ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    024773 การพิจารณาผลการบังคับใช้ของกฎหมายลำดับรองณฐธนา26 พฤศจิกายน 2550

    คำถาม
    การพิจารณาผลการบังคับใช้ของกฎหมายลำดับรอง

    กราบเรียน ท่านอาจารย์ มีชัย ที่เคารพอย่างสูง

    ดิฉันได้อ่านคำตอบของท่าน (สำหรับคำถามที่ 012514) ที่ว่า โดยปกติเมื่อกฎหมายแม่ถูกยกเลิกแล้ว บรรดากฎหมายลูกที่ออกตามกฎหมายแม่ย่อมถูกยกเลิกไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น แล้วเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า ในกรณีดังกล่าว หากว่าบทเฉพาะกาลที่กำหนดในกฎหมายฉบับใหม่ได้รองรับบรรดากฎหมายลูกที่ออกตามกฎหมายแม่ที่ถูกยกเลิก ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายใหม่ ดังนี้ ในวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ กฎหมายลูกจะยังคงมีผลใช้บังคับอยู่หรือไม่ ในเมื่อในวันดังกล่าวกฎหมายแม่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว (มีกฎหมายบางฉบับที่ใช้ข้อความเช่นนั้น)

    หากถือว่ากฎหมายลูก ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ จะพิจารณาอย่างไรว่ากฎหมายลูกดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายใหม่หรือไม่ มีหลักการในการพิจารณาอย่างไร และเพื่อความชัดเจน ดิฉันขอยกกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมาหนึ่งตัวอย่าง ดังนี้

    พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้ยกเลิกกฎหมายสองฉบับ โดยหนึ่งในนั้น คือ พรบ.ป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2542 ซึ่งให้อำนาจ รมว.มท. ออกกฎหมายลูก คือ ระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง กำหนดคุณสมบัติของพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง โดยผู้มีอำนาจแต่งตั้งก็คือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น (หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง รวมนายก อบจ. ด้วย) พนักงานดับเพลิง ที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตาม ปอ.มีหน้าที่ในการป้องกันและระงับอัคคีภัยตาม   พรบ,ดังกล่าว

    สำหรับ พรบ.ใหม่ ไม่ได้กำหนดให้มีพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง แต่มี "เจ้าพนักงาน" เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยผู้อำนวยการแต่ละระดับเป็นผู้แต่งตั้ง (ได้แก่ อธิบดีกรม ปภ. ผวจ. ผว.กทม. ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งไม่รวม ผว.กทม. และนายก อบจ. ) ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้เป็นไปตามที่ รมว.มท.กำหนด เจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายนี้ เป็นเจ้าพนักงานตาม ปอ. และมีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

    ดังนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายใหม่ จะนำระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง ที่ออกตามกฎหมายเก่ามาใช้บังคับกับการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายใหม่ไปพลางก่อนได้หรือไม่ เพียงใด

    อนึ่ง พนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิงที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายเดิม จะถือว่าพ้นจากหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งหรือไม่ หรือยังคงมีหน้าที่ตามกฎหมายใหม่ต่อไปโดยรับผิดชอบเฉพาะส่วนของการป้องกันและระงับอัคคีภัย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ในส่วนของพนักงานดับเพลิง จะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใหม่หรือไม่ คำว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ตาม พรบ.นี้

    มีผู้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายใหม่ ระเบียบว่าด้วยการแต่งตั้งพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิงดังกล่าว ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยไม่ถือว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายใหม่นั่นคือผู้ที่เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายเดิม ยังคงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิงได้อยู่ โดยให้ทำหน้าที่ตามกฎหมายใหม่เฉพาะในส่วนของการป้องกันและระงับอัคคีภัยความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

    สำหรับความเห็นส่วนตัวของดิฉัน เห็นบทบัญญัติของกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่มีหลายส่วน ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิงจำกัดอยู่เพียงในการป้องกันและระงับอัคคีภัย แต่เจ้าพนักงาน ตามกฎหมายใหม่มีขอบเขตครอบคลุมสาธารณภัยทุกประเภท  และเมื่อพิจารณาตัวบุคคลผู้มีอำนาจแต่งตั้งก็มีความแตกต่างกัน กฎหมายเก่าให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงนายก อบจ. ด้วย แต่ตามกฎหมายใหม่ นายก อบจ.ไม่ได้เป็นผู้อำนวยการ ไม่มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ดังนี้ จะถือว่าขัดหรือแย้งกันหรือไม่ อย่างไร

    หากคำตอบสุดท้าย คือ กฎหมายลูกบทด้งกล่าวสิ้นผลใช้บังคับแล้ว ในระหว่างที่ยังไม่มีการออกกฎหมายลูกบทเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ผู้อำนวยการ ผู้รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ จะออกคำสั่งแต่งตั้ง หรือมอบหมายผู้ใดให้ช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในขณะที่ยังไม่มีภัยเกิดขึ้นจะได้หรือไม่ เพียงใด (ในกรณีเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัย ผู้อำนวยการ มีอำนาจสั่งการบุคคลใดๆ ให้ปฏิบัติการอย่างใดได้ตามความจำเป็น)

    กราบขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ โปรดให้ความกระจ่างแก่ดิฉันด้วยค่ะ

    ขอกราบขอบพระคุณค่ะ

     

     

    คำตอบ

    เรียน คุณณฐธนา

    1. โดยปกติบทเฉพาะกาลจะเขียนว่า "...ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ"  หรือบางทีก็ใช้ว่า "...ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งก็คือวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ (เพราะปกติกฎหมายจะใช้ในวัน"ถัด"จากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา)  มีอยู่บ้างเหมือนกันที่ใช้ว่า "..ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ" ซึ่งคงจะเป็นการหลงลืม หรือเพราะมีเหตุผลเป็นการเฉพาะ

    2. สำหรับตัวอย่างที่ยกมานั้น เห็นว่า เนื่องจาก พนักงานดับเพลิงและอาสาดับเพลิง ไม่มีแล้วในพระราชบัญญัติใหม่ กฎดังกล่าวจึงใช้ต่อไปไม่ได้  สำหรับหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการแต่งตั้งนั้น โดยทั่วไปจะถือว่าเมื่อมีความจำเป็นและยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ก็เท่ากับการไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องยึดถือ การแต่งตั้งจึงทำได้ตามอำนาจหน้าที่ของผู้แต่งตั้ง ที่ว่านี้เป็นหลักทั่ว ๆ ไป ส่วนกฎหมายใดจะแปลว่าอย่างไร ต้องดูข้อความในกฎหมายนั้น ๆ ว่าเขียนอย่างไร

     


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    26 พฤศจิกายน 2550