ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    หลวงประดิษฐไพเราะ
    หลวงประดิษฐไพเราะ

    หลวงประดิษฐไพเราะ หรือศร ศิลปบรรเลง เป็นบุตรคนเล็กของ ครูสิน และ นางยิ้ม ศิลปบรรเลง เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2424 ที่บ้านตำบลคลองดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยบิดาคือครูสิน เป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ

    หลวงประดิษฐไพเราะ เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์จริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปี และแตกฉานมีฝีมือดีอย่างรวดเร็ว ตีระนาดไหวจัดมาตั้งแต่เด็ก

    ท่านได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นครั้งแรก ในงานโกนจุกเจ้าจอม ผู้เป็นธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรพันธุ์ พิสุทธิ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี ในงานนั้นมีปี่พาทย์ 3 วง นายศรเป็นคนตีฆ้องวงเล็ก ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเฉิดต่อตัวกัน คนระนาดเอกวงครูสินต่อวงอื่นไม่ทัน ครูสินจึงเรียกนายศรไปตีระนาดเอกแทน วงไหนส่งมานายศรก็รับส่งได้ไม่บกพร่อง พอถึงรอบสองตีไหวมากจนวงอื่นรับไม่ทัน นายศรต้องบรรเลงเพลงต่อไปเองจนจบ เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ ถึงกับตบมือตะโกน ร้องว่า "นี่..ผู้ใหญ่แพ้เด็ก" ตั้งแต่นั้นมาชื่อ นายศร ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง


    ในงานคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ชนนีของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นายศรได้มีโอกาสมาร่วมบรรเลงปี่พาทย์ด้วย โดยได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวในเถาด้วยชั้นเชิงและฝีมืออันยอดเยี่ยม จนได้รับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ชื่อเสียงของนายศร ก็เริ่มเข้ามาโด่งดังในกรุงเทพฯ

    สมเด็จกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงฯ) เจ้าของวังบูรพาภิรมย์ ทรงโปรดปี่พาทย์ยิ่งนัก และไม่ยอมแพ้ใครในเรื่องนี้ ทรงมีวงปี่พาทย์ประจำวังของพระองค์เอง แต่คนระนาดของพระองค์คนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครสู้นายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) ได้ จึงทรงเสาะหาคนระนาด ที่จะมาปราบนายแช่มให้ได้ เมื่อเสด็จออกไปบัญชาการ เตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่า นายศร บุตรครูสิน ตีระนาดดี จึงให้หาตัวมาตีถวาย พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง ก็ถอดพระธำรงค์ประทาน และขอตัวจากครูสินให้ตามเสด็จเข้าวังทันที แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ต้องกลับไปเอาที่บ้าน ทรงแต่งตั้งให้นายศรเป็นจางวางมหาดเล็ก ซึ่งปรากฏชื่อในหมู่นักดนตรีว่า "จางวางศร"

    สมเด็จวังบูรพาฯ โปรดให้จางวางศรเป็นคนระนาดเอกแทน ครูเพชร จรรย์นาฏ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ ครูเพชรผู้นี้เป็นศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อย สุนทรวาทิน มีฝีมือทั้งระนาดและฆ้องวง ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับจางวางศรเป็นอันมาก ส่วนครูคนสำคัญที่ทำให้ฝีมือระนาดของจางวางศรก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) นอกจากนั้นจางวางศรยังได้เรียนและได้รับคำแนะนำจากครูผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วย

    สมเด็จวังบูรพาฯ ทรงหาครูมาฝึกสอนจางวางศร อยู่นานพอสมสมควร แล้วทรงจัดให้จางวางศรตีระนาดประชันกับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) คนระนาดเอกของกรมพิณพาทย์หลวง เมื่อราวปี พ.ศ.2443 ขณะนั้นจางวางศรอายุ 19 ปี นายแช่มอายุ 34 ปี เป็นการประชันระนาดเอกอย่างเป็นทางการ ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการดนตรีไทย

    เมื่อจางวางศรรู้ว่าสมเด็จวังบูรพาฯ จะให้ตีประชันกับนายแช่มก็ตกใจมาก เพราะในขณะนั้นนายแช่มกำลังโด่งดัง ไม่มีใครกล้าสู้ อีกทั้งเป็นลูกครูช้อย ครูของครูแปลกและครูเพชรด้วย จางวางศรจึงทั้งเคารพและยำเกรงในฝีมือ ความกลัวนั้น ถึงกับทำให้หยุดซ้อมระนาดไปเลย เกิดความกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน ในที่สุดท่านก็ชวนเพื่อนไปรดน้ำมนต์เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น

    ด้วยความคร้ามเกรงฝีมือ จางวางศรจึงไปกราบขอร้องให้ครูผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่ง ไปช่วยกราบขออภัยต่อนายแช่มว่า ที่จริงท่านไม่เคยคิดหาญจะประชันด้วย แต่ไม่อาจขัดรับสั่งสมเด็จวังบูรพาฯ ได้ โปรดออมมือให้ท่านบ้าง แต่ปกติวิสัยของการประชันดนตรี ย่อมต้องเล่นให้ดีเต็มฝีมือ ประกอบกับนายแช่มเป็นคนระนาดของวังหลวง ย่อมต้องรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตน จึงไม่ยอมรับคำขอร้อง โดยบอกว่า ต่างฝ่ายต่างต้องเล่นเต็มฝีมือ จางวางศรยิ่งวิตกกังวล ถึงกับหนีไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันตามต่างจังหวัด สมเด็จวังบูรพาฯ ทรงกริ้วมาก สั่งให้เอาตัวนางโชติ ภรรยาจางวางศรมากักกันไว้ จนจางวางศรต้องกลับมา มุมานะฝึกซ้อม และคิดค้นหาวิธีตีที่จะทำให้ไม่แพ้คู่ต่อสู้ เข้าใจว่าท่านได้คิดวิธีจับไม้ระนาดให้ตีไหวรัวได้ดียิ่งขึ้นในตอนนี้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในการตีระนาดอีกมากมาย เช่น ตีให้ไหวร่อน ผ่อนแรง ไหวทน เพราะนายแช่ม หรือพระยาเสนาะดุริยางค์นั้น ทั้งไหวทั้งจ้า หาคนสู้ได้ยากจริงๆ ความมุ่งมั่นมานะ ทำให้ท่านฝันว่าเทวดามาบอกทางเดี่ยวเพลงกราวในที่ดีที่สุดให้ และประสาทพรให้ท่านว่า "ต่อไปนี้เจ้าจะตีระนาดไม่แพ้ใคร"

    การประชันครั้งนั้นใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า เพราะต้องการดูฝีมือผู้ตีระนาดเอกเป็นสำคัญ การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรง เพลงรับร้อง เรื่อยไปจนถึงเดี่ยวระนาดเอกกันแบบเพลงต่อเพลง เริ่มด้วยเพลงพญาโศก เชิดนอก (4 จับ) และเดี่ยวอื่นๆ เรื่อยไปจนถึงเพลงกราวใน ผลปรากฏว่าฝีมือก้ำกึ่งคู่คี่กันตลอด จนกระทั่งถึงเพลงเดี่ยวกราวใน ก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะเด็ดขาด เพราะฝีมือเด่นกันคนละอย่าง จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัว ซึ่งวัดความไหวทนเป็นสำคัญ

    พระยาเสนาะดุริยางค์นั้น ตีระนาดไหวแบบเก่า และคงจะใช้ไม้ตีปื้นหนา พันไม้แข็งนัก จึง "ดูดไหล่" คือกินแรง ประกอบกับท่านรักษาความเจิดจ้าชัดเจนของเสียงระนาด ไม่ยอมตีระหรือเกลือกให้เสียงเสีย ยิ่งตีไหวจ้าขึ้นมากเท่าใดก็ต้องใช้กำลังแขนไหล่มากขึ้นเท่านั้น จึงย่อมจะล้าง่าย ส่วนจางวางศร คิดวิธีจับไม้ให้ไหวร่อนได้เร็ว ใช้การเคลื่อนไหวข้อมือช่วยผ่อนกำลังแขน จึงไหวร่อนได้เร็วกว่า แม้เสียงจะไม่จ้าเท่าตีด้วยกำลังแขน แต่ก็ไหวทนกว่า

    ผลแพ้ชนะของการต่อตัวเชิดนั้น จะดูที่อาการ "หลุด" หรือ "ตาย" หลุดคือ รับเชิดตัวต่อไปจากคู่ต่อสู้ไม่ทัน เพราะไม่สามารถตีให้ไหวเร็วเท่าคู่ต่อสู้ส่งมาได้ ส่วน "ตาย" คือรับทัน แต่เมื่อตีด้วยความเร็วเท่าที่รับมาไปพักหนึ่งแล้ว ไม่สามารถรักษาความไหวเร็วในระดับนี้ต่อไปได้ ต้องหยุดตี หรือเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งจนมือตาย เคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้

    ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่า ในที่สุดพระเสนาะดุริยางค์ เกิดอาการ "มือตาย" จึงถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ในเรื่องความไหว แต่ครูจางวางศรเล่าว่า ท่านเป็นระนาดชาติเสือ แม้จะตีจนมือตาย แต่เสียงระนาดยังคงเจิดจ้าสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงเสียเลย จนผู้ที่นิยมระนาดเสียงเจิดจ้าแบบเก่า สรุปผลการประชันว่า "นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า"

    ตั้งแต่นั้นมา ทางระนาดแบบโลดโผนวิจิตรพิสดาร คือการ สะบัด ขยี้ แบบต่างๆ ของจางวางศร ก็ได้รับความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้น ทางระนาดแบบไหวลูกโป้ง ที่พระยาเสนาะดุริยางค์ถนัด ค่อยๆ เสื่อมความนิยม

    ผลการประชันครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ในวิชาดนตรีของพระยาเสนาะดุริยางค์ เพราะตั้งแต่นั้นมาท่านมุ่งเอาดีทางปี่ จนเป็นเอตทัคคะสุดยอดในทางนี้

    เมื่อมีพิธีเปิดประตูน้ำท่าหลวง ที่จังหวัดสระบุรี จางวางศร เป็นนายวงบรรเลงระนาดเอกถวาย เป็นที่พอพระราชหฤทัย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นอย่างยิ่ง ต่อมาในงานคล้ายวันเกิดเจ้าพระยารามราฆพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาร่วมงาน ได้ฟังจางวางศรบรรเลงระนาดถวายอีก ตอนแรกตีไม้นวม พอทรงฟังก็พอพระราชหฤทัยรับสั่งว่า "เปลี่ยนเป็นไม้แข็งซิ" เมื่อได้ทรงฟังก็ยิ่งทรงโปรดมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ ในปี พ.ศ.2468

    หลวงประดิษฐไพเราะ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2497 ศิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน


    1 พฤศจิกายน 2548