ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    039107 ผู้จัดการมรดกไม่ยอมเปิดพินัยกรรมสรงประภา8 กุมภาพันธ์ 2553

    คำถาม
    ผู้จัดการมรดกไม่ยอมเปิดพินัยกรรม

    เรียนถาม อาจารย์มีชัย

    คุณป้าทำพินัยกรรมหลังจากทราบว่าป่วยเป็นมะเร็ง ฉบับแรกเมื่อเดือน สิงหาคม 2551 ทำเป็นพินัยกรรมธรรมดาต่อหน้าทนาย โดยระบุยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้สามี (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)(คือบ้านและอาคารพาณิชย์ที่สามีอยู่อาศัยและทำธุรกิจอยู่) และอีกส่วนหนึ่ง (บ้านและที่ดินที่คุณป้าอยู่) ให้หลานอีก 2 คน (คุณป้าไม่มีบุตร หลาน 2 คนนี้เป็นลูกของน้องสาวฝาแฝดซึ่งยังมีชีวิตอยู่)

    ต่อมาเดือนสิงหาคม 2551 คุณป้าจดทะเบียนกันสามี และหลังจากจดทะเบียนได้ประมาณ 1 อาทิตย์คุณป้าได้ไปทำพินัยกรรมเมือง ยกทรัพย์สินทั้งหมดให้สามีและให้สามีเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีใครทราบ) จากนั้นเดือนมิถุนายน 2552 คุณป้าได้โอนทรัพย์สินบางส่วน (อาคารพาณิชย์) ให้สามี

    ต่อมาคุณป้าเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม 2553 สามีของคุณป้าได้ไปทำเรื่องขอโอนทรัพย์สิน (บ้านที่สามีอาศัยอยู่) ทันทีในวันที่คุณป้าเสียชีวิต และพูดกับเพื่อนของคุณป้าว่าคุณป้ายกบ้านและที่ดินที่คุณป้าอาศัยอยู่ให้ตนเอง  หลังจากเสร็จงานพิธีศพ หลานซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับมรดกในพินัยกรรมฉบับแรกได้บอกกล่าวแก่สามีคุณป้าว่าถ้ามีพินัยกรรมฉบับใหม่ให้เอามาเปิด แต่สามีคุณป้าก็ประวิงเวลาเรื่อยมา และกล่าวว่าคุณป้าโอนทรัพย์สินอื่นๆ ให้ตนเองหมดแล้ว เหลือแต่บ้านซึ่งคุณป้าอาศัยอยู่เท่านั้นที่ยังไม่ได้โอน หลานจึงได้ไปขอพินัยกรรมฉบับแรกจากทนายมา และติดต่อให้สามีคุณป้านำพินัยกรรมฉบับใหม่มาเพื่อเปิด เนื่องจากผ่านมา 1 เดือนกว่าแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ยอมนำพินัยกรรมมาเปิด

    หลังจากนั้นหลานจึงได้ไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน จึงได้ทราบว่าทรัพย์สินบางส่วนโอนไปตั้งแต่คุณป้ายังไม่เสียชีวิต ส่วนบ้านที่สามีคุณป้าอาศัยอยู่นั้นได้ทำเรื่องขอโอนเมื่อวันที่คุณป้าเสียชีวิต หลานจึงได้ทำการร้องค้านเนื่องจากยังไม่มีการเปิดพินัยกรรม (และได้ทราบข้อความจากพินัยกรรมฉบับใหม่จากสำนักงานที่ดินในวันที่ไปทำเรื่องขอร้องค้าน)

    ขอเรียนถามดังนี้

    1. หลานและแม่ (น้องสาวคุณป้า) มีสิทธิร้องค้านการโอนบ้านทั้ง 2 หลังได้หรือไม่ และหลังจากร้องค้านแล้วควรทำอย่างไรต่อ

    2. ร้องค้านการโอนอาคารพาณิชย์ที่โอนไปก่อนคุณป้าเสียชีวิตด้วยได้หรือไม่

    3. ทรัพย์สินที่เป็นพวกเครื่องทอง เพชร พลอยที่ไม่ได้ระบุในพินัยกรรม สามารถร้องให้ผู้จัดการมรดกแจกแจงด้วยได้หรือไม่

    4. ถ้าต้องขึ้นศาลจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไร (มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 10 ล้าน)

    5. คุณป้าทำประกันชีวิตไว้ให้หลานคนหนึ่ง และได้ไปยื่นเรื่องเคลมสินไหมมรณกรรมแล้วแต่ยังขาดเอกสารคือบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านคุณป้า และใบมรณบัตรตัวจริง  ซึ่งร้องขอไปยังสามีคุณป้าแล้วแต่ไม่ยอมเอาเอกสารมาให้ ทั้งๆ ที่เดินทางมากรุงเทพก็หลายครั้งแล้ว ไม่ทราบว่าเราจะสามารถไปขอคัดเอกสารเหล่านี้จากทางอำเภอได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร

    6. คุณป้าทำหนังสือมอบหุ้นสหกรณ์ให้แก่สามีและหลาน โดยระบุให้หลานเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ส่วนที่เหลือยกให้สามี แต่เนื่องจากหลานขอเอกสารเพื่อไปเคลมประกันแล้วสามีคุณป้าไม่ยอมให้ หลานจึงผลัดผ่อนการส่งเอกสารกับทางสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์ไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ทั้งสามีคุณป้าและหลานได้ หลานจะมีความผิดอะไรหรือไม่

    เกี่ยวกับหุ้นสหกรณ์ หลังจากคุณป้าป่วยเข้าไอซียู สามีคุณป้าได้นำเอกสารระบุการยกหุ้นให้ไปเก็บรักษาไว้ (เดิมคุณป้าเก็บสำเนาไว้ที่บ้าน) และในระหว่างที่คุณป้าเข้าไอซียู สามีคุณป้าได้พยายามที่จะไปขอปิดหุ้น เนื่องจากถ้าปิดหุ้นได้เงินจะโอนเข้าบัญชีคุณป้าซึ่งระบุว่าหากคุณป้าเสียชีวิตเงินในบัญชีนี้จะตกเป็นของสามี (โดยที่สามีคุณป้าอ้างว่าไม่ทราบว่ามีผู้รับผลประโยชน์ 2 คน แต่จริงๆแล้วทราบ เนื่องจากพบเอกสารในตู้คุณป้า และเป็นคนกล่าวแก่หลานที่มีชื่อรับร่วมเองว่าจะนำเอกสารไปทำสำเนามาให้) แต่ทางสหกรณ์ไม่ยินยอมเนื่องจากมีผู้รับผลประโยชน์ 2 คน และคุณป้าไม่สามารถที่จะทำธุรกรรมด้วยตนเองได้แล้ว

    7. เกี่ยวกับกรณีนี้ ถ้าต้องขึ้นศาล เราสามารถนำพยานบุคคล (ทนายที่ไปด้วยในวันที่ไปขอปิดหุ้นสหกรณ์ และหลาน (ผู้รับผลประโยชน์ร่วม) และหลานสะใภ้ (เป็นบุคคลซึ่งทราบว่าเอกสารเก็บอยู่ที่ไหน เนื่องจากเป็นคนดูแลคุณป้าในขณะป่วย) ไปเป็นพยานได้หรือไม่ว่า สามีคุณป้าต้องการบิดเบือนและรับผลประโยชน์เพียงคนเดียว

    ขอขอบพระคุณอย่างสูง

    คำตอบ
    อะไรที่โอนไปแล้วก่อนป้าเสียชีวิต ก็ตกเป็นของผู้รับโอนโดยสมบูรณ์แล้ว เว้นแต่คุณจะมีหลักฐานแสดงว่ามีการหลอกลวงให้ป้าโอนให้ สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้โอนก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าพินัยกรรมฉบับใดมีผลหรือหักล้างกันหรือไม่  เมื่อมีทนายความอยู่แล้วควรปรึกษากับทนายความจะเหมาะกว่าเพราะเขาจะได้ซักไซร้ไล่เลียงรายละเอียดได้
    มีชัย ฤชุพันธุ์
    8 กุมภาพันธ์ 2553