ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    เบนจามิน แฟรงคลิน
    เบนจามิน แฟรงคลิน

    เบนจามิน  แฟรงคลิน เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1706 ที่กรุงบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา บิดาของเขาชื่อว่า โจซิอาร์ แฟรงคลิน ซึ่งลี้ภัยทางศาสนาจากประเทศอังกฤษมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา แฟรงคลินได้รับการศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนใกล้ ๆ บ้าน แต่เรียนอยู่ได้ 2 ปี เท่านั้น ก็ต้องลาออก เพราะครอบครัวของเขาค่อนข้างจะยากจน และต้องช่วยเหลือกิจการทำสบู่ และเทียนไขของครอบครัว แม้ว่ากิจการจะเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ แต่แฟรงคลินก็ยังต้องการศึกษาต่อ และเมื่อเขาอายุได้ 12 ปี บิดาได้ส่งแฟรงคลิน ไปอยู่กับเจมส์ แฟรงคลิน พี่ชายคนโต ซึ่งมีกิจการโรงพิมพ์ชื่อว่านิว อิงแลนด์ เคอร์เรนท์ อยู่ที่กรุงบอสตัน แฟรงคลินช่วยงาน

     

    โดยครั้งแรกแฟรงคลิน ได้ฝึกงานในตำแหน่งช่างพิมพ์ ต่อมาได้ลาออกจากโรงพิมพ์ของพี่ชาย เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันขึ้น หลังจากที่แฟรงคลินลาออกจากโรงพิมพ์ของพี่ชาย ก็ได้มาเปิดกิจการโรงพิมพ์ของตนเอง ที่เมืองฟิลลาเดเฟีย ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 17 ปี เท่านั้น ในช่วงแรก ๆ แฟรงคลินได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับข่าวสาร และความรู้ ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก จากนั้นแฟรงคลินได้หันมาพิมพ์หนังสือประเภทปฏิทินพิสดารแทน ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า Poor Richard ซึ่งแฟรงคลินเป็นผู้เขียนบทความลงในหนังสือเล่มนี้เอง โดยใช้นามปากกาว่า Richard Sander และแฟรงคลินยังได้พิมพ์หนังสือพิมพ์อีกด้วย โดยใช้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า เพนน์ซิลวาเนีย กาเซท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมาก

     

    นอกจากนี้ แฟรงคลิน ได้ใช้เวลาที่ว่างในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อศึกษางานด้านการพิมพ์ โดยการสนับสนุนจากผู้บริหารท้องถิ่นคนหนึ่ง แต่เมื่อแฟรงคลินเดินทางไปถึงประเทศอังกฤษ ผู้บริหารคนนี้กลับไม่ส่งเงินไปให้ตามที่รับปากไว้ ทำให้แฟรงคลินต้องหางานทำ โดยเปิดโรงพิมพ์เล็ก ๆ ที่บ้านพัก ต่อมาในปี ค.ศ. 1725 แฟรงคลิน จึงเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา และเปิดโรงพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อกิจการโรงพิมพ์มีความมั่นคง แฟรงคลิน ได้หันมาทำงานเพื่อสังคม โดยเริ่มจากการรวบรวมสมาชิกเพื่อจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะภายในเมืองขึ้น  ต่อมาแฟรงคลินได้เข้าเล่นการเมือง เมื่อแฟรงคลินเป็นนักการเมืองแล้ว ทำให้ต้องเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ  และที่ประเทศอังกฤษ แฟรงคลิน ได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ที่ทำการทดลองเกี่ยวกับประกายไฟฟ้า ทำให้แฟรงคลินมีความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และเรื่องที่เขาสนใจมากที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า แฟรงคลินเริ่มสังเกตลักษณะของฟ้าแลบ

     

    และจากการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างเครื่องประจุไฟฟ้าสถิตของออตโต ฟอน เกริเก (Otto von Guericke) และการสังเกตลักษณะของฟ้าแลบในเบื้องต้น แฟรงคลินได้สันนิษฐานการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ว่าน่าจะเกิดมาจากประจุไฟฟ้าบนท้องฟ้า แฟรงคลิน ได้ทำการทดลองครั้งแรกในปี ค.ศ. 1749 โดยใช้ว่าวที่ทำด้วยผ้าแพรแทนกระดาษ  และมีเหล็กแหลมติดอยู่ที่ตัวว่าว ส่วนปลายสายป่านได้ผูกลูกกุญแจเอาไว้ และผูกริบบิ้นไว้กับสายป่านอีกทีหนึ่ง และนำว่าวขึ้นในขณะที่มีฝนตกฟ้าคะนอง ผลปรากฏว่ามีประจุไฟฟ้าไหลลงมาทางเชือกเข้าสู่ลูกกุญแจ แต่แฟรงคลินไม่ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้านั้น เนื่องจากจับริบบิ้นซึ่งเป็นฉนวนไฟฟ้า จากนั้นจึงลองใช้เศษหญ้าแห้งจ่อเข้ากับลูกกุญแจ ปรากฏว่าเกิดประจุไฟฟ้าไหลเข้าสู่มือ และเมื่อนำลูกกุญแจวางลงพื้นดินก็เกิดประกายไฟฟ้า จากนั้นจึงนำขวดเลเดนมาต่อเข้ากับกุญแจปรากฏว่าประจุไฟฟ้าไหลลงมาในขวด จากผลการทดลองสามารถสรุปถึงสาเหตุของการเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ว่าเกิดขึ้นจากประจุไฟฟ้าบนท้องฟ้า ซึ่งเกิดจากการเสียดสีระหว่างก้อนเมฆกับอากาศ ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต

    ในปี ค.ศ. 1752 แฟรงคลินได้ประดิษฐ์สายล่อฟ้าขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรก และแฟรงคลินไม่ได้นำสายล่อฟ้าสไปจดทะเบียนสิทธิบัตร เพราะต้องการให้ทุกคนสามารถทำใช้กันเองได้ เนื่องจากสายล่อฟ้าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำได้ง่าย ไม่สลับซับซ้อนอะไรนัก และจากผลงานชิ้นนี้แฟรงคลินได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน (Royal Society of London) ด้วย ซึ่งสมาชิกราชสมาคมแห่งนี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถทั้งสิ้น เป็นต้นว่า โรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke) และเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Issac Newton) เป็นต้น

    นอกจากผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว แฟรงคลินยังมีความสามารถอีกหลายด้าน เป็นต้นว่า นักเขียน นักการทูต นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ แฟรงคลินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษคนสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพอีกด้วย  แฟรงคลินเสียชีวิตในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1790

     

     

     

     

    http://siweb.dss.go.th
    15 มีนาคม 2549