนได้หรือไม่ ที่ตีความกฎหมายไม่ถูกต้อง

    คำตอบ
    1. ถ้าคำว่า "เรา" หมายถึงประชาชน ก็ทำไม่ได้ ได้แต่จะไปกล่าวโทษต่อตำรวจ (หรือส่งเรื่องให้ ปปช. ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี) ทางที่ดีควรส่งเรื่องกล่าวหาไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งกล่าวหานายอำเภอและคณะกรรมการสอบสวนด้วย เพราะถ้าหลักฐานปรากฏชัดอย่างที่เล่ามา ทั้งนายอำเภอและคณะกรรมการสอบสวนก็คงต้องร่วมทุจริตกับเขาด้วย
    มีชัย ฤชุพันธุ์
    1 มีนาคม 2555