ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส

    นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ในเรือนแพหน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อนายเสียง เป็นคนเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ซึ่งมีบรรพบุรุษข้างปู่สัมพันธ์กับพระเจ้าตากสิน มารดาชื่อนางจันทน์ สืบเชื้อสายมาจากนางประยงค์ พระนมแห่งกษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผู้สร้างวัด ห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตก ชื่อวัดนมยงค์ หรือพนมยงค์ เมื่อครั้งมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456 ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์"

    นายปรีดี สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วก็ออกมาช่วยบิดาทำนาอีกหนึ่งปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนกฏหมายกระทรวงยุติธรรม ต่อมาปี พ.ศ.2462 จึงสอบไล่วิชากฏหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ เมื่ออายุเพียง 19 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เมื่ออายุ 20 ปี เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบ จึงให้ทุนไปเรียนต่อกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยก็อง (Univesite de Caen)

    ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2463 นายปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) ก่อตั้งสามัคคยานุเคราะห์สมาคม โดยนายปรีดี ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสมาคม และได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคม ในปี พ.ศ.2468-2469

    ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 นายปรีดี กับเพื่อนอีก 6 คน คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (หลวงพิบูลสงคราม) นักศึกษา วิชาทหารปืนใหญ่, ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นักศึกษาวิชาการทหารม้า, นายตั้ว ลพนุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาเอกในสวิตเซอร์แลนด์, หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยเลขานุการทูตประจำกรุงปารีส และนายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ ประชุมครั้งแรกในการก่อตั้งคณะราษฎร ที่หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส เพื่อตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากกษัตริย์เหนือกฏหมาย มาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ใต้กฏหมาย โดยใช้วิธีการยึดอำนาจโดยฉับพลัน และจับกุมบุคคลสำคัญไว้เป็นตัวประกัน ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้สำเร็จมาแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและรัสเซีย อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้ประเทศมหาอำนาจ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ถือโอกาสยกกำลังทหารเข้ามายึดสยาม ขณะที่เกิดความไม่สงบภายในประเทศ

    นายปรีดีมิได้มุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น หากแสดงเจตนารมณ ์และบทบาทอย่างแจ่มชัด ที่จะก้าวไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ปรารถนาที่จะให้ระบอบประชาธิปไตย เป็นบรรทัดฐานในการพัฒนาประชาชาติเล็ก ๆ อย่างสยาม ให้ยืนหยัดอยู่อย่างมีเอกราช และศักดิ์ศรี ในทุกด้าน ท่ามกลางนานาอารยะประเทศ ในประชาคมโลกยุคใหม่

    ต่อมาได้มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อการเพิ่มขึ้น คือ ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น. (หลวงสินธุ-สงครามชัย), นายควง อภัยวงศ์ นายทวี บุณยเกตุ, ดร.ประจวบ บุนนาค, ม.ล.อุดม สนิทวงศ์, นายบรรจง ศรีจรูญ และได้ชักชวน พ.อ.พระยา ทรงสุรเดช อดีตนักเรียนเยอรมัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการไปดูงานที่ฝรั่งเศส ให้เข้าร่วมด้วย

    ปี พ.ศ.2469 นายปรีดี ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ทางกฎหมาย (Docteur en Droit) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรทางการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ (DiplÔme d' Economie Politique) จากมหาวิทยาลัยปารีส เมื่ออายุได้ 26 ปี ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยคนแรก ที่จบดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส

    ในปี พ.ศ.2470 นายปรีดีได้เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และยังได้เป็นผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในเวลาว่างก็ได้เปิดการอบรมทบทวนวิชากฎหมาย ให้แก่นักเรียนกฎหมาย ที่บ้านถนนสีลม โดยไม่คิดค่าสอน ทำให้ได้เผยแพร่อุดมการณ์ และได้ลูกศิษย์ เข้าร่วมเป็นกำลังในคณะราษฎรด้วย ในส่วนของคณะราษฎรแต่ละสาย ก็ได้แยกย้ายกันหาสมาชิกที่จะเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ ซึ่งภายหลังการปฏิวัติแล้ว ปรากฏว่ามีสมาชิกทั้งสิ้น 115 คน มากกว่าครึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี

    วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ทำการยึดอำนาจ การปกครองแผ่นดินอย่างรวดเร็ว โดยลวงทหารจากกรมกองต่างๆ ให้มาชุมนุมพร้อมหน้ากัน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และถือโอกาสประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองทันที กำลังอีกส่วนหนึ่ง ไปเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ มาเป็นตัวประกัน โดยนายปรีดี เป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน


    หลังจากยึดอำนาจในกรุงเทพฯ ได้แล้ว คณะผู้ก่อการได้ส่งนายทหารเรือ เป็นตัวแทนไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐานอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ทรงทราบ และพระองค์ได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 ที่ร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ

    วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เริ่มมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของสยาม โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นอนุกรรมการร่าง และต่อมาได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งฉบับแรกออกมา ริเริ่มให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง และสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฏรได้เท่าเทียมผู้ชาย โดยนายปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย

    ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2476 นายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอ "เค้าโครงเศรษฐกิจ" เพื่อให้พิจารณาใช้เป็นหลัก สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของ เอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพัทธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี ให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าเมื่อราษฎรผู้ใดไม่สามารถ ทำงานได้หรือทำงานไม่ได้ เพราะเจ็บป่วยหรือชราหรืออ่อนอายุ ก็จะได้รับความอุปการะเลี้ยงดูจากรัฐบาล แต่แนวความคิดดังกล่าว ฝ่ายพระยามโนปกกรณ์ นายกรัฐมนตรีและขุนนางต่างๆ ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าและขุนนางยังกุมอำนาจอยู่ เมื่อนำเข้าสู่สภาแล้วเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย นายปรีดี จึงลาออกจากตำแหน่ง

    รัฐบาลร่วมกับทหารบางกลุ่ม ทำการยึดอำนาจปิดสภา และออก พ.ร.บ.ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2476 ออกแถลงการณ์ประณามนายปรีดี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายปรีดีจึงถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2476

    ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2476 พ.อ.พระยาพหลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าเข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี แทนรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา สภาผู้แทนได้ตั้งกรรมาธิการสอบสวน กรณีนายปรีดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ผลการสอบสวนได้ข้อสรุปว่า นายปรีดี เป็นผู้บริสุทธิ์ ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2477 ต่อมานายปรีดีได้กลับมาเมืองไทย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2477


    วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2477 นายปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้มีพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่อาคารโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในปีแรกที่เปิดสอน มีผู้สมัครเข้าเรียนถึง 7,094 คน และในปีแรกนี้ผลิตบัณฑิต ที่โอนมาจากโรงเรียนกฎหมายเดิม 19 คน

    วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 นายปรีดี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในรัฐบาลพระยาพหลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้ดำเนินการทางการทูต เจรจาขอยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรม กับสิบสองประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ อังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และเยอรมนี จนสามารถยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ที่รัฐบาลสยามสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำไว้กับประเทศต่างๆ ในนามสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และการเดินเรือ ได้สำเร็จ จนได้รับเอกราชทางศาล และเอกราชทางเศรษฐกิจกลับคืนมา พร้อมกันนั้น ได้ลงนามสนธิสัญญาใหม่ที่ใช้หลัก "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" เพื่อให้สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ และมีสิทธิเสมอภาคกับต่างชาติ

    เดือนธันวาคม พ.ศ.2481 นายปรีดี พนมยงค์ได้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐมนตรี พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม นายปรีดี คาดว่าอาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในไม่ช้า เงินปอนด์ที่สยามประเทศ ใช้เป็นทุนสำรองเงินตรา อาจจะลดค่าลงได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนการเก็บรักษาเงินทุนสำรอง เป็นทองคำแท่งแทนเงินปอนด์ โดยนำเงินปอนด์ที่เป็นทุนสำรองจำนวนหนึ่ง ไปซื้อทองคำแท่งหนัก 273,815 ออนซ์ (ราคาออนซ์ละ 35 เหรียญสหรัฐ) และนำมาเก็บไว้ที่ห้องนิรภัย กระทรวงการคลัง ทำให้ค่าเงินบาทมีความเสถียรภาพมาก และได้วางรากฐาน จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น

    วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม ประกาศยกเลิกนามประเทศว่า สยาม (Siam) ให้เปลี่ยนเป็นประเทศไทย (Thailand) และประกาศเลิกใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้เปลี่ยนมาใช้วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีแทน (ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483 ในปฏิทินเก่า จึงให้ถือว่าเป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484)

    วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นยกทัพขึ้นบกเข้ามาในประเทศไทยทางอ่าวไทย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ตกลงยอมแพ้ และเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2484 ต่อมา ทหารญี่ปุ่นกดดันให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปลด นายปรีดี ให้พ้นจากตำแหน่งในคณะรัฐบาล แต่นายปรีดี ก็ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

    วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายอังกฤษประกาศสงครามตอบ แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามด้วย โดยถือว่าไทยถูกญี่ปุ่นรุกราน แต่นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้ลงนามในประกาศสงครามดังกล่าว และได้ดำเนินการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยในทางลับ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าขบวนการ ภายใต้รหัสลับ "รูธ" ประสานงานลับกับฝ่ายสัมพันธมิตร ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น และเจรจาให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจว่า การประกาศสงครามของจอมพล ป. ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 สภาผู้แทนราษฏร มีมติให้นายปรีดี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

    วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 หลังจากเครื่องบินสหรัฐอเมริกา ไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการ ก็ประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญว่า การประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เป็นโมฆะ มีผลทำให้ประเทศไทยไม่ต้องถูกปลดอาวุธ กลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม สัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

    วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร ในครั้งนี้ได้ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว นายปรีดี จึงพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2488 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้นายปรีดี ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ให้คำปรึกษาราชการ

    วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่1) และได้มีการประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญนั้น

    วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2489 นายปรีดี ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่2) แต่ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เสนอของความเห็นชอบจากรัฐสภา ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489 นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่3) และได้ถูกใส่ร้ายป้ายสี กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8

    วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหารนำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปประเทศสิงคโปร์

     

    วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ดำเนินการ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" หรือ "กบฏ วังหลวง" เพื่อยึดอำนาจ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ลี้ภัยการเมืองที่ประเทศสาธารณประชาชนจีน ในระหว่าง ปี พ.ศ.2592-2513 และลี้ภัยการเมืองต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี พ.ศ.2513-2526

    วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 นายปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม ที่บ้านพักชานกรุงปารีส

    ต่อมาในปี พ.ศ.2543 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศบรรจุชื่อนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในประวัติบุคคลสำคัญของโลก ปี ค.ศ.2000-2001

    นิตยสารสารคดี, สถาบันปรีดี พนมยงค์
    1 พฤศจิกายน 2548