ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    ประวัติรัฐธรรมนูญไทย

    นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ ๆ 15 ฉบับด้วยกัน ดังนี้

    1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีส่วนอย่างสำคัญในการร่าง ถือเป็นธรรมนูญฉบับแรกและเป็นฉบับชั่วคราว ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 เดือน 13 วัน

    2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 13 ปี 5 เดือน ระหว่าง 13 ปี 5 เดือนนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น “รัฐธรรม-นูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไปด้วย

    ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2483 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล ซึ่งเสนอโดยขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาลซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นอย่างช้า ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี แก่นแท้ของการเสนอยึดบทเฉพาะกาลก็คือ การคงอยู่ต่อไปอีกของสมาชิกประเภทที่ 2 อันมาจากการแต่งตั้ง

    ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี

    3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร อันมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 5 เดือน 28 วัน

    4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 พ.อ. กาจ กาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีส่วนอย่างสำคัญในการยกร่างและเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ใต้ตุ่ม” หรือ “ตุ่มแดง” ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน

    ทั้งนี้ ระหว่าง 1 ปี 4 เดือน 14 วันนี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้ พระบรมวงศานุวงศ์สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้

    ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2491 แก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

    ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2491 แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิ์และคุ้มกัน เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

    5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยการ รัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน

    6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

    7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 9 ปี 4 เดือน 20 วัน

    8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน แต่มีอายุในการประกาศและบังคับใช้เพียง 3 ปี 4 เดือน 27 วัน

    9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน

    10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี

    11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิวัติ” ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี

    12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญฉบับใหม่ คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521” อันเป็นธรรมนูญฉบับที่ 13

    13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 โดยผลจากข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาลที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2528

    14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยได้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

    15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เป็นรัฐ-ธรรมนูญที่ตราขึ้นเพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 โดยมีการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง 6 ฉบับ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 ปี 10 เดือน 3 วัน

     

    แหล่งที่มา http://www.kpi.ac.th/kpidb/index.asp

     


    7 ธันวาคม 2550