ความคิดเสรีของมีชัย
เรียนรู้กฏหมายใกล้ตัว
เรื่องสั้น
จดหมายถึงนาย
 
  • นายช่าง อบต กำหนดให้ใช้วิศวกรระดับเกินกว่าที่สภาวิศวกรกำหนด
  •  
  • การยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน
  •  
  • ค่าส่วนกลาง
  •  
  • ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างเป็นเจ้าของอาคารแต่ผู้เดียวจริงหรือไม่
  •  
  • ขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภครับคำขออนุญาตฎีกาอีกครั้งได้หรือไม่
  • อ่านทั้งหมด
    มุมของมีชัย ถาม-ตอบ กับมีชัย
  • นานาสาระ
  • คำสำคัญ
     
    กลับไปหน้า ลิสต์

     
    นานาสาระ

    ชาเขียว

    ถ้าจะถามว่าเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่มกันมากที่สุดคืออะไร คนส่วนใหญ่คงจะต้องนึกถึงกาแฟ แต่ในปัจจุบันเครื่องดื่มที่คนนิยมมากที่สุดรองจากน้ำ คือ ชา ทั้งนี้ ความนิยมดื่มชาในบ้านเราเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาเขียว ซึ่งจะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำชาเขียวมาเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำชาบรรจุขวด บรรจุกล่อง อาหาร ฯลฯ

    ชา เป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอม และเป็นที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะในเอเชีย หรือยุโรป โดยเฉพาะชาวจีน และญี่ปุ่น ซึ่งชาที่นิยมดื่มในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลัก คือ ชาดำ (black tea) ชาอูหลง (oolong) และชาเขียว (green tea) ชาทุกชนิดต่างก็ได้มาจากใบของพืชชนิดเดียวกัน แต่ที่เรียกชื่อแตกต่างกันนั้นก็เนื่องมาจากกระบวนการผลิต (การหมัก) ใบชาที่แตกต่างกันไป โดยการผลิต ชาดำ ได้จากการนำใบชามาทำให้แห้งโดยการรีดน้ำที่หล่อเลี้ยงให้ใบชาชุ่มชื้นออกมาเพื่อทำให้ใบชาเหี่ยวและอ่อนลีบ โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำใบชาที่แห้งลีบแล้วนั้นมากลิ้งด้วยลูกกลิ้ง บด และฉีก หลังจากนั้นจึงนำไปหมัก ซึ่งหลังจากกระบวนการหมักทั้งสิ้นแล้ว จะได้ใบชาที่แห้งสนิท


    ชาอูหลง ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการหมักแต่เพียงครึ่งหนึ่ง จึงทำให้มีรสชาติ กระบวนการผลิตชาอูหลงเริ่มจากนำใบชามาทำให้แห้งลีบโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วย ลูกกลิ้ง ฉีก และหมักด้วยระยะเวลาสั้นๆ

    ส่วนการผลิต ชาเขียว นำใบชามาอบไอน้ำ หลังจากนั้นจึงนำไปกลิ้งด้วยลูกกลิ้งและทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้จึงทำให้ใบชายังคงมีสีเขียว ซึ่งเมื่อชงน้ำร้อนแล้วจะได้น้ำชาสีเขียวหรือเหลืองอมเขียว ไม่มีกลิ่น มีรสฝาดกว่าชาจีน นิยมแต่งกลิ่นด้วยพืชหอม เช่น มะลิ บัวหลวง เป็นต้น ชาเขียวมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ชาเขียวแบบญี่ปุ่นและชาเขียวแบบจีน

    อย่างไรก็ตาม ยังมีชาอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจคือ ชาขาว (White Tea) ซึ่งชาขาว จะมีลักษณะพิเศษที่ใบชาและยอดอ่อนถูกนำมาอบไอน้ำและทำให้แห้งด้วยวิธีง่ายๆ โดยชาขาวได้มาจากต้นชาเช่นเดียวกัน มีลักษณะใกล้เคียงกับชาเขียว แต่ชาขาวมีปริมาณไม่มากนักเนื่องจากในแต่ละปีจะสามารถเก็บเกี่ยวได้เฉพาะในบางวันเท่านั้น และช่วงเวลาสั้นในการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยอดอ่อนของต้นชาเพิ่งจะผลิออกมาใหม่ และยังคงมีเส้นไหมหรือเส้นขนละเอียดสีเงินปกคลุมอยู่ การเก็บเกี่ยวโดยเลือกเอาแต่เฉพาะยอดอ่อนที่ยังเต็มไปด้วยขนสีขาวปกคลุม ทำให้ได้ชาที่มีลักษณะพิเศษคือมีสีขาว

    ทั้งนี้ ชาเขียว เป็นเครื่องดื่มที่ชาวจีนนิยมมากกว่า 4 พันปีมาแล้ว ในตำราแพทย์แผนโบราณของจีน ชามีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ช่วยย่อยอาหาร ล้างสารพิษ และเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ชามีมากมายหลายชนิด แต่สามารถจัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชาดำและชาเขียว ข้อแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มนี้ คือ การหมัก ซึ่งรสชาติของชาดำนั้นจะเข้มข้นกว่าชาเขียว แต่ชาเขียวมีสารที่สำคัญซึ่งไม่ได้เปลี่ยนไปในขบวนการหมักชา และมีคุณภาพมากกว่า โดยสารสำคัญในชาเขียวช่วยป้องกันโรคหัวใจได้หลายอย่าง เช่น ช่วยลดโคเลสเตอรอล และความดันชาเขียวยังมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง และกระตุ้นการสร้างตัวของเม็ดเลือดขาว เพิ่มภูมิต้านทานแก่ร่างกาย

    ทั้งนี้ จากการศึกษาและรายงานทางการแพทย์โดยสถาบันที่เชื่อถือได้ ได้ยืนยันว่าชาเขียวมีสรรพคุณมหาศาลในการบำบัดรักษาโรค การดื่มชาเขียวทำให้ร่างกายได้รับสารหลายชนิดที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากชาเขียวมีสารแคเทชิน (Catechin) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่า สารแคเทชินในชาเขียวมีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยทำให้กลุ่มอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ดีหรือปกติในร่างกายมีฤทธิ์เป็นกลาง ซึ่งจะว่าไปแล้วสารชนิดนี้นี่เองที่ให้ประโยชน์มากมายแก่ร่างกายจนนับไม่ถ้วน


    ใบชาเขียวมีสารอาหารจำพวกโปรตีน, น้ำตาลเล็กน้อย และมีวิตามินอีสูง อย่างไรก็ตาม วิตามินเอและวิตามินอีที่มีอยู่ในใบชา จะสูญเสียไปเกือบหมดถ้าใช้ระยะเวลาในการชงนานจนเกินไป ส่วนปริมาณของแคลเซียม เหล็ก และวิตามินซี จะสูญเสียไปประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ก็มีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นว่า ถ้าเราสามารถรับประทานใบชาเขียวแห้ง 6 กรัมต่อวัน จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินอีและวิตามินเอ ถึงร้อยละ 50 และ 20 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันตามลำดับ


    นอกจากนี้ ใบชาเขียวมีสารสำคัญ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ กาเฟอีน (caffein) โดยสารชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้สมองสดชื่นแจ่มใส หายง่วง เนื่องจากกาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพิ่มการเผาผลาญ เพิ่มการทำงานของหัวใจและไต อย่างไรก็ตาม เด็กและผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรดื่มชา เนื่องจากกาเฟอีนมีคุณสมบัติในการกระตุ้นประสาทและบีบหัวใจ


    ชนิดที่สองคือ แทนนิน หรือ ฝาดชา (tea tannin) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดจะพบในใบชาแห้ง เป็นสารที่มีรสฝาดที่ใช้บรรเทาอาการท้องเสียได้ ดังนั้นหากต้องการดื่มชาเขียวให้ได้รสชาติที่ดีจึงไม่ควรทิ้งใบชาค้างไว้ในกานานเกินไป เพราะแทนนินจะละลายออกมามากทำให้ชาเขียวมีรสขม นอกจากนี้ แทนนินยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวใจและขยายผนังหลอดเลือด จึงทำให้ชาเขียวเหมาะสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงด้วย และยังพบว่าสารแคซิทิน (catecihns) ซึ่งเป็นสารแทนนินชนิดหนึ่งในชาเขียว มีฤทธิ์เป็นสารต้านการเกิดมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งในหลอดอาหาร และมะเร็งในตับ เป็นต้น

    การดื่มชาเขียวช่วยลดอัตราการเสี่ยงจากการเป็น โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยสารต้านอนมูลอิสระในชาเขียวน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ไขมันชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL-low density lipoprotein) ซึ่งเป็นไขมันชนิดไม่ดี ไม่ให้มีปริมาณสูงจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดการก่อตัวของก้อนไขมันและส่งผลให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดได้ ช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูห์มาติก (rheumatoid arthritis) ที่มักจะเกิดกับสตรีวัยกลางคน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่พอดีอีกด้วย


    นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่นและป้องกันการติดเชื้อได้ด้วย เพราะสารสกัดจากชาเขียวมีสรรพคุณในการต่อสู้กับแบคทีเรียโดยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และยังช่วยป้องกันฟันผุอีกด้วย รวมทั้งยังช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปาก


    แต่ทั้งนั้น การดื่มชาเขียวก็ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะได้คุณประโยชน์ สำหรับผู้ที่ไม่ชื่นชอบในการดื่มชาเขียว อาจบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ชาเขียวเป็นส่วนผสมในการปรุงแต่งกลิ่น รส ได้แก่ ไอศกรีม อาหารญี่ปุ่น ลูกอม เป็นต้น


    1 พฤศจิกายน 2548