ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    การอยู่อย่างมีความสุขในสังคมประชาธิปไตย

    ๒๔ มิถุนายน เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นปีที่ ๖๙ ของประชาธิปไตยไทย


    เราเรียนรู้อะไรกันบ้างจากห้วงเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา


    คงบอกได้ยากว่าถึงวันนี้เราได้เรียนรู้ หรือพัฒนาอะไรไปบ้าง แต่ที่แน่ ๆ คือเรากำลังมาถึงจุดที่ถูกทดสอบว่าความนึกคิดของเราเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร และจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสุขสงบหรือไม่


    ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ส่วนที่สำคัญที่สุดที่พร่ำพูดและห่วงใยกันอยู่เสมอมา คือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน


    สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นต้นตอของสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น สิทธิและเสรีภาพของสื่อ สิทธิและเสรีภาพทางวิชาการ สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา


    การแสดงความคิดเห็นในทางใดทางหนึ่งจึงเป็นสิทธิที่มีอยู่ในทุกผู้ทุกคน


    เมื่อใครคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งมีความคิดเห็นต่อเรื่องราวหนึ่งในทางหนึ่ง คนอีกอีกคนหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่งก็อาจมีความคิดเห็นในเรื่องราวเดียวกันในอีกทางหนึ่งที่แตกต่างกันเหมือนดำกับขาวได้ โดยไม่ได้แปลว่าคนทั้งสองคนหรือสองกลุ่มนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นความผิดหรือถูก


    เป็นเรื่องของนานาจิตตัง


    บางเรื่องก็เป็นเรื่องของความชอบหรือไม่ชอบตามทัศนคติของคน การที่คนอื่นไม่ชอบหรือชอบอันเป็นการตรงกันข้ามกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้ว่าใครผิดหรือถูก หรือใครดีกว่าใคร


    คนบางคนชอบดูหนังโศกเศร้าหรือที่เรียกว่าหนังชีวิต เพราะคิดว่ามีสาระและเป็นคติสอนใจในการดำเนินชีวิต แต่คนอีกบางคนชอบหนังตลก เพราะถือว่าชีวิตของคนเราก็มีปัญหาอยู่แล้วทำไมจึงต้องไปดูปัญหาชีวิตของคนอื่นอีก เมื่อจะดูหนังทั้งทีก็ควรดูอะไรที่ทำให้ชีวิตสนุกสนาน


    ถ้าคนสองคนนั้นมานั่งถกเถียงกันว่าผู้สร้างหนังควรจะสร้างหนังประเภทไหน หรือเถียงกันว่าใครถูกใครผิด ก็รังแต่จะฆ่ากันตายเปล่า หรืออย่างน้อยก็คงมองหน้ากันไม่ได้อีกต่อไป


    ถ้าเพียงแต่รู้จักคิดว่าคนที่ชอบหนังชีวิต เขาก็ไปดูหนังชีวิต ส่วนคนที่ชอบหนังตลกก็ไปดูหนังตลก ซึ่งล้วนเป็นสิทธิและเสรีภาพของแต่ละคน อีกคนหนึ่งจะไปเดือดร้อนอะไรกับเขาด้วย


    จะเกิดประโยชน์อะไรกับการไปห้ามปรามไม่ให้เขาดูหนังที่เขาชอบ หรือไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ไม่รู้จักใช้เวลาหรือเงินให้เป็นประโยชน์ หรือไปเกรงกลัวว่าถ้ามีคนไปดูหนังประเภทนั้นมาก ๆ เดี๋ยวผู้สร้างจะพากันสร้างหนังประเภทนั้นจนหมด หรือจะพากันชักจูงให้คนอื่น ๆ ที่ยังไม่ชอบหนังประเภทนั้นพลอยเห็นดีเห็นงามจนพากันไปดูหนังประเภทนั้นกันมากขึ้น


    เป็นความกลัวที่เป็นไปไม่ได้


    เพราะคนที่ไม่ชอบหนังประเภทนั้นตรงกับที่เราไม่ชอบนั้น ถึงใครจะชักจูงอย่างไรก็คงไม่เปลี่ยนใจได้ง่าย ๆ มิฉะนั้นเราเองก็คงเปลี่ยนใจไปเสียนานแล้ว ส่วนคนที่เขาหันไปดูหนังประเภทที่เราไม่ชอบนั้น ย่อมแปลว่าเขามีทุนเดิมที่ชอบ ๆ อยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องอะไรของเราที่จะต้องไปกีดกันหรือโกรธแค้นให้เป็นทุกข์เป็นร้อน


    ในสังคมประชาธิปไตย ความหลากหลายแห่งความคิดเห็นย่อมมีอยู่เสมอ ในบางครั้งความคิดเห็นหนึ่งอาจเป็นที่ยอมรับของคนส่วนมาก คนส่วนน้อยก็มีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันได้ แต่เมื่อได้แสดงความคิดเห็นให้ปรากฏแล้วก็ต้องวางใจว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แม้ว่าในหลายกรณีความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางที่ผิด ๆ และความคิดเห็นของคนส่วนน้อยนั่นแหละเป็นสิ่งที่ถูก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปว่ากล่าว หรือด่าว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความแค้นเคือง


    เพราะการกระทำเช่นนั้นนอกจากจะสร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นกับตนเองแล้ว บางทีผลของการกระทำเช่นนั้นอาจสร้างความแตกแยกในสังคมและทำให้บ้านเมืองเสียหายเสียยิ่งกว่าการปล่อยให้คนส่วนใหญ่คิดผิด ๆ เสียด้วยซ้ำไป


    ในสังคมประชาธิปไตย คนทุกคนจึงต้องรับฟังความคิดเห็น ความชอบ หรือไม่ชอบของคนอื่นได้อย่างสงบ อย่างมีอุเบกขา เพราะเราเองก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในแนวทางที่เราเห็นว่าดี ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องรับฟังได้ด้วยอาการอันสงบและอย่างมีอุเบกขาเช่นกัน


    โดยต่างฝ่ายต่างต้องไม่ให้ร้ายกันและกัน และไม่ชี้นิ้วกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งว่าผิด


    คนที่ชอบทำเช่นนั้นไม่มีวันที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสุขสงบ และไม่อาจอ้างได้ว่าตนรักหรือเป็นประชาธิปไตย เพราะในทุกเรื่องทุกราว และในทุกวัน จะมีเรื่องราวที่มีคนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และไม่ตรงกับที่เราคิดอยู่เป็นประจำ


    ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยใช้ความรักหรือความชอบมาเป็นพลังผลักดันให้เกิดการรวมตัวเพื่อสนับสนุนหัวหน้ารัฐบาล


    เคยใช้แต่ความไม่ชอบ ความโกรธ หรือความเกลียด เป็นพลังผลักดันในการรวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาลหรือหัวหน้ารัฐบาล


    กรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าจงใจปกปิดรายการทรัพย์สินที่กำลังโด่งดังและเป็นที่สนใจของผู้คนอย่างเคร่งเครียดนี้ เป็นครั้งแรกที่มีคนใช้ความรัก ความชอบ และความหวังที่ฝากไว้ มาเป็นพลังผลักดันให้เกิดการรวมตัวในการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีกันหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีรูปแบบต่าง ๆ กัน


    กลุ่มแรกคือกลุ่มของอาจารย์หมอเสม พริ้งพวงแก้ว ที่ออกมาชักชวนผู้คนให้ส่งชื่อและที่อยู่มาเพื่อแสดงความสนับสนุนนายกรัฐมนตรี กลุ่มนี้นับวันแต่จะขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ทั้งยังมีคนในวงการต่าง ๆ อีกไม่น้อยที่เจริญรอยตามในทำนองเดียวกันแต่ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน บ้างก็ไปแสดงความรักความสนับสนุนด้วยตนเอง บ้างก็ใช้วิธีส่งจดหมายไปให้


    กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ออกมาชักชวนผู้คนให้ติดธงเหลืองเพื่อเรียกร้องว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่านายกรัฐมนตรีได้กระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา ก็อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ยืดเวลาการตัดสินออกไป เพื่อว่าบ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง


    กลุ่มที่สามมีทั้งที่ปรากฏตัวและไม่ปรากฏตัวแต่ทำด้วยวิธีการต่าง ๆ ในการโจมตี ป.ป.ช. และเลขาธิการ ปปช. ที่เป็นตัวแทน ปปช.ไปดำเนินการในศาลรัฐธรรมนูญ


    ในขณะเดียวกันก็เป็นของธรรมดาที่เมื่อมีคนรักคนชอบแล้ว ก็ย่อมมีคนไม่รักไม่ชอบ หรือรู้สึกเฉย ๆ ประชาชนส่วนนี้ แม้จะไม่ได้รวมตัวกันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ก็ได้กระจัดกระจายแสดงความไม่เห็นด้วย ต่อต้าน หรือตอบโต้ด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน


    กลุ่มที่หนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่มีใครมาเรียกร้องให้ลงชื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ด้วยเกรงว่าจะเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ


    กลุ่มที่สองออกมากล่าวหาคนที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีว่าเป็นการประจบนายกรัฐมนตรีบ้าง ตั้งฉายาที่เป็นผู้นำความคิดดังกล่าวไปในทางเสีย ๆ หาย ๆ บ้าง พยายามลดความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านั้นบ้าง


    กลุ่มที่สาม ก็โจมตีหรือว่าร้ายนายกรัฐมนตรีให้เสียหายเพื่อให้สะใจ เพราะทนไม่ได้กับการที่มีใครมาสนับสนุนคนที่ตนไม่ชอบ


    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นจุดที่ทดสอบความรู้สึกของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของผู้คน และจะเป็นจุดที่จะแสดงว่าแล้วคนไทยได้พัฒนาความนึกคิดให้สอดคล้องกับหลักการแห่งประชาธิปไตยไปมากน้อยเพียงไร


    ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นกลางในแง่มุมของหลักการประชาธิปไตย การกระทำของคนที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี อาจแยกแยะได้ดังนี้


    การกระทำของคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ย่อมอยู่ในครรลองของระบอบประชาธิปไตย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแต่อย่างใด ส่วนกลุ่มที่ชักชวนให้ติดธงเหลืองนั้น เห็นได้ชัดว่ามุ่งหวังให้เกิดผลในการผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการที่ไม่ใช่หลักปฏิบัติที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพึงทำได้ ซึ่งนอกจากจะไม่ประสบผลสำเร็จแล้วยังอาจกระทบถึงความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นคนที่ยังไม่เข้าใจหลักของประชาธิปไตยและคงยากที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสุขสงบ


    ส่วนการกระทำของคนที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ก็อาจแยกแยะในหลักการเดียวกันได้ดังนี้


    การกระทำของคนกลุ่มที่หนึ่งเป็นการใช้สิทธิตามครรลองของประชาธิปไตยอย่างน่านับถือ คือเมื่อไม่เห็นด้วยกับการที่มีคนสนับสนุนนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็แสดงความคิดเห็นของตนออกมาให้ปรากฏอย่างมีเหตุมีผล ส่วนคนกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม คงยากที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างมีความสุขเพราะมัวไปเคียดแค้นกับความรู้สึกหรือความคิดเห็นของคนอื่นว่าทำไมจึงไปชอบคนที่เราไม่ชอบ


    ความคิดเห็นในเชิงให้ร้าย หรือชี้นิ้วว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด เพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกับตนนั้น ถ้าไม่ค่อย ๆ รู้จักขจัดให้ลดน้อยลงหรือหมดไปในที่สุด ย่อมจะสร้างอารมณ์ขุ่นมัวและความเคียดแค้นไปจนตลอดชีวิต จนกลายเป็นคนหงุดหงิดได้ง่าย เสียหายกับตัวเองและสังคมเป็นส่วนรวม


    เพราะเมื่อเคียดแค้นกันมาก ๆ เข้า ย่อมจะนำไปสู่ความแตกสามัคคี และเกิดการวิวาทบาดหมางกันได้


    ใครจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนไป จะเข้าชื่อกันอย่างไร จำนวนเเท่าใดก็เข้าชื่อกันไป โดยไม่จำเป็นต้องไปด่าว่าหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อ ปปช. หรือเลขาธิการ ปปช. ถ้าจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ ปปช. ก็มีสิทธิจะแสดงความคิดเห็นด้วยเหตุด้วยผลได้


    ส่วนใครจะสนับสนุนการกระทำของ ปปช. หรือให้กำลังใจเลขาธิการ ปปช. ก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้โดยเสรี ไม่จำเป็นต้องไปกล่าวหาหรือชี้นิ้วด่าว่าคนที่เขาสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ถ้าจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของใคร ก็มีสิทธิเช่นเดียวกันที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยนั้นให้ปรากฏด้วยเหตุและด้วยผล


    ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะมีความสุขด้วยกันทุกฝ่าย สังคมก็จะอยู่ได้ด้วยความสงบ ไม่แตกความสามัคคีกันขึ้น


    นี่ก็จะย่างเข้าปีที่ ๗๐ ของระบอบประชาธิปไตยของไทยแล้ว เราจะไม่หัดทำใจให้มีอุเบกขาต่อความคิดเห็นของคนอื่นที่ไม่ตรงกับเรากันบ้างหรือ ?


    แล้วเราจะอยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความหลากหลายในความคิดกันอยู่เป็นประจำได้อย่างมีความสุขและสงบกันได้อย่งไร?


    วันนี้บังเอิญตรงกับวันครบรอบ ๑ ปีของการถือกำเนิดของเว็บ MEECHAITHAILAND.COM จึงขอถือโอกาสนี้อวยพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุขสงบในจิตใจ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้อย่างมีอุเบกขา เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป

    มีชัย ฤชุพันธุ์