ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
     
         ถาม-ตอบ กับมีชัย จะเป็นกุญแจ ไขข้อข้องใจของทุกๆท่าน ในเรื่องกฎหมายและการเมือง โดยท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะขจัดความสงสัยที่เกิดขึ้นของคุณให้หมดไป เมื่อคุณส่งคำถามเข้ามาที่นี่ ส่งคำถาม
    คำสำคัญ
    ค้นหาใน
     
    เลือกประเภทคำถาม-ตอบ > การเมือง | กฏหมาย | เศรษฐกิจ | ทั่วไป | มรดก | แรงงาน | ท้องถิ่น | มหาวิทยาลัย | ราชการ | ครอบครัว | ล้มละลาย | ที่ดิน | ค้ำประกัน | 22128 ค้ำ | archanwell.org | ล้างมลทิน | 24687 | hhhhhhhhhhh | คำถามทั้งหมด ... อ่านสักนิดก่อนตั้งคำถาม

    ปิดหน้าต่างนี้
    คำถามที่ หัวข้อคำถามโดยวันที่
    012819 การบังคับคดีกับผู้ค้ำประกันเสาวนีย์6 มกราคม 2548

    คำถาม
    การบังคับคดีกับผู้ค้ำประกัน

    เมื่อประมาณสิบปีก่อน อาสะใภ้ของสามีดิฉันได้ไปกู้เงินกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยแอบนำชื่อของสามีดิฉันไปเป็นผู้ค้ำประกันโดยที่สามีไม่รู้เรื่อง คืออาสะใภ้แอบทำเอกสารโอนที่ดินสามแปลงของใครไม่ทราบมาเป็นชื่อของสามีดิฉัน แล้วนำที่ดินแปลงดังกล่าวมาค้ำประกันเงินกู้ และทำอย่างเดียวกันนี้กับญาติอีกคนหนึ่ง ในการกู้เงินอาสะใภ้ได้นำชื่อของอาผู้ชายมาเป็นผู้ค้ำด้วย (หรือผู้กู้ร่วม ตรงนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน)

    ต่อมาหนี้กลายเป็นหนี้ NPL และมีสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งมาซื้อหนี้นี้ไป และฟ้องดำเนินคดีกับอาสะใภ้เป็นจำเลยที่ 1 อาผู้ชายเป็นจำเลยที่ 2 สามีดิฉันเป็นจำเลยที่ 3 และญาติอีกคนเป็นจำเลยที่ 4 ตอนนี้อาสะใภ้หายตัวไปนานแล้ว โดยที่อาผู้ชายเองก็ไม่ทราบว่าอาสะใภ้อยู่ที่ไหน (เขาก็แค้นอยู่เหมือนกันค่ะ)

    เมื่อเดือนก่อนศาลเพิ่งตัดสิน (ฟ้องคดีปี 44) ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ เงินต้น 1.8 ล้าน ดอกเบี้ย 1.9 ล้าน หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่ค้ำออกขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 และ 4 ออกขายทอดตลาดจนครบ ตอนที่สู้คดีจำเลยที่ 3 และ 4 ก็ให้การว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร แต่ไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่างหาก ดิฉันคิดว่าศาลคงไม่ให้ความสนใจประเด็นนี้

    คำถามคือ

    1.  ทำไมศาลถึงตัดสินให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 และ 4 เท่านั้นคะ ไม่ยึดของจำเลยที่ 1 และ 2 ด้วย

    2.  ที่ดินที่ว่านี้อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่อาผู้ชายบอกว่ารู้สึกจะมีสิ่งปลูกสร้างอยู่และมีคนอยู่ด้วย ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่ที่ดินเป็นชื่อสามี การฟ้องขับไล่ ใครต้องดำเนินการคะ

    3.  คดีนี้คงไม่มีใครชำระหนี้อยู่แล้ว ก็ปล่อยให้เขาขายทอดตลาดทรัพย์ค้ำประกันไป เพราะยังไงก็ไม่ใช่ของเราอยู่แล้ว แต่คิดว่าขายทอดตลาดทั้งหมดก็คงไม่พอใช้หนี้ อยากทราบว่าขั้นตอนการบังคับคดีขายทอดตลาดน่าจะใช้เวลานานมากไหมคะ แล้วถ้าเราไม่มีอะไรให้เขายึดขายชำระหนี้จนครบ คดีจะเป็นอย่างไร เขาจะฟ้องอย่างอื่นได้อีกหรือเปล่า

    4.  สามีมีที่ดินเองอยู่สองแปลง เราไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินทั้งสองแปลงกำลังประกาศขายอยู่ ตอนนี้ควรทำอย่างไรดี ไม่ต้องการให้เขามายึดทรัพย์เรา เพราะเราไม่ได้เจตนาค้ำประกันหนี้ให้เขา ระหว่างที่ยังขายไม่ได้ และทรัพย์ค้ำประกันยังขายทอดตลาดไม่เสร็จ ที่ดินของเราจะยังปลอดภัยอยู่หรือเปล่าคะ หรือควรจะให้เขาโอนขายมาให้ดิฉันเลย (ที่แย่ก็คือ เวลาขายจริงจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% เพราะถือครองไม่ถึง 5 ปี)

    5.  คดีแบบนี้มีอายุความกี่ปี นับจากวันไหนคะ วันตัดสินคดีหรือเปล่า ถ้าพ้นอายุความไปแล้ว สามีก็หลุดพ้น สามารถมีทรัพย์สินอื่น ๆ เองได้ใช่ไหมคะ

    6.  เรามีบริษัทจำกัดร่วมกัน สามีถือหุ้นใหญ่ และเป็นกรรมการบริษัท คดีนี้จะมีผลกระทบต่อบริษัท และหุ้นที่เขาถืออยู่หรือไม่

    7.  ถ้าเราอยู่เฉย ๆ ไม่ดำเนินการอะไรเลย ปล่อยให้เขาขายทอดตลาดทรัพย์ไป เราจะมีความผิดอะไรหรือเปล่า โทษหนักมั้ยคะ

    ตอนนี้สามีกลุ้มใจมากเลยค่ะ เราเพิ่งเริ่มตั้งตัว เพิ่งจะมีลูก ก็มาเจอคดีที่ไม่ได้ก่อซะแล้ว ขอความกรุณาคุณมีชัยช่วยตอบคำถามด้วยนะคะ

    ขอบคุณมากค่ะ

    เสาวนีย์

    คำตอบ

          1.  การยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดคงมุ่งหมายเฉพาะทรัพย์สินที่จดทะเบียนค้ำประกันไว้ ส่วนทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้หรือค้ำประกันนั้น เป็นผลพวงอยู่แล้ว คือ ถ้าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วน เจ้าหนี้ก็สามารถขอหมายศาลไปยึดทรัพย์สินมาชำระหนี้ได้ ทางที่ดีควรนำเคำพิพากษาของศาลมาอ่่านให้ละเอียด จะได้รู้ว่าศาลพิพากษาว่าอย่างไร

           2. เมื่อเจ้าหนี้เขายึดไปและขายทอดตลาดแล้ว คนที่ซื้อไปเขาก็คงไปฟ้องขับไล่กันเองแหละ

           3. กระบวนการในการขายทอดตลาดอาจใช้เวลาประมาณ ๖ เดือน หรือบางทีก็นานกว่านั้น สุดแต่ว่าจะมีการโต้แย้ง หรือขายได้ตามราคาที่ประเมินไว้หรือไม่  ถ้าขายแล้วพอชำระหนี้และดอกเบี้ยก็แล้วกันไป ถ้าไม่พอ เขาก็มาตามยึดทรัพย์สินอื่นไปขายจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบ

          4. ที่ดิน ๒  แปลงที่ว่านี้ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งที่อยู่ในข่ายที่เจ้าหนี้จะมายึดได้ ถ้าขายไปก่อนที่เขาจะมายึดก็แล้วไป แต่ถ้ายังขายไม่ได้และเจ้าหนี้ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบ เขาก็ตามมายึดได้ แต่ถ้าขายได้แล้วมีเงินเหลืออยู่ เขาก็มายึดเงินนั้นไปแทนได้  จะมัวมาเสียดายค่าภาษีร้อยละ 3.3 อยู่ทำไม

          5. การติดตามหนี้ตามคำพิพากษา มีอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

          6. ถ้าที่ดินที่ค้ำประกันอยู่นั้นขายทอดตลาดแล้วเงินไม่พอชำระหนี้ และคุณไม่มีเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้เขายึด เขาก็ตามมายึดหุ้นที่อยู่ในบริษัทไปขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้ได้ จะกระทบบริษัทหรือไม่ก็ลองคิดดู

          7. ไม่มีความผิดอะไรหรอก  เขาขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ เขาก็ตามมายึดทรัพย์สินอื่น จนกว่าจะได้ครบนั่นแหละ

          เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ถ้ามัวแต่นั่งกลุ้มใจเฉย ๆ ก็คงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้  เรื่องคดีความนั้น เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องไปปรึกษากับทนายความให้เขาดูแลให้ มิฉะนั้นอาจจะหมดตัวได้


    มีชัย ฤชุพันธุ์
    6 มกราคม 2548