ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    015984 คุณธรรมและจริยธรรมpopeye31 มกราคม 2549

    คำถาม
    คุณธรรมและจริยธรรม

    เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

            ผมเหนื่อยอ่อนกับการได้รับข่าวในทางที่ไม่ดีของท่านผู้นำจริง ๆ ฟังแล้วถ้าเป็นจริงก็มองไม่เห็นอนาคตของประเทศไทย  จะมีกลไกใด ๆ หรือมาตรการใด ๆ ที่จะทำให้นักการเมืองในประเทศไทย มีจริยธรรมและคุณธรรมมากกว่ากฏหมาย ผมรู้สึกว่าในบ้านเมืองเรา นักการเมืองไม่รู้ความหมายว่าทำได้กับไม่ควรทำ แตกต่างกันอย่างไร ที่ระบายมานี้ขอเรียนวาผมเป็นข้าราชการระดับสูงพอสมควร ได้พบได้เห็นลักษณะอาการอย่างนี้มาตลอด ไม่ใช่พึ่งมีนะครับ

                                                      จากคนเสียภาษี popeye

    คำตอบ

    เรียน popeye

           การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นแบ่งเป็นยุค ๆ ในยุคต้น ๆ อำนาจอยู่ในมือทหาร  บริหารบ้านเมืองจึงเป็นในลักษณะค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อาจมีการทุจริตกันบ้าง แต่โดยที่ทหารถูกอบรมสั่งสอนมาให้มีระเบียบวินัย รักชาติ รักสถาบัน การจะทำการใดในทางไม่ดี ก็ยังมีขอบเขต เพราะความมีระเบียบวินัยและความรักชาติรักสถาบันเป็นกรอบไว้ไม่ให้นอกลู่ทางนัก  ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นได้ว่า เนื่องจากเป็นทหาร จึงกลัวคนจะหาว่าเป็นเผด็จการ ทำอะไรจึงคอยเหลียวหน้าแลหลังอยู่ เรียกว่าจะเป็นประชาธิปไตย ก็ขัดกับอุปนิสัยที่ถูกอบรมบ่มมา  จะใช้อำนาจเด็ดขาดอย่างทหารเต็มที่ ก็กลัวคนจะว่าเอา

         

         ยุคต่อมา เป็นยุคของคนที่สนใจการเมืองที่มีภูมิหลังจากทั่ว ๆ ไปบ้างจากการที่เคยเป็นอดีตข้าราชการบ้าง การบริหารบ้านเมืองแม้จะค่อนข้างประชาธิปไตย แต่ก็ขาดความคิดใหม่ ขาดความเด็ดขาด มีการประพฤติมิชอบ บ้าง แต่เมื่อไม่มีความคิดใหม่เสียแล้ว การทุจริต ก็ไม่ได้แยบยลอะไรนัก ในยุคนี้นักธุรกิจยังพึ่งพานักการเมือง เพื่ออาศัยอำนาจทางการเมืองนำไปสู่ผลประโยชน์ในทางธุรกิจ

         มาถึงยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่โลกวิวัฒนาการไปในทางเศรษฐกิจเสรี มือใครยาวสาวได้สาวเอา นักธุรกิจเล็งเห็นแล้วว่า อำนาจการเมืองนั้นบันดาลสิ่งต่าง ๆ ในทางธุรกิจให้ได้ และเมื่อนักธุรกิจมีเงิน มีช่องทาง มีความคิดใหม่ มีความกระตือรือล้นในการแข่งขัน  ย่อมมองเห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องยาก  แทนที่จะนั่งรออาศัยใบบุญของนักการเมือง ก็โดดมาเป็นนักการเมืองเสียเองน่าจะถนัดมือกว่า

         อันความคิดของธุรกิจนั้น แตกต่างจากความคิดของผู้ปกครองบ้านเมือง  ในพื้นฐานสำคัญ กล่าวคือ ทั้งในแง่วิธีการ และวัตถุประสงค์  กล่าวคือ สำหรับธุรกิจนั้น การลงทุนทุกชนิด ย่อมต้องหวังกำไร และกำไรยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นความสำเร็จมากเท่านั้น ในระหว่างเส้นทางแห่งธุรกิจ ความยุติธรรมของภาคธุรกิจก็คือ คนที่แข็งแรงกว่า คนที่คิดได้ก่อน คนที่เดินไปข้างหน้า และคนที่สามารถอยู่เหนือคู่แข่งขันทั้งหลายได้ ย่อมเป็นการได้เปรียบ และเป็นการได้เปรียบที่ถือว่าเป็นการยุติธรรม  ใครก็ตามที่สามารถทำให้คู่แข่งล้มไปได้ การที่สามารถควบคุมกลไกของการตลาดได้ การทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยในสินค้าของตนหรือใช้บริการของตน และทำให้ตนเสียภาษีน้อยที่สุดได้ ย่อมถือว่าเป็นคนเก่ง และคนดีสำหรับแวดวงธุรกิจ และเป็นคนที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ ในทางธุรกิจ  ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ กับประชาชน หรือส่วนรวมของสังคมอย่างไร เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องไปจัดการดำเนินการกันเอาเอง  โดยสรุป ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีอยู่ ๒ ด้าน คือสิ่งที่ "ต้องทำ" เพราะจะได้กำไร  กับสิ่งที่ "ต้องไม่ทำ" เพราะไม่ได้กำไร หรือเสี่ยงต่อการขาดทุนสูง  จะไม่มี "สิ่งที่ไม่ควรทำ" ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อย่างธุรกิจบัตรเงินด่วน ที่พยายามชักจูงใจให้ผู้คนมาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาของคนในรากหญ้า ครั้นคนเหล่านั้นผิดนัดในการชำระหนี้ ก็มีวิธีการทวงถามสารพัดวิธี แม้จะทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกกระจาย หรือมีชีวิตต่อไปไม่ได้ แต่ผู้ประกอบธุรกิจก็ทำ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำในการทวงหนี้ มิฉะนั้นก็เกรงว่าจะมีคนเอาอย่าง การที่นักธุรกิจยอมลดลาวาศอกอะไรให้ใครนั้น ไม่ใช่เกิดเพราะคุณธรรม หากแต่เป็นเพราะเมื่อคิดต้นทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว การทวงหนี้ต่อไปจะไม่คุ้ม เขาจึงยอมลดลาวาศอกให้ เราจึงมักจะได้ยินผู้คนในแวดวงนักธุรกิจพูดถึง สถานะ ที่ทุกฝ่าย win - win อยู่เสมอ นั่นแปลว่าต่างฝ่ายต่างคิดต้นทุนกำไรแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์จึงทำ ไม่ใช่เพราะเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน/P>

          แต่ผู้บริหารหรือผู้ปกครองบ้านเมืองนั้น วัตถุประสงค์อยู่ที่ความผาสุขของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของสังคม ความมีวัฒนธรรม หรือรากเหง้าที่ต้องรักษาไว้ การลงทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ไม่สามารถเล็งเห็นกำไรเป็นตัวเลข หรือคำนึงถึงต้นทุนจนเกินไปไม่ได้   ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า การที่รัฐลงทุนระบบชลประทาน การวิจัยค้นคว้าหาพืชพันธุ์ที่ดีที่สุด การประกันราคา เหล่านี้เมื่อรวมเป็นเงินแล้ว ก็อาจจะมากกว่ารายได้ที่เกษตรกรผลิตสินค้าไปขายได้เสียอีก แต่รัฐก็ต้องลงทุน เพื่อให้ประชากรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง เป็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  ในการกระทำของผู้บริหารหรือผู้ปกครองบ้านเมือง นั้น แทนที่จะมีเพียง ๒ ด้าน จึงมี ถึง ๓ ด้าน  คือ สิ่งที่ "ต้องทำ" เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม กับสิ่งที่ "ต้องไม่ทำ" คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรือก่อความเสียหายในระยะยาวแก่สังคมหรือประเทศ  กับสิ่งสุดท้าย คือ " สิ่งที่ไม่พึงทำ" เพราะจะเป็นการปลูกฝังแนวคิดที่ไม่ดี หรือทำให้สังคมเปลี่ยนทิศทาง หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน    ตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญนั้น กำหนดไว้ว่า การขอรับบำเหน็จบำนาญต้องกระทำเสียภายใน ๑ ปี นับแต่วันพ้นจากราชการ ซึ่งเป็นการกำหนดอายุความไว้  แต่รัฐบาลในอดีต ดูเหมือนจะสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่า เมื่อข้าราชการมาขอรับบำเหน็จบำนาญ แม้จะพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ให้กระทรวงการคลังยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้   เพราะบำเหน็จบำนาญนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการที่สุจริตใช้เลี้ยงชีวิต รัฐจึงไม่ควรยกเรื่องเวลาขึ้นทำให้วัตถุประสงค์นั้นต้องเสียไป เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว และโลกพัฒนาไปจนแม้แต่มติ ครม.ดังกล่าวก็หาไม่พบ และกระทรวงการคลังก็เริ่มใช้ข้อต่อสู้เรื่องอายุความ

             เมื่อยุคนี้เป็นยุคที่นักธุรกิจเข้าสู่แวดวงการเมืองมากขึ้น แนวคิดต่าง ๆ จึงมุ่งไปในทางธุรกิจมากขึ้น  ข้าราชการจึงเริ่มมีโบนัส ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจกับ การหายไปของ "สิ่งไม่พึงทำ" ในแวดวงของบ้านเมือง 

            


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    31 มกราคม 2549