ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    ปัญหาของกฎหมายเลือกตั้ง

    ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนทั่วไปว่าการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งที่ทำเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้ว มีปัญหาติติงที่สำคัญ ๑ เรื่อง และปัญหาห่วงใยอีก ๑ เรื่อง ผมเห็นว่าถ้าไม่รีบทำความเข้าใจกัน ปัญหาอาจจะบานปลายไปได้


    ปัญหาติติงที่กำลังพูดจากันเป็นเรื่องใหญ่โต ถึงขนาดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะต้องนำไปเสนอทบทวนต่อคณะรัฐมนตรี คือเรื่องที่ร่างกฎหมายเลือกตั้งไปดึงเอาข้าราชการตุลาการ และประธานศาลฎีกา เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


    ตามร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้ กกต.มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการ และข้าราชการอื่น เป็นคณะกรรมการ เพื่อช่วยเหลือ กกต. ในการสอบสวนการทุจริตเลือกตั้ง ก่อนที่ กกต.จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครคนใด ในขณะเดียวกันได้จัดตั้งคณะกรรมการสูงสุดขึ้นอีกคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคำวินิจฉัยของ กกต.ก่อนที่จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครคนใด ว่าถูกต้องและมีความเที่ยงธรรมหรือไม่


    เรียกว่าเป็นขบวนการกลั่นกรองเบื้องต้น และเบื้องสุดท้าย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม เท่าที่จะจัดหามาให้ได้


    ที่ท่านผู้พิพากษาตุลาการท่านท้วงติงว่า เอาท่านมาทำงานที่ไม่ถนัดบ้าง เอามาทำนอกเหนือหน้าที่บ้าง ท่านไม่มีเวลาบ้าง ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่ ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ ใคร ๆ ก็ไม่ควรไปแตะต้องท่านให้ต้องลำบากลำบน


    ถ้าคณะกรรมการที่ไปร่างกฎหมายเลือกตั้ง สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คงไม่ทำเช่นเดียวกัน


    ความจำเป็นอยู่ตรงที่ว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ไว้ ให้มีอำนาจ ออกกฎระเบียบข้อบังคับ ดำเนินการเลือกตั้ง ตรวจสอบดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ตนออก กล่าวหาเองหรือรับข้อกล่าวจากบุคคลอื่น ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แล้ววินิจฉัยคำกล่าวหานั้น พร้อมทั้งลงโทษ เป็นเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในตัว


    ถ้ามีปัญหาใด ๆ ก็มีอำนาจตีความกฎหมายนั้น ๆ เสียเองอีกด้วย (อดีต สสร.ที่ไปเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด และกำลังจะไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านยืนยันว่าท่านทำของท่านไว้ถูกแล้ว)


    เรียกว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อยู่ในมือของท่านทั้งหมด


    ลองหลับตานึกดูว่า ถ้าเราให้ตำรวจเป็นคนออกกฎข้อบังคับให้ประชาชนปฏิบัติ แล้วตรวจสอบดูแลการปฏิบัติตามข้อบังคับ กล่าวหาเอง จับกุมเอง สอบสวนเอง ส่งฟ้องเอง ตัดสินเอง แล้วลงโทษเอง ถ้าสงสัยก็ตีความเสียเองด้วย เราจะนอนตาหลับหรือไม่


    ถ้าคณะกรรมการสามารถเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เราคงเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีกว่านี้ แต่เมื่อถูกจำกัดว่าไม่ให้แตะต้องรัฐธรรมนูญ จึงต้องพยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรผู้คนจึงจะได้รับความเป็นธรรมพอสมควร


    ในการใช้อำนาจของ กกต. วินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของใครนั้น กกต.ใช้อำนาจทั้งของตำรวจ อัยการ และศาล ไปพร้อมกัน จะไปเปลี่ยนแปลงอำนาจเหล่านั้นก็ไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมั่นใจว่าตนจะได้รับความเป็นธรรมพอสมควร ก็มีอยู่ ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ ต้องไปนำตัวเจ้าของอำนาจเดิม คือ ตำรวจ อัยการ และข้าราชการตุลาการ มาทำงานเสียเอง แทนที่จะปล่อยให้ กกต.ใช้อำนาจนั้นไปโดยลำพัง


    เรียกว่าเป็นการยกเอาจักรกลของขบวนการยุติธรรม (คือตัวบุคลากร) มาสอดแทรกไว้ โดยไม่ได้นำตัวขบวนการและวิธีการ (คือวิธีปฏิบัติและศาลอันเป็นสถาบัน) มาใช้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และในขณะเดียวกันสามารถให้หลักประกันในความยุติธรรมได้ตามสมควร


    ในขณะเดียวกันเมื่อ กกต. ได้ข้อยุติแล้ว ถ้าวินิจฉัยไปทันที การวินิจฉัยนั้นย่อมเป็นที่สุด ถ้าผิดพลาดอย่างไรก็ยากที่จะแก้ไขได้ จึงได้สร้างขบวนการตรวจสอบขึ้นอีกชั้นหนึ่ง โดยนำตัวบุคคลที่เป็นที่เชื่อถือได้ อันได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง อัยการสูงสุด และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ซึ่งมีความอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของใคร มาเป็นคณะกรรมการ เพื่อกลั่นกรองก่อนที่ กกต.จะมีคำวินิจฉัย


    วิธีการเช่นว่านี้ ถ้าไม่จำเป็นจนถึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่มีใครคิดจะทำ


    แต่เมื่อการเลือกตั้งกำลังใกล้จะมาถึง จะปล่อยให้ กกต. ดำเนินการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างที่ทำกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทุกคนก็เห็นแล้วว่าเกิดการชะงักงันกันอย่างไร ครั้นเมื่อให้อำนาจ กกต. เพื่อขจัดคนทุจริต ก็หวั่นเกรงกันว่าคนที่ถูกขจัดไปจะได้รับความเป็นธรรมเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กกต.จะสอบสวนอย่างไรจึงจะให้แล้วเสร็จภายในเร็ววัน


    จึงเหลือวิธีเดียว คือ ต้องไปรบกวนบุคลากร ที่มีวิธีคิด และมีจิตใจอันเป็นธรรม พอที่คนทั่วไปจะเชื่อถือได้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์


    แต่เพื่อมิให้เป็นการรบกวนท่านจนเสียงานเสียการ จึงให้ กกต.แต่งตั้งได้เฉพาะช่วงระหว่างการเลือกตั้งซึ่งไม่เกินสองเดือนเท่านั้น และให้ตั้งขึ้นมาเฉพาะในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานครซึ่งมีข้าราชการเหล่านี้อยู่มากพอสมควร ส่วนต่างจังหวัดที่ท่านมีกำลังพลอันจำกัดอยู่แล้ว ก็ไม่ให้ไปรบกวนท่าน


    ที่สำคัญเราหวังว่าเมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จสิ้นแล้ว คนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภาทั้งสอง และนักคิดทั้งหลาย จะได้ไปช่วยกันคิดทบทวนดูอีกทีว่า จะสมควรกำหนดขอบเขตแห่งอำนาจของ กกต. ให้มีมากน้อยเพียงไร และมีหนทางใดที่จะทำให้เกิดความเที่ยงธรรมในระยะเวลาอันจำกัดโดยไม่ต้องไปรบกวนท่านทั้งหลายเหล่านั้น


    บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องการการปฏิรูป ในขณะเดียวกันทุกฝ่ายคงมองเห็นแล้วว่าวิกฤติอย่างรุนแรงกำลังเกิดขึ้น ใครมีสติปัญญา หรือ มีขีดความสามารถอย่างไร ถ้าไม่ช่วยกันตอนนี้ แล้วจะไปช่วยกันตอนไหน


    เรื่องที่กำลังเป็นที่ห่วงใยกันอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การให้อำนาจ กกต. ตัดผู้สมัครที่ทุจริตให้พ้นไปจากความเป็นผู้สมัคร


    มีผู้สงสัยกันมากว่า การให้อำนาจเช่นว่านั้นเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่


    ในเรื่องนี้คงจะจำกันได้ว่า กกต.เคยออกระเบียบมาว่าผู้สมัครผู้ใดที่ทุจริตจนถูกแขวนมาครั้งหนึ่งแล้ว ถ้าในการเลือกตั้งใหม่ยังทุจริตอีก ก็ให้ กกต.มีอำนาจตัดสิทธิไม่ให้เป็นผู้สมัคร เรียกง่าย ๆ ว่า กกต.ออกระเบียบเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าระเบียบที่ออกมานั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ


    เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญก็คือ การที่บุคคลใดจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง (มาตรา ๑๐๗) และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างไรบ้าง (มาตรา ๑๐๙ บวกกับ มาตรา ๑๐๖) กกต.จึงไม่มีอำนาจออกระเบียบไปเพิ่มคุณสมบัติ หรือเพิ่มลักษณะต้องห้ามอะไรได้อีก


    เมื่อ กกต.ไม่สามารถเพิ่มเติมคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามได้ กกต.ย่อมไม่สามารถไปตัดสิทธิใครออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่าให้ “ใบแดง” แก่ใครได้


    แต่ความจำเป็นที่ กกต.จะต้องให้ “ใบแดง” แก่ผู้สมัครที่ทุจริต ก็มีอยู่ เพื่อมิให้คนทุจริตเข้ามารับเลือกตั้ง จน กกต.ต้องสั่งเลือกตั้งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


    เมื่อตรวจสอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๗ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๒๑ และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดไว้เหมือนกันว่า ลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งที่ทำให้บุคคลไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ คือ “อยู่ในระหว่างถูกเพิกสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา” แต่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”


    แปลเป็นภาษาธรรมดาก็คือ ตามรัฐธรรมนูญเดิม ๆ นั้น การที่จะถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเป็นผู้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ส่วนตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หากใครถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าใครจะเป็นผู้สั่งถอน ย่อมมีผลทำให้ผู้นั้นไม่สามารถเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้


    แล้วใครเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


    คำตอบก็คือสุดแต่ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ใครเป็นผู้มีอำนาจ


    ที่ผ่านมาในอดีต กฎหมายให้อำนาจไว้แก่ศาลในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยระบุไว้โดยแจ้งชัดว่ากรณีใดบ้างศาลจึงจะมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นเวลาเท่าใด


    แต่ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้มอบอำนาจเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งปวงไว้ที่ กกต. ดังนั้นถ้าหากกฎหมายจะให้อำนาจ กกต. สั่งเพิกถอนเลือกตั้งด้วย ก็ย่อมทำได้ เพราะแม้แต่ไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง และสั่งให้เลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจที่ใหญ่กว่า และแต่เดิมก็กำหนดให้เป็นอำนาจของศาล รัฐธรรมนูญและกฎหมายยังมอบให้เป็นอำนาจของ กกต.ได้


    เมื่อมีช่องทางเช่นนั้น จึงได้มีการกำหนดไว้ในร่างกฎหมายเลือกตั้งที่ยกร่างกันครั้งนี้ ให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่ทำการทุจริตในการเลือกตั้งได้ เมื่อบุคคลใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว บุคคลนั้นย่อมขาดสิทธิที่จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งอีกต่อไป ดังนั้นกกต.จึงสามารถตัดชื่อบุคคลนั้นออกจากรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง (หรือที่เรียกกันว่าให้ “ใบแดง” ) ได้ โดยไม่มีเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ


    วิธีนี้เป็นการเดินทางอ้อม แต่ให้ผลอย่างเดียวกัน


    แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อรัฐบาลไม่ให้เดินทางตรง (คือแก้รัฐธรรมนูญ) ก็จำเป็นต้องเดินตามทางที่มีอยู่อย่างจำกัดเช่นนี้

    มีชัย ฤชุพันธุ์