ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    049828 ความรับผิดโดยเคร่งครัด, ความรับผิดโดยสมบูรณ์ และผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อมเอกชัย7 กุมภาพันธ์ 2557

    คำถาม
    ความรับผิดโดยเคร่งครัด, ความรับผิดโดยสมบูรณ์ และผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม

    เรียนถามอาจารย์มีชัย

     

    ผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบัญญัติความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict liability)/ ความรับผิดโดยสมบูรณ์ (Absolute liability) ในทางอาญา และการกระทำความผิดเองโดยอ้อม (Innocent Agent) มีรายละเอียดดังนี้

    1.      ความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict liability)/ ความรับผิดโดยสมบูรณ์ (Absolute liability) ในคดีอาญา

    พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ..2482 มาตรา16 บัญญัติว่า การกระทำที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 27 และ มาตรา99 แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนา หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่

    หลักการในมาตราดังกล่าวได้ตัดองค์ประกอบภายใน (ตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญา) ออกไป จะถือว่าขัดกับหลักที่ว่า ความรับผิดจะเกิดต่อเมื่อบุคคลนั้นต้องมีความผิดซึ่งเป็นหลักความยุติธรรมและหลักการพื้นฐานเรื่องความรับผิดในทางอาญาหรือไม่ โดยเฉพาะมาตรา 27 (ฐานหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร) ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ..2469 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดความผิดกำหนดโทษไว้ให้จำคุกสูงสุดถึง 10ปี, อีกทั้งยังเป็นการตัดโอกาส (ปิดปาก) ในการสู้คดีของจำเลยไม่ให้ปฏิเสธหรือยกข้อต่อสู้ใดๆได้เลย และมีความเป็นไปได้ที่มาตรา16 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ (โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 3, 39, 40) หรือไม่

    2.      การกระทำความผิดเองโดยอ้อม (Innocent Agent)

    สืบเนื่องจากมาตรา 16 ได้ตัดองค์ประกอบภายในออกไปโดยไม่สนใจว่าผู้กระทำจะมีเจตนาหรือประมาทหรือไม่ ผมจึงขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

    บริษัท A. นำเข้าสินค้าผ้าไหมโดยมีสำนักงานใหญ่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจโดยแท้จริงอยู่ต่างประเทศ บริษัท A. มีนาย ก.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆในการดำเนินธุรกิจโดยแท้จริงซึ่งรวมถึงการสำแดงราคาศุลกากรนี้ด้วยโดยต้องทำตามคำสั่งที่สำนักงานใหญ่เป็นผู้ออกคำสั่งเท่านั้นและได้ปฏิบัติเช่นนั้นเรื่อยมา วันหนึ่งหากศุลกากรเห็นว่าผ้าไหมที่บริษัท A. นำเข้ามานั้นเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 27 จึงดำเนินคดีทั้งบริษัท A. และนาย ก. เพราะปรากฏลายมือชื่อของนาย ก. ในการเซ็นเพื่อสำแดงราคา หากไม่มีมาตรา 16 มากำกับแล้ว ผมเข้าใจว่านาย ก. น่าจะเป็น Innocent Agent (เครื่องมือในการกระทำความผิด) ของบริษัท A. เท่านั้น แต่เนื่องจากมาตรา 16ปิดปากนาย ก. ซึ่งถูกดำเนินคดีไปด้วยโดยไม่ให้เถียงว่าไม่มีเจตนา/ ประมาท ดังนี้แล้วนาย ก. ยังถือว่ามีสถานะเป็นInnocent Agent (กลายเป็นผู้ที่ไม่มีความผิด) อยู่หรือไม่ กล่าวคือ Innocent Agent สามารถนำมาอธิบายเพื่อให้นาย ก. ซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงหลุดพ้นความรับผิดได้หรือไม่ครับ

     

    ขอขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้าครับ

     

    คำตอบ

    1. ตามรัฐธรรมนูญ ม.๓๙ กำหนดแต่เพียงว่าจะต้องรับผิดต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้  หลักก็มีอยู่เพียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการมีเจตนาหรือไม่มีเจตนา  ส่วน ม. ๕๙ ของ ป.อาญา ก็บัญญัติไว้แล้วว่า กฎหมายอาจกำหนดไว้ชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้จะกระทำโดยไม่เจตนาก็ได้  กฎหมายศุลกากร ก็คือ ตัวอย่าง ของมาตรา ๕๙ ป.อาญา นั่นแหละ

    2. ตัวอย่างของคุณผิดตรงที่ไปสมมุติว่า นาย ก. ไม่มีอำนาจ ซึ่งเป็นการยอมตกอยู่ภายใต้อาณัติของคนอื่น แต่ตามกฎหมายนั้น เมื่อ นาย ก.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเต็มของบริษัท นาย ก.ก็ย่อมมีอำนาจที่จะคิดที่จะตัดสินใจ  การที่นาย ก.ยอมตนทำตามคำสั่งของบริษัทที่ต่างประเทศ ก็เป็นความรับผิดชอบของนาย ก.เองที่ยอมตกอยู่ใต้อาณัติเขา   เหมือนกับรัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงเมืองไทย ที่กฎหมายให้อำนาจออกใบอนุญาตไว้  แต่ด้วยความ เกรงกลัวห้ัวหน้าพรรคที่ตนสังกัดหรือที่แอบคุมกระทรวงนั้นอยู่ แล้วไม่ยอมอนุญาตให้คนที่มาขออนุญาต จนกว่าจะได้รับการพยักหน้าจากหัวหน้าพรรค อย่างนี้ถ้าเวลามีคนฟ้องว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวงนั้นก็ต้องรับผิดชอบเอาเอง  จะอ้างว่าตนเองเป็นเครื่องมือคนอื่นเห็นจะไม่ได้  


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    7 กุมภาพันธ์ 2557