ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
    มุมของมีชัย
  • ความคิดเสรีของมีชัย
  • เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
  • เรื่องสั้น
  • จดหมายถึงนาย
  •  
     
    ความคิดเสรีของมีชัย

    การปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ


    คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเผยแพร่แล้วเมื่อเย็นวานนี้ (๘ กรกฎาคม ๒๕๔๕) ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น ส่วนการจะปฏิบัติตามกันอย่างไร


    ก่อนหน้านี้ผมได้ตอบคำถามของผู้อ่านที่ถามเข้ามาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ โดยตั้งเป็น “ข้อสงสัย” ไว้ หลายประการ โดยได้เน้นย้ำไว้ว่า ข้อสงสัยดังกล่าวเป็นข้อสงสัยที่เกิดขึ้นโดยยังไม่ได้เห็นคำวินิจฉัยตัวจริง ถ้าได้เห็นคำวินิจฉัยตัวจริงแล้วข้อสงสัยนี้อาจหมดไปหรือเกิดมากขึ้น ทางใดทางหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยที่จะออกมา”


    ทั้งยังย้ำในตอนท้ายอีกด้วยว่า คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจตอบคำถามเหล่านั้นไว้ครบถ้วนในคำวินิจฉัยแล้วก็ได้ จึงต้องรอฟังดูต่อไป ใครก็ตามที่จะนำคำถามข้างต้นไปเผยแพร่ กรุณานำความดังกล่าวเผยแพร่พร้อมกันด้วย”


    แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อในเวลาที่สื่อทั้งหลายนำข้อสงสัยหรือคำถามเหล่านั้นไปเผยแพร่ ได้ละเลยไม่ได้ทำตามที่ได้ขอร้องไว้ มีบ้างบางฉบับได้สรุปแต่เพียงว่าเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ


    ทำไมผมจึงตั้งคำถามในทันทีที่ได้ฟังคำแถลงของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่รอคำวินิจฉัยกลาง


    ที่ต้องตั้งคำถามไว้เสียก่อน ก็เพราะรู้ว่า คำวินิจฉัยนั้นยังไม่ได้เขียน และการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหา ทั้งในความเข้าใจของคนทั่วไป และการที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่เขียนคำวินิจฉัยให้ครอบคลุมต่อคำถามเหล่านั้น จะเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือ และขบวนการในการปฏิบัติตามได้


    เมื่อสื่อและผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงความตั้งใจที่จะชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนคำวินิจฉัยให้ตอบคำถามให้ครบถ้วน แต่กลับไปมุ่งในประเด็นที่ว่ามีความพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ได้เน้นให้เห็นช่องแล้วว่า “ศาลรัฐธรรมนูญอาจตอบคำถามเหล่านั้นไว้ครบถ้วนในคำวินิจฉัยแล้วก็ได้”


    เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือยุยงให้ไม่ปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร


    น่าเสียดาย


    บัดนี้คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาใช้บังคับแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงอยู่ตรงที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้นให้ดีที่สุด โดยไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีกในภายหลัง


    ส่วนการถกเถียงกันในทางวิชาการที่อาจจะมีกันต่อไป เพื่อที่จะหาหลักเกณฑ์ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวสำหรับการกระทำในอนาคตนั้น ก็เป็นเรื่องของฝ่ายวิชาการที่จะต้องว่ากันไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการในอนาคต


    แต่การจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ในเบื้องต้นจะต้องรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าอย่างไรบ้าง


    คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจพอสรุปได้ดังนี้


    ๑. การสรรหาของคณะกรรมการสรรหาในรอบที่ ๖ และรอบที่ ๗ ตุลาการฝ่ายข้างมาก เห็นว่าเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


    ๒. ผู้ได้รับการสรรหาในขั้นตอนที่ ๖ และ ๗ (ซึ่งมีจำนวนสองคน) จึงเป็นผู้ได้รับการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


    ๓. เมื่อเป็นผู้ได้รับการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว จึงถือว่าไม่เป็นผู้ได้รับการสรรหา


    ๔. เมื่อไม่ได้เป็นผู้รับการสรรหา การที่วุฒิสภาเลือกคนหนึ่งในสองคนนั้นเป็น กกต. จึงถือว่าเป็นการคัดเลือกบุคคลโดยที่ไม่ได้รับการสรรหามาก่อน


    ๕. การวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อ กกต. ที่ได้รับการสรรหามาโดยชอบ และวุฒิสภาได้คัดเลือกและมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง กกต. อีก ๔ คน ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้


    ๖. เมื่อการสรรหาไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าจะต้องมีหารสรรหาเฉพาะในรอบที่ ๖ และรอบที่ ๗ ใหม่ ตามมาตรา ๑๓๘ ของรัฐธรรมนูญ


    จากคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญบอกแต่เพียงว่า การสรรหาไม่ถูกต้อง การคัดเลือกของวุฒิสภาจึงพลอยไม่ถูกต้องไปด้วย แต่ไม่ได้บอกว่า แล้วที่มีการแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาไปแล้วนั้นผลเป็นอย่างไร และไม่บอกแม้กระทั่งว่าแล้ว กกต. ที่ได้รับการสรรหาในรอบที่ ๖ และ ๗ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไปแล้ว มีฐานะอย่างไร คงมีแต่คำให้สัมภาษณ์ของตุลาการว่า ก็ต้องถือว่าพ้นจากตำแหน่ง ปัญหาที่จะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญที่บอกให้มีการสรรหากันใหม่ จึงอาจเกิดข้อขัดข้องขึ้นได้ ในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้


    ๑. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เฉพาะในรอบที่ ๖ และรอบที่ ๗ เท่านั้นที่ไม่ถูกต้อง และต้องมีการสรรหาใหม่ ที่ว่าต้องมีการสรรหาใหม่นั้น จะให้สรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาเดิม เพื่อจะได้แก้ไขความไม่ถูกต้องในรอบที่ ๖ และรอบที่ ๗ เท่านั้น หรือให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาใหม่ เพราะจะได้มีผลแตกต่างกันดังต่อไปนี้


    (๑) ถ้าให้คณะกรรมการสรรหาชุดเดิมดำเนินการแก้ไขการสรรหาในรอบที่ ๖ และรอบที่ ๗ ให้ถูกต้อง บุคคลที่สมัครไว้ทั้ง ๔๙ คน ก็ต้องยังมีสิทธิที่จะได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาชุดเดิม แต่ก็มีปัญหาว่าบัดนี้เวลาได้ล่วงพ้น ๓๐ วัน ตามมาตรา ๑๓๘ (๓) ไปแล้ว คณะกรรมการสรรหาชุดเดิมจะยังมีอำนาจสรรหาต่อไป โดยถือว่าเป็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นข้อยกเว้นได้หรือไม่ หรือจะต้องส่งไปให้ศาลฎีกาเพื่อดำเนินการเสนอชื่อแทน


    (มาตรา ๑๓๘ (๓) บัญญัติว่า การเสนอชื่อ (ของคณะกรรมการสรรหา) ให้กระทำภายในสามสิบวัน ฯลฯ ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหา ฯลฯ ในกรณีที่คณะกรรมการสรรหา ฯลฯ ไม่อาจเสนอชื่อได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่อาจเสนอชื่อได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนด ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแทนจนครบจำวนภายใน ๑๕ วัน ฯลฯ)


    (๒) ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า “ต้องมีการสรรหากรรมการการเลือกตั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๓๘” ซึ่งมาตรา ๑๓๘ เป็นการสรรหาสำหรับครั้งแรก คือ กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา สรรหามา ๕ คน และให้ศาลฎีกาสรรหามา ๕ คน รวมเป็น ๑๐ คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือ ๕ คน มาบัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การสรรหาในรอบที่ ๖ และ ๗ จำนวน ๒ คน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงให้สรรหาใหม่ จึงน่าจะหมายความว่าให้สรรหาให้ครบ ๕ คน คือสรรหาอีก ๒ คน ซึ่งจะกระทำได้เฉพาะคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมเท่านั้น เพราะส่วนที่ขาดอยู่นั้นเป็นส่วนของคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมจะถูกต้องหรือไม่


    (๓) ถ้าให้มีการตั้งคณะกรมการสรรหาขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการสรรหาตามมาตรา ๑๔๓ อันเป็นกรณีต้องดำเนินการสรรหาอันเนื่องมาจาก กกต. พ้นจากตำแหน่งไปก่อนครบวาระ ในกรณีเช่นนั้น การสรรหาจะต้องสรรหามา ๒ เท่าของจำนวน กกต. ที่ยังขาดอยู่ และต้องแบ่งคนละครึ่งระหว่างคณะกรรมการสรรหา และศาลฎีกา สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้เมื่อ กกต. หายไป ๑ คน จึงต้องสรรหามา ๒ คน และต่างฝ่ายต่างสรรหามาฝ่ายละ ๑ คน โดยผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัครเดิมต้องเป็นอันยกเลิกไป


    ๒. ในส่วนของกรรมการ กกต. ที่อยู่รอดปลอดภัยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็เกิดปัญหาว่า จะสามารถทำงานต่อไปได้หรือไม่ เพราะการสรรหาตามมาตรา ๑๓๘ ก็ดี ตามมาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง (ในกรณี กกต. พ้นจากตำแหน่งตามวาระพร้อมกันทั้งหมด) กกต. จะทำงานได้ต่อเมื่อมี กกต. ครบทั้ง ๕ คนแล้ว จะขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ และเมื่อทำงานไปแล้ว หากขาดคนใดคนหนึ่งไป โดยหลักที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว คณะกรรมการ กกต. จะทำงานต่อไปไม่ได้ มีข้อยกเว้นไว้แต่เฉพาะในมาตรา ๑๔๑ ซึ่งบัญญัติว่า ถ้า กกต. คนใดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุดังต่อไปนี้คือ


    (ก) ตาย


    (ข) ลาออก


    (ค) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๓๗ หรือมาตรา ๑๓๙


    (ง) ได้รับโทษจำคุก ฯลฯ


    (จ) วุฒิสภามีมติตามมาตรา ๓๐๗ ให้ถอดถอนจากตำแหน่ง


    มาตรา ๑๔๑ เขียนไว้ชัดเจนว่า เฉพาะกรณีดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น กกต. ที่เหลือจึงจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ในกรณีที่เป็นปัญหานี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไมได้วินิจฉัยว่าเขาพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คงบอกแต่เพียงว่าให้สรรหากันใหม่ แล้ว กกต. ที่เหลืออยู่ยังทำงานกันได้อย่างไร มีผู้อ้างว่า เมื่อคราวนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ลาออก กกต. ที่เหลืออยู่ยังทำงานต่อไปได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะกรณีนั้นเข้าข่ายตาม (ข) ข้างต้น (ซึ่งตรงกับมาตรา ๑๔๑ (๒)) คือนายวิสุทธิ์ได้ยื่นใบลาออก คนที่อ้างเช่นนั้นต้องลองอ่านมาตรา ๑๔๑ โดยเฉพาะวรรคสอง ช้า ๆ ก็อาจจะเข้าใจได้


    ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เป็นปัญหาที่อาจจะมีผลต่อไปในวันข้างหน้า และไม่มีใครแน่ใจได้ว่าจะไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้ง เพราะการดำเนินการต่อไปทั้งของวุฒิสภาและของ กกต. จะมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นเป็นจำนวนมาก


    ในการสรรหาครั้งใหม่ คนที่ไม่ได้รับการสรรหา หรือไม่ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา อาจหยิบยกขบวนการทั้งหมดขึ้นมาโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ หรือในกรณีของ กกต. เมื่อดำเนินการเลือกตั้งวุฒิสภาที่กำลังจะถึง หากคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งหรือคนที่ถูกให้ใบเหลืองใบแดง เขาหยิบยกขึ้นมาโต้แย้ง เรื่องก็คงต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอีก และจะไม่มีใครแน่ใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าอย่างไร


    อย่านึกว่าคนธรรมดาไม่มีทางที่จะโต้แย้งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีช่องทางอย่างน้อยถึง ๒ ช่องทางที่เรื่องจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ คือ ช่องทางของผู้ตรวจการรัฐสภา และช่องทางทางศาลยุติธรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถตั้งประเด็นโต้แย้งตามรัฐธรรมนูญ และทั้งผู้ตรวจการรัฐสภาและศาลยุติธรรมก็มีหน้าที่ต้องพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา


    และไม่มีใครเดาได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ถ้าวินิจฉัยว่าการดำเนินการที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง ความเสียหายจะเกิดขึ้นเกินที่ใครจะคิดได้


    อันที่จริงในชั้นแรกก็นึกว่าน่าจะมีทางออกอยู่ คือ ให้ประธาน กกต. เห็นแก่ความสุขสงบและความเรียบร้อย ยื่นใบลาออกเสีย กรณีก็จะเข้าข่ายมาตรา ๑๔๑ การสรรหาก็จะสามารถดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๔๓ และ กกต. ที่เหลืออยู่ก็สามารถทำงานต่อไปได้ตามมาตรา ๑๔๑ วรรคสอง


    แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านได้ออกมาให้สัมภาษณ์ปิดทางเสียแล้วว่า ลาออกไม่ได้ เพราะพ้นไปแล้วโดยผลของกฎหมาย ทางออกที่พอจะมีอยู่ก็เลยถึงทางตัน


    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สุ่มเสี่ยงจนเกินไป ทางออกที่นึกได้ในขณะนี้ ก็คือ ทั้งวุฒิสภาและ กกต. มีหนังสือไปสอบถามคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นคนของราชการด้วยกัน (ไม่ใช่ในฐานะศาล) ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ติดขัดด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเรียนขอคำแนะนำมาว่าจะสมควรดำเนินการอย่างไร อย่างน้อยที่สุดคำแนะนำนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่คำวินิจฉัยหรือคำชี้ขาดของศาล แต่ก็ทำให้อุ่นใจได้ว่าการดำเนินการไปตามนั้นจะไม่ถูกตำหนิหรือถูกกล่าวหาว่า กระทำการอันเป็นโมฆะในภายภาคหน้า


    ถึงแม้ว่าโดยปกติศาลรัฐธรรมนูญท่านจะไม่ตอบคำถามที่หารือ แต่ในฐานะเป็นคนราชการด้วยกัน และในฐานะที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามจะปิดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คงไม่ใจร้ายถึงขนาดไม่ยอมตอบ


    ก็ช่วยคิดทางออกให้ได้เพียงเท่านี้ จะทำกันหรือไม่ก็สุดแต่ใจ

    มีชัย ฤชุพันธุ์